เมื่อทุกอย่างบนโลกในนี้ รวมถึงอุดมการณ์ ความคาดหวัง ไม่สามารถเป็นในแบบที่เราคิดได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวเราเอง จนเราเกิดคำถามในจิตใจมากมาย หลายคนก้าวข้ามมันไปได้ และอีกหลายคนที่ไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เป็นอันดับแรก คือการเริ่มต้นจากตัวเราเอง การปรับมุมมอง และทำความเข้าใจทุกสิ่งบนโลกใบนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงการปล่อยวางในบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ บทความนี้จะขอแนะนำหนังสือที่คิดว่าอ่านแล้ว ทำให้ปรับเปลี่ยนความคิด และเข้าใจชีวิตมากขึ้น ผ่านงานเขียนของ 'เสกสรรค์ ประเสริฐกุล'
วันที่ถอดหมวก หนึ่งในชุดหนังสือเอสเส ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงวัยชราของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หลังจากที่เขาได้ฟันฝ่าในสมรภูมิการเมืองกับรัฐเมื่อวัยหนุ่ม มาจนถึงการฟันฝ่าสมรภูมิภายในในช่วงกลางคน กระทั่งคลี่คลายออกมาเป็นเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในปัจจุบัน หมวก คือไอคอนประจำตัวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งเริ่มแต่เมื่อไรเจ้าตัวคงจำไม่ได้ รู้ตัวอีกทีหมวกก็กลายเป็นความเคยชินในชีวิตไปแล้ว ดังที่เราได้เห็นภาพของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงกลางคน หมวกไม่เคยห่างหายไปจากกายเลย แต่เมื่อช่วงชรามาถึง ไอคอนประจำตัวของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้หายไป มีเพียงเส้นผมขาวโพลนอันเป็นไปตามวัยเท่านั้นที่เห็น แล้วเราก็แทบไม่เจอหมวกของเขาอีก ส่วนเหตุผลถึงการถอดหมวกนั้น หนังสือเล่มนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวไว้โดยละเอียด อันที่จริง เหตุผลการถอดหมวกของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นเรื่องน่าสนใจประการหนึ่ง หากประเด็นถึงการครุ่นคิดในการถอดหมวกนั้นยิ่งน่าสนใจกว่า ระบบระเบียบวิธีคิดของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มีต่อการสละละวางตัวตนนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อันเกิดจากการพิจารณาอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงถึงสภาวะที่มีในธรรมชาติของตนเอง
วันที่หัวใจกลับบ้าน หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมบทบันทึกซึ่งเขียนขึ้นในวัย 60 ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อันที่จริงแล้ว วัย 60 แทบไม่ต่างจากวัยอื่นที่ใกล้เคียงนัก หากความพิเศษของตัวเลข 60 ก็ได้ทำให้ใครหลายคนหันกลับมาทบทวนชีวิตที่เคยผ่านพ้นของตนเอง และการรำลึกความหลังนี้เอง ได้กลายมาเป็นพื้นที่แห่งการภาวนาของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ช่วยปลดเปลื้องภาระทางใจซึ่งรบกวนความรู้สึกของเขามานานหลายปีด้วยกัน กล่าวได้ว่าชีวิตของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล คือการเดินทาง นับตั้งแต่วัยหนุ่มเขาออกเดินทางไปตามเส้นทางอุดมคติของตน หลังจากนั้นก็ได้ออกเดินทางท่องเท้าไปยังพื้นที่มากมายหลายแห่งเพื่อค้นหาตัวตนที่ขาดหาย ดังที่บอกเล่าไว้ในเรื่องสั้นและบันทึกหลายบทหลายตอนด้วยกัน และท้ายที่สุด เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็ได้เดินทางกลับไปยังบ้านภายในของตน บ้านซึ่งเขาได้เคยจากมาตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ บ้านซึ่งเคยเป็นวิหารภายในมาโดยตลอด
ผ่านพบไม่ผูกพัน คือผลึกจากภาพครุ่นคิดภายในของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ถ่ายทอดเป็นความเรียง (Essay) ถึงทัศนะอันเกี่ยวเนื่องระหว่างตัวเขากับโลกแห่งปรมัตถ์ งานเขียนชิ้นนี้เผยให้เห็นถึงความอ่อนไหวในฐานะปุถุชนที่ถูกความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิตกระทบเข้าใส่ สะท้อนภาพความคิดภายในต่อความผิดพลาดและความผิดหวังในชีวิตของผู้เขียน ซึ่งได้กลายเป็นเส้นทางนำเขามาสู่การเดินทางภายในอันสูงชัน กาลเวลาคือสัจธรรมอันเกือบจะเที่ยงแท้ ยืนยงอยู่นานตราบเท่าเอกภพยังคงอยู่ แต่แล้วเมื่อมนุษย์อุบัติขึ้นคล้ายกับเหตุบังเอิญของเอกภพซึ่งไร้ถึงเหตุผลที่มา เราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในเอกภพร่วมกับกาลเวลาอันยาวนาน กลายเป็นกลุ่มก้อนตัวตนที่เอกภพไม่อาจปฏิเสธได้ และหลายต่อหลายครั้งมนุษย์ก็ลืมไปว่าตนเองเป็นเพียงผู้อาศัยชั่วคราว ผ่านมาแล้วผ่านไป ซึ่งจะจางหายไปเมื่อใดนั้น เอกภพคงไม่ทันสังเกตเห็น และกาลเวลาก็อาจลืมเลือนพวกเราไปในที่สุด แต่ทัศนะของผู้คนในโลกล้วนใช้ชีวิตราวกับว่าจะอยู่ยืนยาวเท่าอายุขัยเอกภพ ยึดถือและครอบครองสิ่งรอบตัวอย่างไม่คำนึง นำมาซึ่งความผูกพันแห่งทุกข์ไม่รู้จบสิ้น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ครั้งหนึ่งเคยเป็นแกนนำนักศึกษาเคลื่อนขบวนประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, นักปฏิวัติสังกัดค่ายคอมมิวนิสต์ ภายหลังยอมจำนนมอบตัวต่อรัฐบาล, อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นักคิดนักเขียน และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
วิหารที่ว่างเปล่า การจะอ่านหนังสือสักเล่ม ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราต้องรู้จักนักเขียน หรือรู้จักประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมตัวเขา แต่สำหรับงานเขียนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล คงจำเป็นอยู่บ้างที่ต้องรู้จักตัวเขาและประวัติศาสตร์ที่แวดล้อม กล่าวได้ว่างานเขียนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผันไปตามวันเวลาและความครุ่นคิดของเขา ประกอบกับแนวคิดทางสังคมและการเมืองล้วนมีผลกระทบต่อทัศนะในงานเขียนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เติบโตจากพื้นฐานเด็กบ้านนอกทั่วไป ต่อมาได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS (American Field Service) ไปศึกษาอยู่ที่เมืองอิทากะ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี และจากประสบการณ์ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกานี้เองที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวในภายหลังว่าเป็นอิทธิพลทำให้เขาต้องจับปืนสู้รบกับรัฐบาลไทยในฐานะนักปฏิวัติด้วย ตามมาด้วยบทบาทแกนนำขบวนนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และบทบาทนักปฏิวัติค่ายคอมมิวนิสต์สู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้น ฯลฯ และผลจากความพ่ายแพ้ในการต่อสู้ทางการเมือง ได้ทำให้วิหารภายในของเขาร้างราไป
บุตรธิดาแห่งดวงดาว บทวรรณศิลป์จากการทำงานช่วงทศวรรษหลังของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ได้รวบรวมเอาความนึกคิดของผู้เขียน ไปจนถึงห้วงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในช่วงแรกชรากำลังมาเยือน ราวกับความตระหนักรู้บางอย่างที่ผู้เขียนค้นพบจากความผิดพลาดของตนเอง กระทั่งนำไปสู่การให้อภัยตนเองในท้ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่าเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นบุคคลผู้แข็งกร้าว โดยเฉพาะแข็งกร้าวกับตนเอง ความเป็นลูกผู้ชายที่ถูกปลูกฝังมาแต่วัยเยาว์ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัดจากบ้านนอก ได้เฆี่ยนตีและสร้างกรอบให้เขาต้องเข้มงวดกับตนเองมากกว่าที่ควรจะเป็น กระทั่งมันได้สร้างบาดแผลให้เขาและคนรอบข้าง จนกลายเป็นความทนทุกข์ภายใน และหนังสือเล่มนี้ ก็เป็นบันทึกบทเรียนที่ผ่านมาเหล่านั้น