แม้ภาครัฐจะมีนโยบายเรื่องการกำจัดขยะพลาสติกออกมา รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันลดใช้พลาสติก แต่จากสถานการณ์โควิดและมาตรการ work from home ที่ผ่านมาทำให้คนต้องหันมาใช้บริการ food delivery มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากธุรกิจดิลิเวอรี่พุ่งสูงถึง 6,300 ตัน/วัน
ถึงแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามเร่งกำจัดขยะเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ แต่ด้วยปริมาณที่มหาศาลต่อวันก็ทำให้มีขยะที่หลุดลอดจากการถูกกำจัดหลงเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไอ้เจ้าขยะพลาสติกเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมนุษย์เรานี่แหละ เมื่อเวลาผ่านไปจากขยะชิ้นใหญ่จะเริ่มแตกตัวเป็นขยะจิ๋วที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ ด้วยความที่มันมีขนาดเล็กจิ๋วจนอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและมีน้ำหนักเบา ทำให้มันแพร่กระจายปนเปื้อนลงสู่แหล่งดิน แหล่งน้ำอย่างเช่นแม่น้ำและทะเลได้ง่าย
รายงานจากองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ระบุว่าทุกปีจะมีขยะพลาสติกถูกทิ้งและปนเปื้อนในทะเลราว 8 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประมาณ 236,000 ชิ้นเป็นไมโครพลาสติกที่ทำให้สัตว์น้ำเข้าใจผิดว่ามันคืออาหารและกินเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร (food chain) สุดท้ายไมโครพลาสติกเหล่านั้นก็เข้ามาอยู่ในร่างกายมนุษย์จากการที่เราบริโภคสัตว์น้ำเหล่านั้นเข้าไปอีกที และเมื่อปี พ.ศ. 2563 ได้มีผลวิจัยจากองค์การสัตว์ป่าโลกสากล WWF ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลของออสเตรเลียเกี่ยวกับการหาปริมาณพลาสติกในห่วงโซ่อาหารที่มนุษย์บริโภคเข้าไประบุออกมาว่า มนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายถึงกว่า 2,000 ชิ้น/สัปดาห์ คิดเป็น 20 กรัม/เดือน หรือ 240 กรัม/ปี!
เมื่อไม่นานมานี้ศาสตราจารย์ Dick Vethaak นักนิเวศวิทยาด้านพิษวิทยาจาก Vrije Universiteit Amsterdam มหาวิทยาลัยวิจัยของเนเธอร์แลนด์ ได้ตรวจพบไมโครพลาสติกในเลือดของมนุษย์เป็นครั้งแรก จากการวิจัยพบว่าพลาสติกที่อยู่ในเลือดของกลุ่มตัวอย่างมีที่มาจากขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งและพลาสติกที่ใช้ในการบรรจุอาหาร แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ชี้ชัดว่าไมโครพลาสติกส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง แต่การที่มีพลาสติกซึ่งมีองค์ประกอบของสารพิษที่สามารถก่อมะเร็งได้ปะปนอยู่ในเลือดทั่วร่างกายก็ถือเป็นเรื่องอันตรายยิ่งนัก หากมันสะสมในปริมาณมากนานวันเข้าก็อาจก่อผลร้ายที่น่ากลัวต่อระบบภายในชนิดที่รู้ตัวอีกทีก็อาจไม่สามารถรักษาชีวิตตัวเองไว้ได้ทันแล้วก็เป็นได้
จากปัญหาขยะพลาสติกที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทำให้บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลกอย่าง ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ ในฐานะบริษัทที่มุ่งมั่นในการเป็นกลุ่มบริษัทผู้ส่งมอบแนวทางการแก้ปัญหาและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพ มีเป้าหมายในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงให้ได้ 50% ภายในปี 2573 ได้เริ่มขับเคลื่อนกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าวด้วยการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ในการห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ของผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะและผงปรุงอาหารรสดี และเลือกใช้กล่องกระดาษที่ผลิตตามมาตรฐาน FSC ในการแพ็คบรรจุภัณฑ์ ซึ่งกล่องกระดาษที่ได้รับมาตรฐาน FSC คือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากไม้ของป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีระบบการบริหารอย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกลงได้ถึง 127 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับขวดน้ำพลาสติกขนาด 1.5 ลิตร จำนวน 4.2 ล้านขวด!
ท้ายที่สุดแล้ววิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้ก็คือต้องลดปริมาณขยะพลาสติกลง เมื่อผู้ผลิตยังตระหนักถึงปัญหาและไม่นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราในฐานะผู้บริโภคก็ไม่ควรละเลยเช่นกัน มาร่วมด้วยช่วยกัน ลด ละ การใช้พลาสติก เพื่อปกป้องโลกของเราและปกป้องตัวเราจากโรคกันเถอะ
ติดตามรายละเอียดกิจกรรมดีๆ ของอายิโนะโมะโต๊ะเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ajinomoto.co.th
แหล่งข้อมูล
1. ไมโครพลาสติก ผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์; https://petromat.org/home/microplastics-human-health-impacts/
2. การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลที่เป็นอาหาร https://kukrdb.lib.ku.ac.th/proceedings/kucon/search_detail/dowload_digital_file/401577/144233
3 ไมโครพลาสติก ปัญหาในระบบนิเวศแหล่งน้ำ; https://he01.tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/download/240856/166060/863886
4. ขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์; http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6137/301
5. Discovery and quantification of plastic particle pollution in human blood; https://shorturl.asia/aYM2R
6. Ultimate Roundup of Marine Pollution Facts; https://www.condorferries.co.uk/marine-ocean-pollution-statistics-facts