รู้จัก WIPO
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) คือใคร?
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) เป็นองค์กรระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2510 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยปัจจุบัน WIPO มีสมาชิก 192 ประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2532
การปฏิบัติงานของ WIPO (Function& Structure)
WIPO มีความตกลงระหว่างประเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งสิ้น 26 ฉบับ ครอบคลุมประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การออกแบบอุตสาหกรรม และลิขสิทธิ์ เป็นต้น หน้าที่หลักของ WIPO ได้แก่ การบริหารจัดการความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาระหว่าประเทศ การสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ประเทศไทยกับ WIPO
ประเทศไทยได้มีบทบาทและความร่วมมือที่สร้างสรรค์กับ WIPO มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนภารกิจในด้านการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ การผลักดันวาระด้านการพัฒนา กรอบการเจรจาคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Intergovernmental Committee on Intellectual Property and Genetic Resources, Traditional Knowledge and Folklore- WIPO IGC)
ปัจจุบันไทยได้เข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศภายใต้การกำกับดูแล ของ WIPO จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
1. อนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม (Berne Convention)
ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 โดยสาระสำคัญของ Berne Convention เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ ปัจจุบัน Berne Convention มีภาคีทั้งสิ้น 177 ประเทศ
2. อนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Paris Convention)
ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2551 โดยสาระสำคัญของ Paris Convention เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Industrial Property) เช่น สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้า และการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ปัจจุบัน Paris Convention มีภาคีทั้งสิ้น 177 ประเทศ
3. สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT)
ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยสนธิสัญญา PCT มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ปัจจุบัน PCT มีภาคีทั้งสิ้น 152 ประเทศ
4. พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol)
ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 โดยพิธีสารกรุงมาดริดมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องหมายระหว่างประเทศ ปัจจุบันพิธีสารกรุงมาดริดมีภาคีทั้งสิ้น 104 ประเทศ
5. สนธิสัญญามาร์ราเคช (Marrakesh Treaty)
ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 โดยสนธิสัญญามาร์ราเคชมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงงานที่มีการโฆษณาแล้วสาหรับคนตาบอด คนพิการทางการเห็น และคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์ PCT ปัจจุบัน มีภาคีทั้งสิ้น 56 ประเทศ
บทบาทของไทยใน WIPO
ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทพอสมควรในเวที WIPO โดยไทยได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ WIPO เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญต่อการประชุมของคณะกรรมการต่างๆ โดยส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่
• Standing Committee on the Law of Patents (SCP) ซึ่งเกี่ยวกับสิทธิบัตร
• Standing Committee on the Law of Trademarks, Industrial Designs and Geographical Indications (SCT) ซึ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า การออกแบบทางอุตสาหกรรม และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
• Intergovernmental Committee on Intellectual Property and Genetic Resources, Traditional Knowledge and Folklore (IGC-GRTKF) ซึ่งเกี่ยวทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม
• Committee on Development and Intellectual Property (CDIP) ซึ่งเกี่ยวกับการอนุวัติวาระเพื่อการพัฒนา
ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ
ไทยให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาตั้งแต่อดีต โดยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ จำนวนมาก แม้จะไม่ได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา/อนุสัญญา/ความตกลงทั้งหมดของ WIPO อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษในปัจจุบัน ได้แก่
• ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีการคุ้มครองโดยตรงทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ไทยมีเพียง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยปัจจุบันประเด็นดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในเวที IGC-GRTKF โดยไทยได้สนับสนุนให้มีกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเภทต่างๆ
• วาระเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็น ความพยายามในการผลักดันของประเทศพัฒนาให้มีการส่งเสริมการพัฒนาโดยอาศัย ทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือ ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างแผนการทำงานโดยคณะกรรมการ CDIP ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยไทยได้มีบทบาทในการอภิปรายแผนการทำงานต่างๆ อย่างกว้างขวางในคณะกรรมการดังกล่าว
• การสร้างเสริมศักยภาพ (Capacity Building) ภายใต้วาระเพื่อการพัฒนา หนึ่งในหน้าที่ของ WIPO คือการสร้างเสริมศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาให้มีขีดความสามารถด้าน ทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ซึ่งไทยได้ร่วมมือกับ WIPO ในการจัดสัมมนา/หลักสูตรอมรมต่างๆ ได้แก่ หลักสูตรอบรมทรัพย์สินทางปัญญาพื้นฐานทางอินเตอร์เน็ต (DL-101 ฉบับภาษาไทย) ทั้งนี้ ไทยพยายามส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างไทยกับ WIPO ในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย
กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยประสานงานหลักระหว่าง WIPO กับไทย โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และคณะทูตถาวรประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้มีบทบาทสำคัญในหลายคณะกรรมการของ WIPO ได้แก่ IGC-GRTKF และ CDIP โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (พณ.) เป็นหน่วยงานหลักของไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ของไทยที่เกี่ยวข้องกับงานของ WIPO ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
บริการออนไลน์ของ WIPO (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
WIPO's PATENTSCOPE สามารถสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตรของประเทศต่างๆ และการขอจดสิทธิบัตรภายใต้สนธิสัญญา PCT
WIPO GOLD สามารถสืบค้นฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เทคโนโลยี ตราสินค้า สถิติ กฎหมาย และสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ WIPO และทรัพย์สินทางปัญญา
อ้างอิง : https://www.pmtw.moc.go.th/aboutwipo , https://business.mfa.go.th/th/content/16262-องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก-(-wipo-)