บ.ก. ปริทัศน์ ตุลาคม 2561
ไม่มีใครสงสัยกันบ้างหรือ ว่าทำไม่สำนักพิมพ์ใหญ่เล็กจึงต้องหนีตายไปมีพื้นที่ของตนเอง ชนิดขายแบบกองโจร (นี่ไม่นับงานแฟร์ใหญ่ประจำปีสองงานค่ะ) ทำไมทุกสำนักพิมพ์เวลานี้ต้องจัดทำเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ ที่ขายทั้งหนังสือเล่มและ PDF ไฟล์ หรือกระทั่งใช้สารพัดเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ก่อนที่จะค่อยนำไปจัดวางฝากขายกับเครือข่ายหนังสือ ทั้งที่นับว่าเป็นอิสระและไม่อิสระ 555
ระบบนิเวศน์ของหนังสือดั้งเดิมนั้นเปลี่ยนไปแล้ว อย่างยากจะหวนกลับมาสู่คืนวันเก่าๆ อันหอมหวน (The good old days) นานาสำนักพิมพ์ลดความเสี่ยงสุดๆ กับระบบฝากขายและชาร์จเปอร์เซ็นต์อย่างดูเหมือนไร้ขีดจำกัดในการพิทักษ์รักษาตนเองไว้ในตลาดหลักทรัพย์ แม้จะต้องรีดเลือดกับปูเล็กปูน้อยก็ตาม โดยสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก-กลาง มีการรับจองสั่งหนังสือตั้งแต่ (pre-order) ขายเสร็จเด็ดขาดบนพื้นที่ขายที่ตนเองคุมได้ แถมยังได้โชว์ปกหนังสือที่ตนจัดพิมพ์อย่างโอ่อ่า ไม่ต้องเสียค่าพื้นที่ทำเลดีหน้าหัวชั้นหนังสือตามห้างสรรพสินค้า จะว่าไปแล้วปรากฏการณ์ดังกล่าว เสมือนลูกตุ้มของนาฬิกาที่เหวี่ยงกลับ เพื่อหาสมดุลของผู้ผลิตและผู้บริโภคปลายทางอย่างแท้จริงด้วยค่ะ
โจทย์ข้อหนึ่งที่ผู้ผลิตและบริโภคหนังสือทรงคุณภาพแท้จริง ต้องค้นหาร่วมกัน ว่าราคาหนังสือประเภท print on demand ราคาใดคือราคาที่สมเหตุสมผลแก่ทั้งสองฝ่าย ย่อหน้านี้ บก.บัญชร ขอไม่พูดปัจจัยใดเกี่ยวข้องกับร้านขายหนังสือแล้ว เพราะตัดตัวกลางออกไปก่อน จะได้คิดถึงว่าการขายออนไลน์หนังสือไทย จะเติบโตชนิดเป็นหลานๆ ของ amazon.com ได้ไหมหนอ การที่สำนักพิมพ์คุณภาพ คัดเลือกบรรณาธิการที่เก่งและทำงานกับนักเขียนได้ดี มีคอนเทนต์และการออกแบบรูปเล่มอย่างดี จะสามารถถึงผู้บริโภคในราคาที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ราคาขายนั้นควรถูกแยกแยะจากราคาปกขยะหนังสือออกใหม่ ที่ปั๊มออกมาเชิงปริมาณแล้วลดราคาขายกันเสมือนขายผักปลาที่ใกล้เน่าใกล้เสีย หรือไม่คะ
ช่วย บก.บัญชร คิดที และแจมกันหน่อยด้วยกระทู้หรีอเม้นท์ก็ได้ เปิดกว้างค่ะ เพื่อหาทางออกสร้างสรรค์ร่วมกัน