สี จิ้นผิง (Xi Jinping) เกิด 15 มิถุนายน 2496 เป็นนักการเมืองจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนและประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง บางทีเรียก "ผู้นำสูงสุด" ของจีน ในปี 2559 พรรคให้ตำแหน่งเขาเป็นผู้นำ "แกนกลาง" ในฐานะเลขาธิการ สีเป็นคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นองค์กรวินิจฉัยสั่งการสูงสุดของจีน
สี จิ้นผิง เป็นนักอ่านตัวยง ด้วยความเป็นผู้นำแห่งมหาอำนาจของโลกจึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือของเขาอ่านนั้นจะได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย ในปีนี้ที่ทั่วโลกจับตามีสองเล่มเด่น ปรากฏในชั้นวางหนังสือ ที่เป็นฉากหลังคำอวยพรปีใหม่ ในจำนวนหลายเล่มที่เขากำลังอ่านอยู่นั้น นั่นคือ The Master Algorithm โดย Pedro Domingos และ Augmented: Life in the Smart Lane-Brett King ทั้งสองเล่มเป็นหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยียุค AI ปัญญาประดิษฐ์ แต่หนังสือที่เป็นหนังสือในดวงใจของเขามีอยู่หลายเล่มด้วยกัน คือ
1. ผลงานของ เฝิงเมิ่งหลง
เฝิงเมิ่งหลง ใช้ชีวิตระหว่างคริสต์ศักราชปี 1574-1646 คือ ช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง เขาเป็นชาวเมืองซูโจว มีความรู้กว้างขวาง เก่งในด้านวรรณศิลป์ และเป็นที่ยอมรับจากคนรุ่นเดียวกัน ส่วนพี่ชายของเขาเป็นจิตรกร (นักวาดภาพ) และน้องชายของเขาเป็นบัณฑิตในมหาวิทยาลัย "ไท่เสว" (Tai Xue) ฉะนั้น ลูกชาย 3 คนของตระกูลเฝิงนี้จึงเป็นที่รู้จักกันทั่วเมือง
ในชั่วอายุของเฝิงเมิ่งหลงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจการตลาด (เศรษฐกิจสินค้า) และสังคมชาวเมืองของจีนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เฝิงเมิ่งหลงผู้มีจิตสำนึกชาวเมืองจึงสนใจเรื่องการประพันธ์และตีพิมพ์จำหน่ายนวนิยาย บทละครงิ้วและวรรณกรรร่วมสมัยที่ใช้ภาษาเรียบง่าย ผลงานเขียนของเขาตีแผ่วิถีชีวิตของชาวเมือง เน้นการดำเนินเรื่องแบบพลิกผันมีความเป็นละครและความเป็นเทพนิยาย จึงได้รับความนิยมจากชาวเมืองจำนวนมากในสมัยนั้น
ผลงานชิ้นเอกของเฝิงเมิ่งหลงก็คือ ประมวลเรื่องสั้นภาษาไป๋ฮว่า 3 เล่ม คือ "อู้สื้อหมิงเอี๋ยน" (YuShiMingYan คติแจ้งชาวโลก) "จิ่งสื้อทงเอี๋ยน" (JingShiTongYan คติเตือนชาวโลก) และ "สิ่งสื้อเหิงเอี๋ยน" (XingShiHengYan คติปลุกชาวโลก) เรียกรวมกันว่า "ซานเอี๋ยน" (SanYan สามคติ) ทั้งหมดมี 120 ตอน ประมวลเรื่องสั้น 3 เล่มดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุดสาขาเรื่องสั้นในสมัยนั้น จึงมีความสำคัญพิเศษในประวัติวรรณคดีสมัยใกล้ของจีน
2. เรื่องราวของ Yue Fei หรือ งักฮุย
งักฮุย เกิดในราชวงศ์ซ่งเหนือ บริเวณที่ปัจจุบันนี้ คือ อำภอทางยิง เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน เมื่อครั้งยังเล็ก ณ บ้าน เกิดของเขาเกิดอุทกภัยใหญ่จากการแตกของเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงโห มารดาของงักฮุยต้องอุ้มบุตรชายไว้ในอ้อมกอด อาศัยซุกตัวอยู่ในโอ่งลอยตามน้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาชีวิตให้รอด
เมื่อล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม ในภาวะที่ประเทศกำลังตกอยู่ในวิกฤตเนื่องจากฮ่องเต้สองพระองค์ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คือ ซ่งฮุยจง และซ่งชินจง ถูกพวกจิน (ค.ศ. 1115-ค.ศ. 1234) จับตัวไปเป็นเชลยศึก จนในที่สุดนำมาสู่จุดจบของราชวงศ์ซ่งเหนือ งักฮุยเมื่อพบเห็นกับเหตุการณ์ เช่นนี้จึงตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าจะต้องกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียและชาติกลับคืนมาให้ได้
ความตั้งใจนี้เมื่อประกอบกับการสนับสนุนมารดา เขาจึงสมัครเข้าเป็นทหารรับใช้ให้กับราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-ค.ศ. 1279) ที่ขณะนั้นฮ่องเต้คือ ซ่งเกาจง ได้ย้ายเมืองหลวงหนีมาทางใต้ จากเปี้ยนเหลียง (ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง) มาอยู่ที่หลินอัน (ปัจจุบันคือเมืองหางโจว)
โดยก่อนที่งักฮุยจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย ความว่า 精忠報國 จิงจงเป้ากว๋อ (ซื่อตรง ภักดี ล้างแค้น เพื่อชาติ)
3. The Long March
การเดินทัพ หมายถึงการถอยทัพครั้งใหญ่หลายครั้งของกองทัพแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระหว่างปี ค.ศ. 1934 ถึง 1936 โดยการนำของเหมา เจ๋อตุง และโจว เอินไหล ที่กำลังต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลจีนในขณะนั้น ซึ่งนำโดยเจียง ไคเช็ก
ในขณะนั้นกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีขนาดเล็กกว่า และกำลังเพลี่ยงพล้ำต่อกองทัพรัฐบาล จึงนำกำลังทหาร พร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่งเดินเท้าถอยร่นจากทางใต้ หนีขึ้นไปทางเหนือของประเทศจีน การเดินทัพครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1934 โดยเริ่มต้นจากมณฑลเจียงซีไปทางทิศตะวันตก และย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 25,000 ลี้ หรือ 12,500 กิโลเมตร (8,000 ไมล์) ผ่านดินแดนทุรกันดารทางตะวันตกของประเทศจีน ใช้ระยะเวลากว่า 370 วัน ไปยังมณฑลส่านซี โดยมีผู้รอดชีวิตไปถึงจุดหมายเพียงหนึ่งในห้า
การนำทัพโดยเหมา เจ๋อตุง ในครั้งนั้น ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนอื่นๆ ให้ขึ้นสู่อำนาจในเวลาต่อมา และหลังจากสะสมกำลังพลและอาวุธที่มณฑลส่านซีอยู่หลายปีจนถึง ค.ศ. 1945 กองทัพแดงได้ยกทัพมาต่อสู้กับรัฐบาลเจียง ไคเช็ก และขับไล่เจียง ไคเช็กไปยังไต้หวันและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949
4. Faust โดย Johann Wolfgang von Goethe
แต่เดิมเรื่องเฟาสท์เป็นนิทานพื้นบ้านของชาวเยอรมันที่เล่าเรื่องของด็อกเตอร์โยฮานน์ เฟาสท์ (ที่คาดว่ามีตัวตนอยู่จริงในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15) ที่นำชีวิตเข้าไปข้องเกี่ยวกับเมฟิสโทเฟเลสซึ่งเป็นปีศาจที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ นิทานเรื่องเฟาสท์ถูกนำมาใช้เป็นพื้นของเรื่องเล่าต่างๆ โดยนักเขียนหลายคนรวมถึงนักเขียนชื่อก้องโลกชาวเยอรมัน โยฮานน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ ด้วย
5. War and Peace
สงครามและสันติภาพ (WAR & PEACH) ผลงานการประพันธ์ชิ้นเอกของนักเขียนชาวรัสเซียนามกระเดื่อง ลีโอ ตอลสตอล หนังสือเล่มนี้แฝงไปด้วยปรัชญา ความเชื่อทางศาสนาและการเมือง แฝงไปด้วยพลังแห่งความหวังถึงสิ่งที่ดีกว่ารวมทั้งศรัทธาในมนุษย์และพระเจ้า หรือที่ในภาษาวรรณคดีเรียกว่าศานติ
6. The Old Man and The Sea
เรื่องราวของชายชราที่ต่อสู้กับปลาใหญ่โดยลำพังอย่างโดดเดี่ยว เปี่ยมข้อคิดในความกล้าหาญแห่งชัยชนะ และความพ่ายแพ้ของมนุษย์ที่มีต่อความเหี้ยมโหดของธรรมชาติ ดังตอนหนึ่งที่ว่า “ฉันปรารถนาเหลือเกินที่จะให้มันเป็นเพียงความฝัน และให้มันกลับกลายเป็นว่าฉันไม่เคยได้จับปลาใหญ่ตัวนี้ และตัวฉันอยู่แต่เพียงลำพัง นอนอยู่บนหนังสือพิมพ์บนเตียงนอน แต่ว่าคนเราไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะให้พ่ายแพ้ คนเราสามารถจะถูกทำลายได้ แต่จะต้องไม่พ่ายแพ้”
อ้างอิงจาก : http://www.chinadaily.com.cn/china/2017-01/01/content_27833582_7.htm
เรียบเรียงโดย : ศิริรัตน์ สุ่นสกุล