บทความโดย : นิรันศักดิ์ บุญจันทร์
ขณะที่ผมกำลังรื้อดูรูปภาพและเอกสารในกล่องกระดาษเก่าๆ ใบหนึ่งอย่างเงียบๆ ผมรู้สึกว่ามีภาพต่างๆ ขึ้นในความทรงจำมากมาย เหมือนกับว่ามีเรื่องราวหลากหลายบรรจุอัดแน่นอยู่ภายในกล่องนั้น โดยเฉพาะซองใส่ภาพถ่ายสีน้ำตาลที่เรียงอยู่ในกล่อง เมื่อผมเปิดซองแล้วดึงภาพออกมาดูทีละใบ พอเห็นหน้าตาแต่ละคนที่ปรากฏอยู่ในภาพ ในห้วงคิดของผมจะเห็นภาพเคลื่อนไหวและได้ยินถ้อยคำแว่วอยู่ในหู ราวกับว่าสิ่งที่ได้สัมผัสพบเห็นหวนกลับมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เวลาได้พัดพาสิ่งเหล่านั้นให้ผ่านเลยไปนานแล้ว
ในกล่องกระดาษเก่าใบนั้นมีภาพนักเขียนไทยหลายคน บางคนเป็นผู้อาวุโส บางคนเป็นรุ่นพี่ รวมทั้งเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผม และรุ่นน้องที่ต่อมาล้วนเติบใหญ่บนถนนสายนี้ ซึ่ง ณ เวลาหนึ่งเคยโลดแล่น ก่อนที่จะถูกกระแสแห่งกาลเวลาพรากไป ทำให้มีเรื่องราวตกตะกอนอยู่ในความทรงจำมากมาย
จากซ้าย- “น้าแพ็ท” ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต, สุพล เตชะธาดา, สุวรรณี สุคนธา, นพพร บุณยฤทธิ์
เสียงแท่นพิมพ์ที่ดังกึงกังอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยอยู่ชั้นล่างสุดของอาคาร นอกจากเสียงแท่นพิมพ์แล้ว กลิ่นสี กลิ่นกระดาษจะอบอวลทั่วบริเวณนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ตั้งแท่นพิมพ์แล้ว ยังแบ่งพื้นที่สำหรับช่างพับและช่างเก็บเล่มด้วย ส่วนอีกมุมหนึ่งจัดเป็นออฟฟิศ โดยภายในห้องกระจกนี้จะมีทั้งโต๊ะผู้จัดการบริษัทโรงพิมพ์ โต๊ะพนักงานฝ่ายบัญชี และโต๊ะสำหรับแขกผู้มาเยือนหรือมาติดต่อเรื่องธุรกิจการงาน
“บริษัท พลพันธ์การพิมพ์ จำกัด (Phonlaphan Printing Co., Ltd.)”
คือชื่ออาคารแห่งนั้น แต่สำหรับคนในแวดวงนักเขียนจะเรียกกันติดปากว่า “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” โดยมี “สุพล เตชะธาดา” หรือ “เฮียชิว” หรือที่คนคุ้นเคยเรียกว่า “ชิว เฮฟเนอร์” นั่นเอง ถ้าจะบอกว่าที่นี่เป็นประพันธ์สาส์นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ก็ย่อมได้ เพราะเป็นยุคที่วงการพิมพ์และวงการหนังสือกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกยุคหนึ่ง
จากซ้าย-สุพล เตชะธาดา, นพพร บุณยฤทธิ์, รัตนะ ยาวะประภาษ และอาจินต์ ปัญจพรรค์ ในงานสวดพระอภิธรรมศพ “อรวรรณ” หรือ “เลียว ศรีเสวก”
บริษัท พลพันธ์การพิมพ์ จำกัด ตั้งอยู่ในซอยหนึ่งใกล้กับสะพานอรุณอมรินทร์ แถวๆ ตีนสะพานฝั่งสี่แยกปิ่นเกล้า ตรงใต้สะพานที่เป็นที่กลับรถนั่นแหละ ซอยนี้ไม่ใช่ซอยกว้างใหญ่ เวลารถบรรทุกกระดาษเข้ามาส่งโรงพิมพ์ รถอื่นๆ จะต้องหลบมุมก่อน เว้นเสียแต่รถเก๋งเท่านั้นจึงพอจะแล่นสวนกันได้
ในซอยนี้นอกจากจะเป็นที่ตั้งของบริษัท พลพันธ์การพิมพ์ จำกัด ยังเป็นที่ตั้งของบริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊ป ที่มีคุณชูเกียรติ อุทกะพันธ์ เป็นเจ้าของและกรรมการผู้จัดการบริษัทอีกด้วย ทั้งสองโรงพิมพ์อยู่ติดกัน และอีกสำนักหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกันก็คือ “มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์” ที่มี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ โดยสำนักงานของมูลนิธิฯ จะอยู่ติดกับร้านขายของชำของเจ๊เหลี่ยน ร้านนี้แหละที่เปรียบเสมือนโรงละครที่มีบรรดานักเขียนน้อยใหญ่หลากหลายแนวแวะเวียนมาบ่อยครั้ง
ความรื่นรมย์ในโรงพิมพ์
“สุพล เตชะธาดา” หรือ “เฮียชิว” เจ้าของบริษัทสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเป็นคนร่างสูงใหญ่ ยิ่งเสียงพูดดังแหบพร่าเหมือนเสียงร็อด สจวร์ต และมาร์ลอน แบรนโด ที่รับบท “ดอน คอร์เลโอเน” เจ้าพ่อในหนังเรื่อง “เดอะ ก็อดฟาเธอร์” ด้วยแล้ว ยังไม่ต้องเห็นตัว แค่ได้ยินเสียงพูดก็รู้แล้วว่านั่นแหละ“เฮียชิว”
ตึกบริษัท พลพันธ์การพิมพ์ จำกัด มี 3 ชั้นด้วยกัน ชั้นล่างเป็นที่ตั้งแท่นพิมพ์ ส่วนชั้นสองเป็นชั้นลอย นอกจากจะมีห้องถ่ายแบบแล้ว อีกด้านหนึ่งจะเป็นห้องเรียงพิมพ์ ส่วนช่างเรียงตัวตะกั่วยุคเก่ารวมกันอยู่อีกห้องหนึ่งบริเวณชั้นนี้
สำหรับชั้นที่ 3 แบ่งเป็นห้องๆ เป็นสำนักงานนิตยสารหลายหัวของค่ายนี้ รวมทั้งใช้เป็นที่ทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คด้วย นิตยสารก็มีหลายแนว เช่น ฟ้าเมืองทอง, เรื่องจริง, ชีวิตจริง, วัยหวาน, กานดา, ยิ้มต้นเดือน
อันที่จริงแล้วที่นี่เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยการประพันธ์แห่งหนึ่งเลยทีเดียว เพราะแต่ละวันจะมีนักเขียนหลายแนวหลายรุ่นและช่างภาพขึ้นลงตลอดเวลา นิตยสารแนวไหนก็จะมีนักเขียนแนวนั้นขึ้นมาหาบรรณาธิการแทบทุกวัน
ราช เลอสรวง
อย่างนิตยสาร “เรื่องจริง” ที่มีพี่ “ราช เลอสรวง” นักเขียนนิยายภาพชุด “สิงห์ดำ” ผู้โด่งดังเป็นบรรณาธิการ ก็จะมีนักเขียนแนวบู๊สะบั้นหั่นแหลกแวะเวียนมาส่งต้นฉบับบ้าง มาปรึกษาหารือบ้าง
ส่วนห้องข้างๆ ที่เป็นออฟฟิศนิตยสาร “หลายชีวิต” ที่มีพี่ “จุก เบี้ยวสกุล” หรือ “จุลศักดิ์ อมรเวช” เจ้าของนิยายภาพชุด “เจ้าชายผมทอง” เป็นบรรณาธิการ ก็จะมีนักเขียนแนวเศร้าเคล้าน้ำตามาส่งต้นฉบับเป็นประจำ สำหรับนิตยสารเล่มนี้นั้น ก่อนหน้านี้มี “สินี เต็มสงใส” นักเขียนหญิงชื่อดังอีกคนหนึ่งในบ้านเราเป็นบรรณาธิการคนแรก
จุก เบี้ยวสกุล หรือ จุลศักดิ์ อมรเวช
สำหรับอีกห้องหนึ่งที่อยู่ฝั่งเดียวกันจะเป็นออฟฟิศนิตยสาร “วัยหวาน” ซึ่งเป็นนิตยสารแนววัยรุ่นหวานแหวว โดยมี “น้ำมนต์ อยู่สกุล” เป็นบรรณาธิการ นอกจากจากนี้ก็ยังมี “พี่ตุ๊-อดุลย์พันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” เป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ ห้องนิตยสารวัยหวานนี้จะใหญ่เป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแต่มีกองบรรณาธิการ ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายช่างภาพเท่านั้น แต่ทุกวันจะมีวงดนตรีวัยรุ่นที่โด่งดังในยุคนั้นขึ้นมาให้สัมภาษณ์ และต้องมาถ่ายภาพเพื่อขึ้นปกนิตยสาร เนื่องจากเป็นนิตยสารที่นิยมอ่านในหมู่วัยรุ่นและมียอดขายร้อนแรงอย่างมาก
อีกฝั่งหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้ามจะเป็นออฟฟิศนิตยสาร “กานดา” ที่มีคุณหน่อย ลูกสาวของเฮียชิวเป็นผู้ดูแล เนื้อหาของนิตยสารเล่มนี้จะเป็นแนวผู้หญิงยุคใหม่ และมีนิยายของนักเขียนหญิงชื่อดังให้อ่านหลายคน
สุพล เตชะธาดา (ซ้าย) กับอาจินต์ ปัญจพรรค์
ใกล้ๆ ห้องนิตยสารกานดาจะเป็นห้องสำหรับกองบรรณาธิการและฝ่ายจัดหน้าของนิตยสารเรื่องจริง ถ้าถึงวันส่งต้นฉบับพร้อมเบิกค่าเรื่อง ในห้องนี้จะแน่นไปด้วยนักเขียน และบางครั้งจะได้ยินเสียงตอกพิมพ์ดีดเพื่อพิมพ์ต้นฉบับให้แล้วเสร็จตามเวลาส่งสำหรับนักเขียนที่เขียนค้างมาจากบ้าน
ส่วนอีกห้องเป็นออฟฟิศของนิตยสาร “ฟ้าเมืองทอง” ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามแนวความคิดของพี่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ร่วมกับ “เฮียชิว” ก่อนหน้านี้ก็มีนิตยสารหลายหัวที่ขึ้นต้นด้วย “ฟ้า” ทั้งฟ้านารี ฟ้าอาชีพ แต่เลิกไปเสียก่อน ยังคงเหลือแต่ “ฟ้าเมืองทอง” ที่ค่ายประพันธ์สาส์นเท่านั้น...ที่จริงแล้วนิตยสารฟ้าเมืองทองมีผู้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการตามยุคสองสามคน ทั้งละเอียด นวลปลั่ง, ลำเนา ศรีมังคละ จนกระทั่งมาถึงยุคผม
สุพล เตชะธาดา (เสื้อขาว) กับขรรค์ชัย บุนปาน
นอกจากจะมีนิตยสารหัวต่างๆ แล้ว ก็ยังมีนิตยสารอย่าง “ยิ้มต้นเดือน” ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนแนวขำขันประเภทจรยุทธ์ คือไม่มีออฟฟิศเป็นของตนเอง แต่อาศัยห้องนิตยสารอื่นๆ ทำ นิตยสารยิ้มต้นเดือนเล่มแรกๆ นั้นมีพี่ “ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ” ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ แต่ต่อมาได้พี่ “หยอย บางขุนพรหม” หรือ “ศรีศักดิ์ นพรัตน์” มาทำหน้าที่บรรณาธิการแทน
ผู้เขียนบนสำนักงานนิตยสาร “ฟ้าเมืองทอง”
แม้ว่ายุคสมัยเหล่านั้นจะผ่านเลยไปแล้ว แต่ก็มีหลายสิ่งที่น่าจดจำและน่านำมาบอกเล่า ทั้งเส้นทางของการเกิดการดับของนิตยสารแต่ละหัวและนักเขียนแต่ละคน โดยเฉพาะแง่มุมสนุกสนานที่ไม่ถูกนำมาเปิดเผยมากนัก ซึ่งเป็นสาระอีกอย่างหนึ่งที่รื่นรมย์
และบางทีก็เป็นบันทึกอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ขอบคุณที่มา : https://www.thepaperless.co/single-post/2018/01/20/เวลาอันรื่นรมย์ในโรงพิมพ์--