ห.. ให้ ม.. มอบ อ.. อุทิศ ๓ คำนี้ คือคำอธิบายของคำว่า “หมอ” ได้เป็นอย่างดี อาชีพที่ทุกคนรู้จัก และหลายๆ คนก็มีความฝันที่อยากจะเป็นหมอ แต่การจะก้าวเข้ามาเดินในเส้นทางสายนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นคนเป็นหมอคงต้องมีมากกว่าความรู้เป็นแน่แท้ แต่สิ่งหนึ่งที่หมอไม่ได้มีเหมือนกันทุกคนคือความดี การเป็นหมอที่ดีที่มองเห็นมนุษย์ทุกคนมีค่าเท่าๆ กัน หากเป็นหมอแต่เป็นหมอที่ดีไม่ได้ การเป็นหมอนั้นก็คงไม่มีค่าอะไร
“คุณหมอเซียง” แพทย์ผู้ให้ที่กลับกลายมาเป็นจำเลยของสังคม ถูกตราหน้าว่าเป็นหมอฆาตกร นักเขียนผู้ถ่ายทอดประสบการณ์จากชีวิต ๔ ปี ในระหว่างการถูกฟ้องคดีอาญามาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวผ่านตัวอักษร โดยการกล่าวเล่าเรื่องราวในหลายๆ ฐานะ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะคนที่เป็นแพทย์ นักเขียน แม่ แม่หม้าย และที่หนักหน่วงที่สุดคืออดีตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร ผลงานการเขียนสารคดีเล่มแรก “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” สารคดีรางวัลชมนาคระดับดีเด่น ครั้งที่ ๔ จากปลายปากกาของ “อู๋ฮุ่ยเซียง” หรือ แพทย์หญิงสุดานี บูรณเบญจเสถียร หญิงเหล็กแพทย์เชียงใหม่ รหัส ๓๒ แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แพทย์หญิงผู้ถูกฟ้องร้องคดีอาญา โดยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้คนไข้ถึงแก่ความตาย
เรื่องราวของคุณหมอเซียงเกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๕0 ในวันหนึ่งที่มีหญิงสาวท้องแก่มารอทำคลอดด้วยภาวะปกติ ญาติของหญิงสาวต่างพากันมารอคอยที่จะฟังข่าวดีของการให้กำเนิดชีวิตเล็กเล็กหนึ่งชีวิต ความหวังที่จะได้เห็นหน้าตาสมาชิกคนใหม่นั้นช่างมากมายเหลือเกิน แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็ได้เกิดขึ้น ระหว่างการทำคลอดหญิงสาวท้องแก่นั้นได้เกิดภาวะน้ำคล่ำเข้ากระแสเลือด คุณหมอเซียงและพยาบาลหลายชีวิตวิ่งวนกันอย่างวุ่นวายอยู่ภายในห้องทำคลอด ทุกคนพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะช่วยชีวิต คุณนงค์ (นามสมมติ) หญิงสาวท้องแก่ แต่แล้วความพยายามนั้นไม่เป็นผล โรคร้ายโหมกระหน่ำรุมเร้า จนกระทั่งร่างกายรับไม่ไหว ความตายได้พรากชีวิตของคุณนงค์ไปแล้ว ด้วยโรคร้ายที่ไม่เลือกว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง โรคที่มีโอกาสเกิดกับผู้หญิงที่ตั้งท้องทุกคน แต่มีเพียง ๑ ใน ๘0,000 คนเท่านั้น
ความหวังของเหล่าญาติได้มลายหายไปเพียงไม่กี่นาที ความตายได้พรากชีวิตของคุณนงค์ไปแล้ว นี่อาจจะเป็นเพราะความโชคร้ายของคุณนงค์ หรือไม่ก็อาจจะเป็นความผิดของใครสักคน?
ความผิดที่ทำให้หนึ่งชีวิตต้องปลิดปลิวลงไป และตอนนั้นเองที่สังคมได้พิพากษาว่าความผิดนั้นเป็นของหมอเซียง ด้วยความไม่รู้ และบันดาลโทษะ ญาติของผู้เสียชีวิตจึงนำเรื่องฟ้องต่อศาลอาญาและศาลแพ่ง หมอเซียงต้องสู้คดีความเป็นระยะเวลานานหลายปี ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย คดีคำเนินต่อไป สังคมได้มองเห็นความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่ใครเล่าจะมองเห็นสิ่งที่หมอเซียงได้สูญเสียไป สิ่งที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องแบกรับนั้นต้องมากมายเพียงใด ไม่มีใครสามารถตอบคำถามในสถานการณ์นี้ได้ดีไปกว่าหมอเซียง ผู้ถูกกล่าวหาและตกเป็นจำเลยของสังคม เธอต้องขึ้นศาลโดยไม่มีความรู้ทางกฏหมายส่งผลให้เธอประกันตัวเองไม่ทันจึงต้องถูกฝากขังชั่วคราวในคุกใต้ศาล ความรู้สึกมากมายรุมเร้าเธอ เธอทั้งสับสนและสิ้นหวัง แต่เธอได้ตัดสินใจที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อพิสูจน์ความจริงในอาชีพที่เธอรัก แต่มุมมองความคิดของเธอกับสามีนั้นสวนทางกัน สามีไม่พอใจกับการตัดสินใจของเธอ เรื่องราวดำเนินมาจนถึงจุดแตกหักของความสัมพันธ์ และเขาก็ได้ขอแยกทางกับเธอ เธอต้องย้ายออกมาจากบ้านของสามีพร้อมกับลูกที่ยังเล็กอีก ๒ คน เธอลี้ยงดูลูกทั้งสองและดูแลคุณพ่อที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตด้วยตัวคนเดียว ไร้ที่พึ่งพา ตอนนี้ชีวิตของหมอเซียงมาถึงจุดที่ผู้อ่านไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าความรู้สึกของคุณหมอนั้นบอบช้ำขนาดไหน และคงไม่มีใครที่อยากจะไปอยู่ในจุดนั้นเช่นกัน
เรื่องราวมากมายที่ถาโถมเข้าหาหมอเซียง อีกทั้งเหล่าชาวบ้านก็พากันเข้าใจผิดหมอเซียง ตามไปที่โรงพยาบาล ขึ้นคัตเอาท์ว่า “หมอฆ่าคน” บางทีก็ตามไปที่บ้านหรือไปโรงเรียนของลูกหมอ ระรานครอบครัวเธอจนเธอต้องให้ลูกย้ายโรงเรียน เรื่องราวนั้นหนักหนามากขึ้นทุกที เธอพยายามต่อสู้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไร้วี่แววของความหวัง ความท้อแท้นั้นมากมายเหลือเกิน เธอตัดสินใจที่จะจบปัญหาเหล่านี้ด้วยการจากโลกที่วุ่นวายนี้ไป แต่คงด้วยบุญวาสนาที่เธอมี ดลใจให้กัลป์ยาณิมิตรมาช่วยเปลี่ยนความคิดของเธอ
เรื่องราวดำเนินต่อไปจากหนึ่งหน้าเป็นหนึ่งบท และจากหนึ่งบทเป็นบทต่อต่อไปจนจบเล่ม จบทั้ง ๓๗ บท โดยผู้เขียนได้บอกใบ้บทสรุปอยู่เป็นระยะๆ ว่าคดีความนั้นได้จบลงโดยที่ตนไม่ได้ถูกจับกุมแต่อย่างใด และจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านนั้นถึงแม้จะใช้เวลาไม่น้อยแต่ไม่มีรู้สึกน่าเบื่อเลย กลับมีแต่ความรู้สึกลุ้นระทึกว่าเหตุการณ์ต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไร ชีวิตของหมอเซียงจะดำเนินต่อไปอย่างไร และบทสรุปจะทำให้ผู้อ่านอย่างข้าพเจ้าได้ข้อคิดและความประทับใจมากมายเพียงใด มากพอที่จะเหมาะสมกับรางวัลชมนาคระดับดีเด่นหรือไม่
เรื่องความทั้งหมดที่เป็นบทเรียนราคาแพงนี้สร้างสรรค์คำและเรียบเรียงคำได้เป็นอย่างดี มีความเด่นชัด มีทั้งศัพท์ทางการแพทย์และกฎหมาย ทำให้ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนใช้วิธีนำเสนอแบบเล่าเรื่องที่เป็นการพูดคุยกับตนเองให้ผู้อ่านฟัง พร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ประกอบ ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงอารมณ์ของผู้เขียนได้อย่างชัดเจนเสมือนว่าเราเป็นคนใกล้ชิดกับผู้เขียนจริงๆ แต่น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้ใส่ภาพประกอบลงในหนังสือ ทำให้ความน่าสนใจดูลดลงไป เพราะงานเขียนประเภทสารคดีนั้น การมีภาพประกอบจะช่วยเพิ่มความรู้สึกร่วมต่อผู้อ่านเป็นอย่างมาก
ในส่วนของเนื้อหา ข้าพเจ้าคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่มีการเล่าเรื่องราวประสบการณ์โดยตรงที่คุณหมอนั้นถูกญาติของคนไข้ฟ้องคดีอาญาจากความผิดพลาดทางการแพทย์ ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็เคยได้ยินมากันบ้างแล้วว่าแพทย์สมัยนี้มีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องจากผู้ป่วยสูง ทว่าไม่มีใครเคยออกมาเล่ากันอย่างจริงจัง แต่หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนมีความกล้าที่จะเอาเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาตีแผ่ให้เราได้รับรู้ว่าเวลาหมอต้องถูกคนไข้ฟ้องนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจต่อหมอและวงการสาธารณสุขกระจายออกไปอย่างไร
หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกทั้งในแง่ของการแพทย์และกฎหมายเหมือนข้าพเจ้ากำลังชมฉากภาพยนตร์ที่ตัวเอกต้องสู้ทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดแต่สังคมได้พิพากษาไปแล้ว แต่น่าเสียดายว่าผู้เขียนได้ให้รายละเอียดบางจุดน้อยไป เช่น เหตุผลการรับฟ้องคดีของศาล เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมศาลถึงรับฟ้องคดีของผู้เขียนง่ายนัก
สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คือ มีความรู้สึกว่ากระบวนการทางกฎหมายปัจจุบันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับความไม่เข้าใจกันระหว่างหมอกับทางฝ่ายผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง บางทีมันน่าจะมีกลไกอะไรบางอย่างที่เข้ามาแก้เรื่องนี้โดยเฉพาะ
“เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” เป็นสารคดีที่ทรงคุณค่า กว่าจะเป็นรูปเล่มที่ปรากฏให้เราเห็น ชีวิตคนหนึ่งคนต้องผ่านเรื่องราวมากมาย ผ่านความเศร้าสลดเสียใจ ความเจ็บปวด การสูญเสีย และการต่อสู้เพื่อความจริง ถ่ายทอดประสบการณ์จริงสู่รูปเล่ม เพื่อเป็นบทเรียนให้อีกหลายชีวิต “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” ถูกสร้างสรรค์ได้อย่างงดงาม และทรงคุณค่าอย่างยิ่ง สมกับรางวัลชมนาคระดับดีเด่น ไม่ทำให้ผู้อ่านนั้นผิดหวังเลย
บทวิจารณ์โดย รุ้งตะวัน จอนเจ๊ก