ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน : นวนิยายที่เป็นมากกว่าบทเรียนประวัติศาสตร์

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน

 

             “คุณเคยคิดไหมว่า ประชาธิปไตยเมืองไทยเราก็คล้ายต้นไทรใหญ่ต้นนั้น ส่วนอำนาจก็เป็นเหมือนลมพายุ พอมันพัดกรรโชกที ต้นไทรก็ปั่นป่วนที แต่ถึงยังไงต้นประชาธิปไตยต้นนี้ก็ยังอุตส่าห์ผ่านร้อนผ่านหนาว ยืดหยัดมาได้โดยตลอด” ชายชราเอ่ยคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบกับเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ก่อนที่ทั้งสองจะเริ่มสนทนาระลึกความหลังสมัยหนุ่ม ๆ ที่พวกเขาได้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตน และค่อย ๆ เติบโตไปพร้อม ๆ กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

 

                นั่นคือจุดเริ่มต้นของนวนิยายรางวัลซีไรต์เรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของคุณวินทร์ เลียววาริณ ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทยในรูปแบบที่อาจารย์ชั้นมัธยมศึกษาไม่ได้สอน จึงนับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่และน่ายินดีสำหรับผู้เขียนบทความอย่างมากที่ได้อ่านหนังสือเรียนที่ไม่ใช่หนังสือเรียนซึ่งสนุกและได้ความรู้ไปในเวลาเดียวกันและด้วยความตื่นเต้นนี้เองที่ผลักดันบทวิเคราะห์ประเด็นสำคัญของเรื่องฉบับนี้ออกมา

 

                เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องสั้นรวมมิตรจานใหญ่ที่ได้รวมหลากเหตุการณ์ และหลายช่วงเวลามาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน พร้อมจัดเรียงสวยงามและเสิร์ฟให้ผู้อ่านได้ลิ้มรสชาติขมหวานของการเมืองกันอย่างจุใจ บทความฉบับนี้จึงจะเลือกนำเสนอเพียงสามประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าผู้อ่านควรตระหนักถึงหากได้ร่วมผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวไปกับ “จ่าตุ้ย” และ “เสือย้อย” ผ่านตัวอักษรของคุณวินทร์แล้ว ประเด็นแรกที่จะกล่าวคือ กลวิธีทางวรรณศิลป์ของเรื่อง ประเด็นที่สอง ข้อคิดสำคัญที่ผู้แต่งนำเสนอ และประเด็นสุดท้าย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ในฐานะบทเรียนอันเป็นพื้นฐานสำคัญ

 

                อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเข้าบทวิเคราะห์จานหลักของบทความ จานเรียกน้ำย่อยเตรียมความพร้อมก็สำคัญ เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจตรงกัน ผู้เขียนจึงได้สรุปใจความสำคัญของเรื่องไว้ดังนี้

 

                ประชาธิปไตยบนเส้นขนานเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ได้เล่าถึงตัวละครสมมติชายสองคน ซึ่งมีบทบาทในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ถึง 2535 ของประเทศไทย เนื่องจากสองชายนามว่า “ตุ้ย” และ “ย้อย” มีจุดยืนทางการเมืองตรงกันข้าม พวกเขาจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของสองขั้วอำนาจระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน แม้ทั้งสองจะยืนอยู่คนละฟากฝั่ง แต่ด้วยโชคชะตาที่ต้องกัน ศัตรูก็กลับกลายเป็นมิตรแท้ในที่สุด พวกเขาจึงได้ช่วยเหลือกันต่อสู้อย่างต่างวิธี ต่างอุดมการณ์มาตลอด 60 ปีด้วยเป้าหมายเดียวกันคือ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ของประเทศไทย

 

                หัวข้อแรกจะกล่าวถึงกลวิธีทางวรรณศิลป์ของเรื่อง ซึ่งอาจเรียกได้อย่างง่ายว่าความคิดสร้างสรรค์ในการพรรณนาของผู้แต่ง กลวิธีเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยขับเน้นให้เรื่องมีอารมณ์ที่เข้มข้น สนุก หรือกระทบจิตใจผู้อ่าน อีกทั้งยังช่วยวาดภาพ ระบายสี และให้เสียงที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อให้ผู้อ่านได้ชม ได้สัมผัสอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

                ตัวอย่างเช่นในฉากแรกของบทเกริ่นนำ ผู้แต่งเปิดเรื่องด้วยการพรรณนาสภาพอากาศที่รุนแรงและแปรปรวนของพายุฝนที่ “กระพือปีกพิโรธกวาดล้างต้นไม้ใหญ่น้อยหักโค่นลงดิน” ประโยคนี้ใช้กริยา กระพือปีก และ พิโรธ กับประธานที่ไม่มีชีวิตช่วยแสดงถึงภาพความรุนแรงของพายุราวกับสิ่งมีชีวิตที่ฉุนเฉียวรุนแรงพร้อมจะทำลายล้างทุกสิ่งที่ขวางทางมัน นอกจากจะเป็นการสื่อภาพที่มีชีวิต และเคลื่อนไหวในภาพความคิดของผู้อ่านได้แล้ว ฉากเปิดเรื่องดังกล่าวยังสามารถเป็นสัญลักษณ์ชี้นำบรรยากาศความวุ่นวายโดยรวมของเรื่องว่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยได้ผ่านมรสุมสุดเกรี้ยวกราดมาแล้วเท่าใด กระนั้นก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่มาถึงทุกวันนี้เฉกเช่นต้นไทรที่ได้อ้างถึงในตอนแรก

 

                  หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในตอน 2508 ผู้แต่งก็ได้เริ่มต้นด้วยการพรรณนาว่า “อัคคีเร่าร้อนระริก แลบแปลบไปมาดุจลิ้นอสรพิษ ปลายแฉกไร้รูปฉกตวัดเปลวสีแดงส้มพล่านพลุ่งจากเมรุเผา”การเปรียบเทียบไฟเผาศพกับลิ้นงูพิษนอกจากจะวาดภาพเปลวไฟร้อนระอุที่พวยพุ่งได้ชัดเจนให้กับผู้อ่านแล้วยังสามารถสื่อเป็นนัยได้อีกว่าการตายของคนเหล่านี้จะต้องเป็นการตายที่ไม่ถูกต้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พวกเขาอาจถูกฆ่าอย่างอยุติธรรม หรือเป็นพวกเขาเองที่ได้กระทำความอยุติธรรมกับผู้อื่นก่อนตาย เนื่องจากอสรพิษเป็นสัญลักษณ์แทนความชั่วร้าย จึงเป็นภาพที่สื่อความหมายได้ดีในการพรรณนาอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

              จะเห็นได้ว่าการใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ชี้นำอารมณ์ของผู้อ่านได้ดีก่อนจะนำเสนอเนื้อหาจริงให้ผู้อ่านได้ตัดสินถูกผิด และเนื่องด้วยอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนความคิดมนุษย์ หากถูกนำด้วยอารมณ์แล้วผู้อ่านก็จะคล้อยตาม และเข้าถึงสารของผู้แต่งได้โดยง่าย

 

                ประเด็นที่สองคือข้อคิดสำคัญที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเป็นเรื่องสั้นรวมมิตรจานใหญ่ แต่ละเรื่องจึงมีความคิดสำคัญที่หลากหลายของตัวเอง ผู้เขียนบทความจึงเลือกข้อคิดที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งอยู่ในชื่อเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน มาพิจารณาว่าความจริงแล้วผู้แต่งต้องการจะสื่อความ หรือข้อคิดอะไรผ่านการเล่นคำที่แปลกใหม่อันนี้

 

                ผู้แต่งกล่าวถึงความคิดเรื่อง เส้นขนาน ครั้งแรกในเรื่องผ่านคำพูดของเสือย้อย หรือหลวงกฤษดาวินิจกับร.ต.ต ตุ้ยว่า “เราทั้งสองกำลังยืนอยู่คนละฝ่าย คนละอุดมการณ์ ยืนอยู่บนเส้นขนาน ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก ไม่มีสีขาว ไม่มีสีดำ” หากตีความจากบริบทแล้ว ย้อย และ ตุ้ย ต่างเป็นตัวแทนของสองฝั่งการเมือง คือฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายรัฐบาล ตามลำดับ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นตรงสองเส้นที่ต่างก็มุ่งตรงไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ เพียงแต่ต่างอุดมการณ์เท่านั้น และสิ่งที่ทำจะถูก หรือผิดก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายใครเป็นผู้มีอำนาจ และกำหนดกฎเกณฑ์ให้เข้าข้างพรรคพวกของตนเองก็เท่านั้น

 

                ความคิดเรื่อง เส้นขนาน นี้นับเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับเยาวชนทีเดียว เพราะนี่คือสัจธรรมของโลกที่อาจไม่มีสอนในตำราทั่วไป เรื่องความถูกผิด สิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นสิ่งที่สำคัญที่เยาวชนควรจะตระหนักถึง และสามารถใช้ความคิดวิเคราะห์ได้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ปฏิบัติตามที่ผู้มีอำนาจสั่งเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากการไตร่ตรองใด ๆ เพราะเมื่อใดที่สังคมเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์ที่น่ากลัวที่สุดจะสามารถบังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างที่หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอในตอน 2508 ว่ามีการกวาดล้างคอมมิวนิสต์จนเกิด วันเสียงปืนแตก ที่ชาวบ้านตอบโต้กลับเจ้าหน้าที่รัฐบาล หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนตุลาคม และวันพฤษภาทมิฬในปี 2516 2519 และ 2535 ตามลำดับ ล้วนเป็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนองเลือดที่มีแต่ผู้บริสุทธิ์ต้องมาเข่นฆ่ากันเพียงเพราะอีกฝ่ายคิดเห็นไม่ตรงกับตนเอง หรือผู้มีอำนาจสั่งการมาเท่านั้น ซึ่งไม่เคย และไม่มีวันเป็นทางออกของปัญหาที่ยั้งยืนได้เลย

 

                เหตุการณ์รุนแรงอาจไม่เกิดขึ้น หรืออาจลดความรุนแรงลงมากหากทุกคนเข้าใจหลักการของ เส้นขนาน ที่ผู้แต่งนำเสนอ ดังจะเห็นได้จากตอน 2523 ที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯขณะนั้นมีคำสั่ง 66/2523 ให้เลิกใช้ความรุนแรงและหันมาพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงแทนการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ และในตอนนี้เองที่ผู้แต่งได้กล่าวถึง เส้นขนานแนวคิดประชาธิปไตย อีกครั้งว่า “เริ่มจะเบี่ยงตัวรวมเป็นเส้นตรงเส้นเดียวกัน”การรวมเป็นเส้นเดียวกันเปรียบเสมือนความปรองดอง ซึ่งอาจหมายความได้ว่านี่คือสาระสำคัญที่คุณวินทร์ผู้แต่งสนับสนุน หรืออาจเห็นว่าเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดของการเมืองประเทศไทย

 

               ประเด็นสุดท้าย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ในฐานะบทเรียนบทสำคัญ เนื่องด้วยประวัติศาสตร์ไม่ว่าของชนชาติใดก็มีเนื้อหาที่ยาก และมีรายละเอียดเยอะจนผู้เรียนเผลอหลับได้ง่าย ๆ แต่อย่างไรก็เป็นบทเรียนอันสำคัญที่ทุกคนควรศึกษา อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก ผู้เขียนบทความจึงอยากสนับสนุนให้หนังสือนิยายเล่มนี้ที่ผู้เรียนน่าจะอ่านได้อย่างสนุกสนานมากกว่าตำราเรียนประวัติศาสตร์ปกติ ได้เป็นหนึ่งในบทเรียนที่เยาวชน นักเรียน หรือผู้ที่สนใจได้มาศึกษาประวัติประชาธิปไตยไทยว่าล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไรบ้างในแง่มุมที่มีอารมณ์ ความรู้สึกร่วมด้วย เพื่อตอกย้ำความขมขื่นของเหตุการณ์ที่ผ่านมา แล้วร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก

 

                นอกจากจะได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ผู้เขียนบทความยังเห็นว่าการศึกษาวรรณกรรมในชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนไทยจะมุ่งเน้นที่วรรณคดีสมัยก่อนเสียมากกว่า อาจทำให้ทักษะการอ่านและตีความวรรณกรรมสมัยใหม่ไม่ค่อยได้พัฒนา การเพิ่มนิยายเล่มนี้เข้าไปในหลักสูตรจึงนับเป็นทางเลือกที่ดีที่นักเรียนจะได้ฝึกวิเคราะห์สิ่งใหม่ ๆ หลากหลายมากขึ้นกว่าจะวิเคราะห์แต่สิ่งที่ดั้งเดิมตามประเพณี ดังที่ผู้เขียนได้ฝึกวิเคราะห์ในบทความนี้เช่นกัน

 

                อีกทั้งหนังสือเล่มนี้ยังนับเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนที่กระตุ้นความกระตือรือร้นในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเรื่องเน้นความสนุก และความรวดเร็วในหลาย ๆ จังหวะของการบรรยาย จึงทำให้ในบางฉากอาจขาดรายละเอียดที่ชัดเจน ผู้อ่านที่ไม่เคยทราบว่าเมื่อตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น หรือหลงลืมจากการบทเรียนที่เคยร่ำเรียนมาก็จะเกิดความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มเติม จึงถือเป็นการส่งเสริมการหาความรู้จากตำราที่เคยศึกษา แหล่งหนังสือเล่มอื่น ๆ หรือการค้นข้อมูลอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมได้

 

                โดยสรุปแล้วจากการวิเคราะห์และพิจารณานิยายเรื่อง ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ในเรื่องกลวิธีทางวรรณศิลป์ ข้อคิด และการใช้ประโยชน์เป็นบทเรียนแล้ว ผู้เขียนบทความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เปี่ยมล้มไปด้วยความรู้ ทั้งทางประวัติศาสตร์ ทางแง่คิดการมองโลก ดังที่เห็นจากเรื่องความถูกผิด หรือทางการศึกษาวรรณกรรมที่ต้องตีความ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นมากกว่านิยาย เป็นมากกว่าเรื่องสั้นรวมมิตร หรือเป็นมากกว่าตำราเรียนทั่วไป เพราะหนังสือเล่มนี้สามารถเป็นทุกอย่างที่ผู้อ่านจะคิดวิเคราะห์แยกแยะออกมาได้ ผู้อ่านสามารถสนุก มีอารมณ์ร่วม และได้รับแง่คิดการอยู่ในสังคมที่ดียิ่งขึ้นได้ เพราะการศึกษาไม่ว่าจะประวัติศาสตร์ หรือการเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่ใกล้ตัว และมีอิทธิพลอยู่เหนือประชาชนทุกคน เมื่อใดที่คนในสังคมหยุดที่จะคิด หรือหาความรู้ เมื่อนั้นพลังอำนาจจะเข้าครอบงำได้โดยง่าย และคนบนเส้นขนานทั้งสองเส้นก็จะไม่มีวันอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

 

บทวิจารณ์โดย พิเนต แสงบุญเรืองกุล

 

Writer

The Reader by Praphansarn