ใครหรือ คือ นักเขียนผี...เขียนอะไร...เขียนทำไม : โกสต์ไรท์เตอร์ (Ghost Writer) หรือที่แปลว่า "นักเขียนผี" คือนักเขียนรับจ้างที่ทำหน้าที่แทนเจ้าของเรื่องที่เป็นศิลปิน ดารา หรือคนดัง

ใครหรือ คือ นักเขียนผี...เขียนอะไร...เขียนทำไม

"โกสต์ไรท์เตอร์" (Ghost Writer) หรือที่แปลว่า "นักเขียนผี" คือนักเขียนรับจ้างที่ทำหน้าที่แทนเจ้าของเรื่องที่เป็นศิลปิน ดารา หรือคนดัง ที่อาจจะไม่มีเวลา หรือขาดทักษะความสามารถด้านการเขียน โดยโกสต์ไรท์เตอร์จะเป็นผู้สัมภาษณ์ แล้วเรียบเรียงเพื่อนำเสนอให้เหมาะสมกับตัวเจ้าของเรื่องรวมถึงลักษณะการใช้คำพูดที่สอดคล้องกับบุคลิก ซึ่งอาชีพนี้สามารถทำรายได้งามมิใช่เล่น จนถึงกับมีโครงการฝึกอบรมสำหรับการเป็นโกสต์ไรท์เตอร์กันเลยทีเดียว

แต่ถึงกระนั้น ประเด็นสำคัญในความนิยมของหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมือการเขียน แต่อยู่ที่ความมีชื่อเสียงของตัวผู้เขียนเอง (เจ้าของหนังสือ) เพราะผู้อ่านบางคนก็ไม่ได้สนใจว่าหนังสือนั้นจะมีประโยชน์หรือสาระอะไรบ้าง แต่อ่านเพราะเป็นหนังสือของศิลปินดารา หรือคนดังที่ตนเองชื่นชอบ เราจึงเห็นว่าหลายคนออกหนังสือมาเพื่อขายให้กับกลุ่มแฟนคลับตนเองโดยเฉพาะ ซึ่งการเขียนแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาที่แรง หรือแฉใครก็ขายได้อยู่แล้ว เผลอๆ หากลองพลิกเนื้อใน อาจจะพบเพียงภาพเป็นส่วนใหญ่

บรรดาแฟนคลับของนักร้องชื่อดังหลายๆ คน ต่างให้เหตุผลที่คล้ายกันว่า หนังสือที่ซื้อมาปกติก็ไม่ได้ดูที่เนื้อหา ว่าเขาจะเขียนเรื่องอะไร เป็นประโยชน์แค่ไหน เขียนเองหรือเปล่า เพียงเห็นเป็นชื่อของศิลปินที่ชอบก็จะควักกระเป๋าซื้อมาเลย ซึ่งเป็นเหมือนการเก็บสะสมมากกว่า และหลายครั้งซื้อไปก็แทบจะไม่เคยเปิดอ่านเลยด้วยซ้ำ

 

ใครหรือ คือ นักเขียนผี...เขียนอะไร...เขียนทำไม

 

Ghost Writer ยุคใหม่...ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งชื่อ โดยปกติแล้ว ตามที่เราทราบกัน หนังสือที่ใช้ นักเขียนผีถ่ายทอด จะไม่ลงชื่อนักเขียน เพื่อที่จะให้คนอ่านเข้าใจว่าเจ้าของเรื่องเป็นผู้เขียนเอง แต่ปัจจุบันนี้กฎเกณฑ์นี้ได้ถูกลบทิ้งเสียแล้ว เพราะGhost Writer ยุคใหม่ ต่างก็มีความต้องการจะได้เครดิตในการทำหนังสือเช่นกัน โดยจะใส่ชื่อลงไปในคำว่า "ผู้เรียบเรียง" บนหน้าปก

การเขียนหนังสือในฐานะ Ghost Writer มืออาชีพนั้น มิใช่ทำกันง่าย ๆ เพราะจะต้องใช้ความรู้ความสามารถ และเวลาในการผลิตชิ้นงานอย่างมาก เรียกว่าถ้าเอาเวลาไปผลิตผลงานที่เป็นชื่อของตัวเองจะดีกว่าไปทุ่มเวลาให้กับใครก็ไม่รู้ที่ทำงานเสร็จแล้วตัวเองก็ไม่ได้ชื่อ

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่นักเขียนรับจ้างในปัจจุบันจะมีข้อตกลงกับเจ้าของเรื่อง หรือผู้ว่าจ้างว่า จะต้องลงชื่อตัวเองในฐานะ "ผู้เรียบเรียง" หรือ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเมื่อหลายปีก่อน คือ ลงชื่อในนามของ บรรณาธิการเล่ม แต่ในประเด็นนี้ ในต่างประเทศเจ้าของหนังสือเองได้มีการเปิดเผย และทำกันมานานนานแล้ว พร้อมให้เกียรติคนเขียน โดยนั่งเคียงกันแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเล่มนั้นๆ โดยลงชื่อไว้ว่าเป็น "ผู้เรียบเรียง"

 

ขอบคุณที่มา : http://www.oknation.net

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ