ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมและวรรณคดี : จากการที่ได้ศึกษาความหมายของคำว่า วรรณกรรม และ วรรณคดีนั้นแม้มองเผิน ๆ ดูเหมือนว่าจะมีความหมายเกือบคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีผู้เข้าใจผิด ๆ ระหว่างการใช้ 2 คำนี้อยู่

ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมและวรรณคดี

จากการที่ได้ศึกษาความหมายของคำว่า วรรณกรรม และ วรรณคดีนั้นแม้มองเผิน ๆ ดูเหมือนว่าจะมีความหมายเกือบคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีผู้เข้าใจผิด ๆ ระหว่างการใช้ 2 คำนี้อยู่เสมอ หากพิจารณาจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใดส่วน วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี

วันเนาว์ ยูเด็น (2537 : 5) กล่าวว่า วรรณกรรมและวรรณคดีแตกต่างกันตรงที่ว่า งานไหนมีคุณค่าทางศิลปะ ก็ถือเป็นวรรณคดี ส่วนวรรณกรรมจะหมายถึงงานทางหนังสือทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจจะมีคุณค่าเพียงทางด้านวิชาการ หรือความคิดเห็นอย่างเดียวก็ได้ หรือหมายถึงงานที่เป็นวรรณศิลป์ก็ได้ ดังนั้นความหมายของคำว่าวรรณกรรมจึงกว้างกว่าคำว่า วรรณคดี

สำหรับ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2514 : 58-133) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์และความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมและวรรณคดีไว้ดังนี้ วรรณกรรมและวรรณคดี ถือว่าเป็นศิลปกรรมชนิดหนึ่ง มีถ้อยคำในภาษาที่พูดและเขียนเป็นวัสดุเช่นเดียวกับเส้นและสี เป็นวัสดุของจิตรกรรม และเสียงเป็นวัสดุของดนตรี นอกจากวัสดุดังได้กล่าวมาแล้ว ศิลปกรรมทั้งหลายมีความคิดและเรื่องราวเป็นเนื้อหา การประกอบศิลปกรรมเป็นสภาวะธรรมดาของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ศิลปกรรมเป็นเครื่องสื่อความหมายหรือสื่อสาร ผู้ประกอบความคิด มีเรื่องราวที่จะสื่อให้แก่ผู้อื่น ความคิดและเรื่องราวเป็นสาร แต่ในบางครั้ง ผู้ประกอบอาชีพอาจเขียนหรือวาดหรือแต่งทำนองดนตรีไว้เพื่อสื่อแก่ตนเองในกาลเวลาต่อไป เพื่อกันความหลงลืม ดังนี้ก็อาจมีได้ วรรณคดีจะจำกัดใช้สำหรับวรรณกรรมที่ได้รับความยกย่องแล้วจากกลุ่มคนที่ได้รับความนับถือจากคนหมู่มากอีกต่อหนึ่ง เช่น เรื่องลิลิตพระลอ พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ เป็นต้น คำว่า วรรณกรรม จะใช้สำหรับหนังสือหรือเอกสารที่ได้ประกอบขึ้น มีลักษณะเป็นศิลปกรรมในฐานะที่มี

รูปแบบ มีวัสดุและเนื้อหาประกอบขึ้นด้วยความพยายามที่จะสื่อสารด้วยประการหนึ่ง วรรณคดีมีคุณค่าทางความรู้ประการหนึ่ง กับคุณค่าทางสัมผัส หรือ รูป รส กลิ่น เสียง อีกประการหนึ่ง สัมผัสของผู้รู้รสวรรณคดีเป็นสัมผัสประณีต สัมผัสด้วยแสงจันทร์ ด้วยเมฆหมอก ด้วยเสียงจักจั่นเรไร จากถ้อยคำที่มีความหมายหนักหรือเบา ตื้นหรือลึก เป็นคำตรงหรือเปรียบเทียบ จากจังหวะ จากโวหารการบรรยายและพรรณนา สัมผัสนำมาซึ่งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ ถ้าโกรธก็โกรธอย่างแสบร้อน ถ้ายินดีก็รื่นรมย์ซาบซ่าน ถ้าริษยาก็รุมเร้าบีบรัด ถ้าเสียดายก็เหมือนถูกแหวะเอาดวงใจไป ถ้าทุกข์ก็ระทมขมขื่น ถ้ารักก็เหมือนจมลงในห้วงทะเลลึก เป็นสัมผัสที่ลึกซึ้งและรุนแรง ถ้าวรรณกรรมใดไม่ทำให้เกิดสัมผัสและอารมณ์ดังกล่าว วรรณกรรมนั้นก็จะไม่จับใจผู้อ่าน และมักไม่ได้รับความยกย่องเรียกว่าเป็นวรรณคดี การที่จะพิจารณาว่า หนังสือเรื่องใดจะเป็นวรรณคดีหรือไม่นั้น ไม่ใช่งานง่ายเลย โดยมากจะหาคนที่เห็นพ้องต้องกันไม่ค่อยได้นอกจากเวลาจะล่วงไปมากและหนังสือนั้นอยู่คงทน พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นหนังสือที่คนอ่านไม่อยากให้สูญไปจากความทรงจำ ประสงค์จะให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้รักษาไว้ แม้กระนั้นจะตัดสินว่าหนังสือนั้นเป็นวรรณคดีเพราะเหตุเท่านั้นก็ยังไม่ได้ เพราะเราอาจประสงค์จะรักษาวรรณกรรมเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรืองานเขียนชิ้นหนึ่งชิ้นใด หรือชุดใดไว้ ด้วยเหตุหลายประการ เป็นต้นว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา เราย่อมอยากให้มีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีทุกฉบับ เพราะประโยชน์แก่คนรุ่นหลังนั้นจะใหญ่หลวง จะเป็นเอกสารสำหรับค้นคว้ากฎหมาย ค้นคว้าภาษากฎหมาย และเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองและการปกครอง เป็นกระจกบานใหญ่ส่องให้ดูชีวิตของไทยได้หลายด้าน แต่ราชกิจจานุเบกษาก็คงไม่มีผู้ใดนับว่าเป็นวรรณคดี ในความหมายที่พิจารณานี้ เรามีทางตั้งเกณฑ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจรัดกุมกว่าอีกเล็กน้อย คือ วรรณกรรมใดเราใคร่เก็บรักษาไว้เป็นมรดกตกทอดถึงคนรุ่นหลัง เพื่อหวังประโยชน์ทางวรรณศิลป์วรรณกรรมนั้นจึงเข้าข่ายของวรรณคดี

ส่วนชลธิรา กลัดอยู่ (2517 : 83-84) ได้กล่าวเสริมว่าเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญในการพิสูจน์คุณค่าของวรรณคดี ในขณะเดียวกันศิลปะการประพันธ์ เป็นสิ่งพิสูจน์คุณค่าของวรรณคดีในแง่วรรณศิลป์ วรรณคดีที่แท้จริงต้องมีความพร้อมในคุณค่าทั้งสองด้าน งานเขียนชิ้นใดมีคุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แต่ขาดคุณค่าทางศิลปการประพันธ์ ก็เป็นเพียงงานเขียนที่ดีมิใช่วรรณคดี และงานเขียนใดมีแต่คุณค่าด้านศิลปการประพันธ์ แต่ขาดน้ำหนักคุณค่าด้านเนื้อหา ก็เป็นเพียงงานศิลปที่ฉาบฉวย ไม่ควรยกย่องว่าเป็นวรรณคดี

สำหรับนวลจันทร์ รัตนากร (2526 : 28) อธิบายว่าวรรณคดีหมายถึง งานประพันธ์ชิ้นเลิศ สมบูรณ์ด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ไม่ว่าใครจะเป็นผู้เขียน และเขียนในสมัยใด เช่น ลิลิตพระลอ อิเหนาขุนช้างขุนแผน ส่วนวรรณกรรม หมายถึงงานเขียนทั่ว ๆ ไป ทุกชนิดทุกประเภท ที่สามารถสื่อความได้ ดังนั้นงานเขียนทั้งหมดจึงเป็นวรรณกรรม แต่มีงานเขียนบางชิ้นเท่านั้นที่เป็นวรรณคดี

ทางด้าน กุสุมา รักษมณี (2534 : 15-17) ได้ให้แนวคิดว่างานประเภทใดเรียกว่า วรรณคดี และประเภทใดเรียกว่าวรรณกรรมโดยให้ความเห็นว่า วรรณคดีใช้ในความหมายเจาะจงว่าเป็นงานประพันธ์ในสมัยก่อน และเป็นงานที่มีคุณค่า มีผู้ยกย่องเป็นเพราะกาลเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์เป็นที่ยอมรับ ส่วนวรรณกรรมใช้ในความหมายกว้างกว่า เป็นงานประพันธ์ทั่ว ๆ ไป และความหมายเจาะจงว่าเป็นงานประพันธ์ร่วมสมัย คำศัพท์ทั้งสองคำนี้ไม่น่ามีปัญหาถ้ามีคำอธิบายที่แจ่มแจ้งชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้เสียแต่ต้น โดยเฉพาะคำอธิบายในพจนานุกรมที่เป็นหลักในการใช้ภาษาไทย แต่พจนานุกรมก็บอกเพียงแต่ว่า วรรณกรรมคืองานหนังสือ วรรณคดีคือหนังสือที่ได้ยกย่องว่าแต่งดี ตามความหมายนี้วรรณกรรมเป็นคำกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นงานร่วมสมัยหรือไม่ ส่วนวรรณคดีเป็นคำเจาะจง ถ้าเช่นนั้น นวนิยายเรื่อง "ตลิ่งสูง ซุงหนัก" ของนิคม รายยวา ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนก็น่าจะเป็นวรรณคดี เพราะต้องแต่งดีจึงได้รับการยกย่อง แต่ก็ไม่มีใครเรียกว่าวรรณคดี หรืออาจจะรอให้พ้นจากสภาพวรรณกรรมร่วมสมัยก่อน

พร้อมกันนี้ได้อ้างถึงข้อคิดเห็นของพระยาอนุมานราชธนว่า หนังสือที่แต่งขึ้นและเขียนตีพิมพ์เป็นเรื่องแล้ว ย่อมเรียกได้ว่าเป็นวรรณคดี แต่หนังสือที่วรรณคดีสโมสรยกย่องสมควรได้รับประโยชน์คือ หนังสือที่มีลักษณะตามที่กำหนดเงื่อนไขไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้นส่วนหนังสืออื่นๆ ซึ่งไม่เข้าอยู่ในข่ายแห่งข้อความในพระราชกฤษฎีกาก็ต้องถือว่าเป็นวรรณคดีด้วยเหมือนกัน และอธิบายเพิ่มเติมว่าวรรณคดี เป็นศัพท์บัญญัติมาจากคำว่า Literature ซึ่งมี 2 ความหมายดังนี้

1. ข้อเขียนที่แต่งขึ้นเป็นหนังสือ จะแต่งดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องดีหรือเลว จะเป็นหนังสือของชาติใด ภาษาใด หรือยุคใด - สมัยใด ก็ได้ชื่อว่าเป็นวรรณคดีทั้งนั้น
2. บทประพันธ์ซึ่งมีลักษณะเด่นในเชิงประพันธ์ มีค่าทรงอารมณ์ และความรู้สึกแก่ผู้อ่านผู้ฟัง เป็นวรรณคดีที่มีวรรณศิลป์

หากพิจารณาตามความหมายที่พระยาอนุมานราชธนได้ให้ไว้ ความหมายแรก ซึ่งเป็นความหมายกว้างของคำว่าวรรณคดี น่าจะหมายถึง วรรณกรรม ส่วนความหมายที่สองเป็นความหมายเฉพาะของคำว่าวรรณคดี ซึ่งหมายถึง หนังสือที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี

จากข้อคิดเห็นของกุสุมา รักษมณี ได้สอดคล้องกับแนวความคิดของ รัญจวน อินทรกำแหง , สมพันธุ์ เลขะพันธุ์และ ประทีป วาทิกทินกร (2519 : 4-5) ที่ได้กล่าวถึงความแตกต่างของวรรณกรรมและวรรณคดีว่า นอกจากจะถือคุณสมบัติด้านวรรณศิลป์เป็นเครื่องแบ่ง วรรณคดีกับวรรณกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ถือคุณสมบัติด้านเวลา หรือความเก่า - ใหม่ เป็นเครื่องแบ่งวรรณกรรมกับวรรณคดีด้วย กล่าวคือ จะถือว่าหนังสือซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่ต้นจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเวลาที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกเป็นหนังสือประเภทวรรณคดี และถือว่าหนังสือที่เขียนขึ้นหลังจากนั้นอันเป็นเวลาที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตกแล้ว เป็นหนังสือประเภทวรรณกรรม และยังสอดคล้องกับแนวความคิดของรุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน (ม.ป.ป. : 1) ซึ่งกล่าวว่าคำว่า "วรรณคดี" หรือ "วรรณกรรม" ต่างแปลมาจากคำว่า "Literature" โดยขออนุญาตใช้คำว่า "วรรณคดี" ในกรณีที่พาดพิงถึงงานเขียนในอดีต และใช้คำว่า "วรรณกรรม" กรณีที่กล่าวถึงงานเขียนร่วมสมัยหรืองานเขียนปัจจุบัน

ส่วนม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2539 : 155) กล่าวว่า คำว่า "วรรณกรรมกับวรรณคดี บางคนใช้แทนกันได้ไม่แยกความหมายกัน แต่บางคนแยกออกจากกัน ใช้คำว่าวรรณคดี หมายถึง วรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องแน่ชัดแล้วส่วนคำว่าวรรณกรรม ใช้เพื่อหมายถึง งานประพันธ์ที่ใช้วาจาเล่าบอก ร้องเป็นเพลง โดยยังไม่ได้เขียนลงเป็นตัวอักษรเลยก็มี ในที่นี้จะใช้วรรณกรรม ในความหมายกว้างที่สุด ครอบคลุมถึงงานเขียน งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่อง ไปจนถึงเรื่องเล่า และบทร้องที่ยังไม่ได้เขียนเป็นตัวอักษรด้วย

จากทัศนะและความคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้เขียนถึงความแตกต่างระหว่าง วรรณกรรมกับวรรณคดีพอสรุปได้ว่าความแตกต่างนั้นมีอยู่ 2 ประการ คือ คุณภาพของงาน และกาลเวลาของการผลิตงาน ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้น นั่นก็คือ วรรณกรรม หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นหนังสือดีหรือไม่ดี กล่าวคือไม่มีการประเมินค่าหนังสือแต่อย่างใด ส่วนวรรณคดี หมายถึง งานเขียนที่มีวรรณศิลป์ หรือแสดงศิลปะของการแต่ง และการประสานองค์ประกอบอื่น ๆ เข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน เช่น ความงามของภาษา ความงามของเนื้อหาที่กลมกลืนกับรูปแบบ ความงามความมีสาระ ข้อคิดเห็นหรือแนวคิดที่แทรกแฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง ส่วนประเด็นทางด้านกาลเวลา (เฉพาะวรรณคดีไทย) จะเขียนขึ้นตั้งต้นจนถึงรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นเวลาที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมตะวันตก ก็ถือเป็นวรรณคดีทั้งสิ้น

 

ขอบคุณที่มา : https://www.eduzones.com/knowledge-2-1-1850.html

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ