ศ.ดร.ระวี ภาวิไล : เรียนรู้โลกและชีวิต

ศ.ดร.ระวี ภาวิไล

ต้องกล่าวว่า ศ.ดร.ระวี ภาวิไล คือปราชญ์ผู้รู้ทั้งสองศาสตร์ ศาสตร์แรกคือวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ที่สองคือพุทธศาสนา ทั้งสองศาสตร์นี้อาจารย์ระวีมองว่า - เป็นคนละเรื่องเดียวกัน และแม้ว่า ณ บั้นปลายชีวิตของอาจารย์จะละทิ้งวิทยาศาสตร์ ถึงจะศึกษาบ้างก็แต่เพียงน้อยนิด เนื่องจากในเวลาที่เหลือ - อาจารย์มีสิ่งที่ไม่รู้ต้องศึกษาอีกมากมาย...

"ผมยังไม่รู้อะไรอีกเยอะ... วิทยาศาสตร์ผมเลิกสอนมานานแล้ว แต่อันที่จริงผมก็ต้องตามเรียนรู้อยู่บ้างก็เพราะผมถูกถามอยู่เรื่อยเวลาเกิดโน้นเกิดนี่ เขาควรจะไปหาคนอื่นบ้าง เหตุที่ผมสนใจน้อยเพราะว่าผมมีเวลาเหลือน้อย อายุผมจวนจะ 79 แล้ว พระพุทธเจ้า ปรินิพาน 80 ผมไม่รู้ว่าผมจะอยู่ยาวกว่าพระพุทธเจ้าหรืออายุสั้นกว่าด้วยซ้ำไป แต่-ผมยังอยากรู้ อยากเข้าใจ สิ่งที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ

การที่จะรู้ - เข้าใจ มาถึงตรงนี้ผมต้องพูดถึงวิทยาศาสตร์ก่อน นั้นคือสมอง มักมีคนคิดว่า จิตไม่มีหรอก มีแต่สมอง รู้จักสมองแล้วจะรู้จักพฤติกรรม แล้วก็ไม่ต้องอธิบายด้วยจิต แต่มีอีกพวกหนึ่งบอกว่าไม่ได้ มันไม่มีได้อย่างไร จิตเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์เฉพาะหน้า คุณคิดว่าคุณมีการรับรู้หรือเปล่า ไม่ต้องไปอ้างถึงว่ามันรับรู้เพราะแสงมาเข้าตา หรือเสียงมาเข้าหู ถึงรับรู้ แต่รับรู้หรือเปล่า แม้แต่นอนหลับไปก็ยังไปรับรู้อีกโลกหนึ่งที่เป็นโลกของความฝัน ทั้งหมดเหล่านี้มันควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ผมกำลังพยายามทำความเข้าใจ เข้าใจได้แค่ไหนก็แค่นั้นนะ เพราะเวลาผมเหลือน้อยแล้ว แล้วธุระอะไรผมถึงจะไปยุ่งกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ ใครเชิญผมไปไหน ผมจึงมักจะไม่ไป แม้แต่คุณติดต่อมาผมก็ยังจะไม่ให้สัมภาษณ์เลย ผมต้องการกาลเวลาทั้งหมดเป็นของผมเพื่อทำงานที่เป็นส่วนตัว "

นับจากเวลานี้เป็นต้นไปอาจารย์ระวี ภาวิไล จะทุ่มเวลาทั้งหมดเพื่อศึกษาพุทธศาสนา "ผมสนใจเรื่องการวิเคราะห์จิตใจ คัมภีร์อภิธรรม เรียกว่าหลังจากเป็นอภิธรรมปิฎก อภิธรรมปิฎกเรียกว่าเป็นเนื้อแท้ของความรู้ในพุทธศาสนา ผมไม่จำเป็นต้องนำเอาวิทยาศาสตร์มาจับในพุทธศาสนา มีคนที่พยายามที่จะอธิบายหลักกรรมโดยปฏิกิริยาแอ็คชั่น รีแอ็คชัน หรืออธิบายสวรรค์ นรก โดยกล่าวถึงโลกอื่น ดาวดวงอื่น ผมไม่เอาด้วยหรอก ….มันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน (หัวเราะ)

ด้านของชีวิตมันมีสองด้าน พระพุทธเจ้าท่านได้จำแนกไว้ในคำสอนแล้วคือ รูปกับนาม รูปคือด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปศึกษามาก นามคือด้านที่เป็นเรื่องของจิตใจ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ศึกษาเท่าไร คนตะวันตกเขาก็ศึกษาเหมือนกันแต่ศึกษาในนามจิตวิทยา เรื่องของนาม จิตใจนั้นมีหมดแล้วในคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็มาปรากฏในพระอภิธรรมเป็นระบบเลยทั้งรูปทั้งนาม ...

ผมพูดในที่หลาย ๆ แห่ง พระพุทธเจ้าท่านทรงกล่าวถึงเรื่อง - โลกและชีวิต โลกคืออะไร ชีวิตคืออะไร เราจะเข้าใจโลกและชีวิตได้อย่างไร ... เราจะเข้าใจได้ในกายยาววาหนาคืบที่มีใจครอง วาหนึ่งนั้นมันเท่ากับความสูงของร่างกายเราพอดีนะ เพราะฉะนั้นกายยาววาหนาคืบหนึ่งคือรูปกายนี่แหละ และที่บอกว่ามีใจครอง ก็คือใจประกอบอยู่ด้วยนะ ใจที่ประกอบรูปนามนี้ ไม่ได้ไปประกอบรูปนามนั้น (หัวเราะ) ของใครก็ของใคร แต่รูปนามนั้นจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกันนั้นมันอีกระดับหนึ่ง

เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจโลกและชีวิตได้ เราต้องเข้าใจตัวเองก่อน คือกายยาววาหนาคืบที่มีใจครองให้ถ่องแท้แล้วก็จะเข้าใจโลกและชีวิตทั้งหมด ไม่ต้องไปหาที่อื่น "

"สิ่งที่ผมพูดมันอาจดูง่ายนิดเดียว เขาเรียกว่าเส้นผมบังภูเขา (หัวเราะ) มันง่ายแบบเส้นผมบังภูเขา ถ้าหากว่าในตาคุณนั้นถูกอะไรบังสักนิดเดียวคุณก็ไม่เห็นภูเขา ถ้าเส้นผมมาแหย่กลางตาของคุณ ประสาทตาคุณก็เสีย คนที่จะศึกษาเรื่องนี้ต้องเป็นคนที่มองกว้าง..."

อาจารย์ระวี ภาวิไล ได้เขียนสรุปทิ้งท้ายไว้ในบทความ "เรียนรู้โลกและชีวิต" ไว้ว่า... …การจำแนกสรรพสิ่ง เป็นการสนองตอบความปรารถนาของจิตที่ปรุงแต่งความคิด เพื่อยืนยันสมมติบัญญัติความเป็นตัวตนให้คงอยู่ ในกระบวนการแยกออกจากหนึ่งเป็นสอง สิบเป็นร้อย เป็นพันเป็นแสน ถึงอสงไขยไม่สิ้นสุดในความหลากหลาย กระบวนการย้อมรวมจากอสงขัยกลับถึงหนึ่งแล้วก็สูญสิ้นความเป็นตัวตน พันกาลอวกาศ จิตอันเป็นผลสะสมของอดีตก็ไม่เหลือ ความคิดปรุงแต่งใด ๆ ก็สิ้นสุดลง...

ดังนั้นหากเราเข้าใจกายยาววาหนาคืบที่มีใจมาครอง เราก็จะเข้าใจโลกและชีวิตของเราได้อย่างถ่องแท้...

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ