มาเปิดร้านหนังสืออิสระสู้ยักษ์กันเถอะ : กำลังใจใหม่สำหรับคนอยากเปิดร้านหนังสือ

มาเปิดร้านหนังสืออิสระสู้ยักษ์กันเถอะ

มาเปิดร้านหนังสืออิสระสู้ยักษ์กันเถอะ

หลังจากที่ผมร่ายยาวเรื่อง ร้านหนังสือสามัญชน ปรากฏว่ามีคนที่สนใจอยากเปิดร้านหนังสือเขียนจดหมาย โทรศัพท์ อีเมล เข้ามาพูดคุยเยอะมากครับ ทั้งที่ติดต่อโดยตรงเข้ามาที่ จุดประกายวรรณกรรม และติดต่อสอบถามผ่านอีเมลของผม น่าดีใจนะครับ ที่มีนักอ่านอยากจะเจ๊ง...อุ๊ย...อยากจะประสบความสำเร็จในการทำร้านหนังสือ ซึ่งต้องเรียนตรงๆ ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี

เพราะการที่มีคนสนใจจะเปิดร้านหนังสือกันมาเท่าไร แสดงว่าโอกาส-ทางเลือกและทางรอดของสำนักพิมพ์เล็กๆ ย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะในเมื่อไม่มีกำลังทางการผลิตมากพอที่จะส่งหนังสือเข้าไปวางจำหน่ายตาม ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาเยอะๆ หรือว่าพิมพ์หนังสือออกมาแล้วปรากฏว่าร้านใหญ่ไม่รับเข้าไปวางจำหน่าย อ้างว่าพื้นที่มีจำกัดบ้าง, แนวหนังสือไม่ตรงกับความต้องการของทางร้านบ้าง ฯลฯ การสร้างร้านหนังสืออิสระจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญมาก

แต่แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จและโอกาสที่จะล้มเหลวมันมีน้ำหนักพอกัน อยู่ที่ว่าเจ้าของร้านหนังสือนั้นๆ มีความสามารถและมีสายสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์ต่างๆ รวมไปถึงเงินทุนมากน้อยขนาดไหน ความจริงที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ก็คือว่าไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือว่าร้านใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เงิน!! ถ้าอยากเปิดร้านหนังสือเองแบบเต็มรูปแบบ สามารถจะยืนท้าชนกับร้านยักษ์ใหญ่ให้ได้

บอกเลยว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณอย่างน้อย 1-2 ล้านบาทครับ สำหรับร้านหนังสือขนาดอาคารพาณิชย์ 2 คูหาซึ่งมันจะทำให้มีพื้นที่ใช้สอยของร้านประมาณ 100 ตารางเมตร ซึ่งต้องเรียนก่อนว่านี่เป็นงบลงทุนที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าตึก นะครับ (เรียกว่าได้ตึกมาฟรีๆ ว่างั้นเถอะ) ส่วนในการสั่งหนังสือเข้ามา วางจำหน่ายนั้น ถ้าทำเองบริหารเองทั้งหมด คุณก็ต้องติดต่อกับสายส่งใหญ่ๆ ให้ได้ก่อน เพื่อให้เริ่มต้นง่ายๆ สำหรับหนังสือหน้าแผง ประเภทนิตยสาร, หนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์ ฯลฯ ส่วนสำนักพิมพ์เล็กๆ นั้นถือว่าเป็นพันธมิตรสำคัญที่คุณจะต้องทำ เพราะมีร้อยถึงสองร้อยกว่าราย และแม้จะมียอดขายแต่ละรายไม่เยอะมากนัก ถ้าร้านของคุณเป็นร้านหนังสือทางเลือก นี่คือ 'หัวใจสำคัญ' เป็นอาวุธไม้เด็ดที่จะใช้ในการสร้างส่วนแบ่งในตลาด สำนักพิมพ์แต่ละแห่งก็มีจุดเน้นหรือจุดเด่นที่แตกต่างกัน ก็ต้องแล้วแต่คุณว่าต้องการให้ร้านของเรามีจุดเด่นอย่างไร

วิธีการง่ายๆ อีกอย่างก็คือไปดูพวกร้านที่ขายดีๆ และมีสไตล์ร้านอย่างที่คุณชอบว่าเขาเลือกหนังสือของสำนักพิมพ์ไหนมาขายบ้าง เลือกเล่มไหนบ้าง จะสั่งตามเขาก็ได้หรือว่าเลือกหนังสือเฉพาะแนวของร้านคุณก็ได้ ส่วนวิธี ติดต่อก็เพียงดูข้างในตัวหนังสือ จะมีรายชื่อผู้จัดจำหน่ายอยู่ แค่นี้เองครับ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการค้าส่วนใหญ่จะเป็นการฝากขายประมาณ 80% ของสินค้าทั้งหมด แต่ถ้าคุณอยู่ต่างจังหวัด อาจมีสัดส่วนการซื้อขาดมากกว่านี้ ซึ่งอาจเป็นการซื้อขาดเปลี่ยนสินค้าได้ (พูดง่ายๆ คือคุณรับหนังสือของเขามาขาย ถ้าขายไม่ได้ เขาไม่คืนเงินให้นะ แต่ให้เปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นได้) นอกจากนั้น หนังสือที่จะขอเปลี่ยนหรือของคืนจะต้องอยู่ในสภาพที่ขายใหม่ได้เท่านั้น ตรงนี้จะต้องระวังและอบรมพนักงานให้ดีเรื่องการบริหารคลังหนังสือส่งคืน ถามว่าความเสี่ยงทางธุรกิจร้านหนังสือมันอยู่ตรงไหน

ว่ากันตรงไปตรงมาคือความเสี่ยงอยู่ตรงที่ขายหนังสือไม่ได้ แต่มีค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าไปๆ มาๆ หรือคืนไม่ได้ หรือมีหนังสือหาย อย่า ฝันแค่ว่าเอาหนังสือเขามาวางขายในร้านแล้วการกินเปอร์เซ็นต์อย่างเดียวสบายๆ นะ เพราะในการทำงานในการทำธุรกิจไม่มีอะไรง่ายหรือว่าได้มาเพราะฟลุ้คหรอก ทุกอย่างมันต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก เอาใจใส่และใช้ความอดทนอดกลั้น ฯลฯ ยิ่งจะทำร้านหนังสืออิสระที่ไม่ต้องการใช้แบรนด์ชื่อร้านหนังสือใหญ่

ร้านหนังสือดังๆ จะต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งและต้องหาความแตกต่างในตัวสินค้าให้ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าในอนาคตอันไม่ไกลข้างหน้านี้ บรรดาร้านหนังสือทางเลือก ร้านหนังสือเฉพาะแนวจะมีมากขึ้น เพื่อมารองรับสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ไม่สามารถส่งหนังสือเข้าไปวางจำหน่ายในร้านใหญ่ได้ ด้วยข้อจำกัดบ้าง ปริมาณการผลิตบ้าง แต่ถ้าคนทำร้านหนังสือเล็กๆ ไม่มีความอดทน ไม่สามารถที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับบรรดาสำนักพิมพ์เล็กๆ หรือว่ากลุ่มนักเขียนทางเลือกได้ มันก็อาจจะเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะทำให้ร้านหนังสือของคุณประสบความสำเร็จ แต่ถ้าใจสู้เกินร้อยรับรองว่า...ยักษ์ก็ยักษ์เถอะ...เป๋ได้ เหมือนกัน!!

ขอบคุณ : Mr.QC akeakkee@gmail.com

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ