“สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว” : ...กระแสน้ำหลากที่ยังคงไหลวนในจิตของผู้ปราชัย

“สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว”

 

               หากเปรียบเทียบการอ่านบทความหรือหนังสือเล่มใหม่ เป็นการเปิดโลกใบใหม่ นักอ่านสามารถท่องไปบนโลกกว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไร้ซึ่งกรอบขอบความคิดหรือความเป็นจริงใด ๆ  ให้หวาดหวั่น หนังสือพาเราไปทุกแห่งหนพาไปอีกฟากโลก โบยโบกไปอีกฟากฟ้าพาไปพบเมืองเวทย์มนตร์ที่ไม่มีจริงก็ยังได้ และเมื่อยิ่งเติบโตขึ้น ดิฉันได้พบว่าโลกที่หนังสือพาไปยิ่งกว้างกว่าที่คิดเสมอ

 

             หนังสือบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในทุกช่วงเวลา หากอยากทราบอนาคต แนวความคิด นวัตกรรม ความรู้มากมายจะพาเราไป หากอยากทราบปัจจุบันยิ่งแล้วใหญ่ ทุกตัวอักษรพาเราไปได้ทุกประเทศ ทุกเหตุการณ์ข่าว

 

             และยังมีหนังสืออีกประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนเครื่องย้อนเวลา ที่นักเขียนสามารถพาเหล่านักอ่านมากมายของพวกเขา หวนคืนสู่เหตุการณ์ในอดีตได้อย่างอัศจรรย์ใจ

 

             เช้าสดใสกลางอาศรมกลางป่าใหญ่ในวันนี้ ดิฉันได้ย้อนกลับไปพร้อมกับผลงานสารคดีเรื่องหนึ่งของ “เสกสรรค์  ประเสริฐกุล” สู่โลกใบหนึ่งในอดีตที่มีชื่อว่า “สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว”

 

             “สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว” นี้เป็นหนึ่งในสารคดีจากหนังสือรวมสารคดี ของนักเขียน นักปฏิวัติและเป็นศิลปินแห่งชาติที่คนไทยคุ้นชินอย่างกว้างขวาง อย่าง เสกสรร ประเสริฐกุล

ซึ่งได้แต่งขึ้นในเชิงอัตชีวประวัติ โดยเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาเป็นเหตุการณ์และแทรกประวัติของเขาร่วมด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอดีตที่คนไทยยังจำไว้มิลืมเลือน อย่าง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516”

 

             ผู้เขียนได้พาเราย้อนกลับไปยังเหตุการณ์หลังวันสำคัญนี้ในช่วงที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่ามาแล้วถึงมากกว่าห้าปี บอกเล่าการลี้ภัยการเมือง เดินทางขึ้นเขาลงห้วยกลางป่าใหญ่ เสกสรร ประเสริฐกุลถือได้ว่าเป็นผู้สร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ไทยในฐานะปัญญาชนในขณะนั้นเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ผ่านล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้

            ดิฉันในฐานะของเด็กรุ่นใหม่ขอสารภาพอย่างจริงใจว่าไม่มีความเข้าใจมากนักถึงเหตุการณ์ในขณะนั้น อาจได้รับการศึกษาเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ความรู้สึกหรือความนึกคิดของนักศึกษาหรือประชาชนที่กล้าออกมาทวงความยุติธรรมในขณะนั้นเล่า ความเป็นไปหรือการต่อสู้อย่างองอาจนั้นเล่าเป็นเช่นไรจากงานเขียนมากมายทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นและสารคดีเรื่องนี้ได้ต่อยอดความเข้าใจของดิฉันยิ่งขึ้นไปอีกถึงข้อเท็จจริงจากผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์จริงผ่านสารคดีเรื่องนี้

 

สายธารความทรงจำที่บรรเลงเป็นเพลงเศร้าประจำใจ

             ตั้งแต่ต้นเรื่องและคอยแทรกอยู่เสมอ จนตอนท้ายที่สุดผู้แต่งด้บอกเล่าถึงเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับครอบครัวในวัยเด็กที่ฝังใจอย่างเห็นได้ชัด

การเดินทางมาจนถึงลำห้วยใหญ่และได้กล่าวถึงว่า “มันเป็นเหี้ยที่โตเต็มที่ และคงจะผ่านอะไรมากมายก่อนที่จะถูกกระแสน้ำตรึงไว้”

            มองผ่าน ๆ ก็อาจเห็นเป็นการบรรยายถึงสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ฝั่งตรงข้ามของลำห้วยอย่างที่บรรยายหากแต่ เมื่ออ่านต่อไปเรื่อย ๆ

ก็สะดุดกับคำว่า “ภาระอันที่สอง...ยังคงต้องแบกทานมันไว้ตลอดเวลา” ทำให้ดิฉันรู้สึกได้ถึงความเศร้าที่ฝังลึกในใจของผู้แต่งอย่างเริ่มชัดเจนขึ้น

จนกระทั่งผู้เขียนได้บอกเล่าถึงมารดาผู้เป็น “นางฟ้าที่ถูกสวรรค์ลงโทษให้มาเกิดเป็นแม่ของคนอย่างผม...”

            เหตุการณ์ต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดได้อย่างหนักหน่วงในอารมณ์คิดถึงอย่างสุดใจถึงมารดาผู้มีพระคุณ ทั้งยังมีความรู้สึกผิดที่ค้างคาอยู่ในใจจากเหตุการณ์ในชีวิต รายละเอียดน้อย ๆ ที่ค่อย ๆ หลั่งไหลเข้ามาในหัวอย่าง “เพลงเศร้าประจำใจ”

เช่น เหตุการณ์ที่เคยปฏิเสธการช่วยงานจน “บนใบหน้าเหี่ยวย่นมีน้ำตาชุ่มอยู่เป็นทาง”และตอนที่ธนบัตรใบห้าบาทเพียงใบเดียวในกระปุกออมสินม้าของแม่ที่ใช้สอยยามยากหายไป จนท้ายเรื่องผู้เขียนก็ได้บอกเล่าว่าตนนำไปเล่นไพ่กับพรรคพวกหลังตลาดเพราะคิดว่ามันอาจเป็นทางออก

ของความยากจนที่เผชิญอยู่โดยไม่คิดเอาเปรียบแม่และน้อง ๆ แต่อย่างใด แต่ก็ยังไม่เคยเล่าความจริงนี้ตลอดมา จนมาถึงเวลาในปัจจุบันในเรื่องราวที่อยู่ป่าใหญ่ล่วงเลยมาถึงห้าปีในเดือนกันยายนปี 2523

ซึ่งผู้เขียนเล่าว่าได้ทราบข่าวว่ามารดาของเขาเสียชีวิตในปี2520เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงคำนึงถึงเรื่องราวในอดีตอยู่เสมอ ๆ ราวกับเป็น “เพลงเศร้าประจำใจ” ที่ไหล “กลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนกระแสน้ำที่พัดวน”

 

สร้างสะพานไผ่เพื่อข้ามผ่านน้ำป่าเชี่ยวหลาก

             เนื่องจากบทความสารคดีเรื่องนี้จะให้ความรับรู้เข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวที่ผุ้เขียนได้บอกกล่าวแล้ว ความรู้หลักซึ่งถูกบอกกล่าวผ่านชื่อเรื่องอย่างชัดเจนว่า “สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว” นั่นเอง

หลังจากที่ผู้แต่งได้บรรยายความถึงเรื่องราวในอดีตก็ได้พากลับมาสู่ปัจจุบันซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ได้เดินทางเริ่มต้นจากหุบเขาแถวต้นน้ำแควใหญ่เป็นจุดเริ่มต้น ท่ามกลางความวิบากของถากทางและสภาพอากาศที่รุนแรงล่วงเลยมาจนถึงวันที่ห้าถึงหกของการเดินทาง

ซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่บริเวณชายป่าที่เรียกว่า”ซับฟ้าผ่า”ซึ่งอีกเพียงวันเดียวก็จะถึงจุดหมายได้ หากผู้แต่งและชาวคณะสามารถฝ่าข้ามห้วยขาแข้ง “ตรงหน้า” ไปได้

             ในบทความทำให้เกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ทำให้ต้องสร้างสะพานขึ้น ด้วยว่าในคณะมีหญิงสาวจึงตัดการลอยคอข้ามไปได้ทันทีและน้ำเชี่ยวหลากจนแม้กระทั่งคนที่แข็งแรงที่สุดก็ยังถูกน้ำกระชากไปได้อย่างง่ายดาย

รวมไปถึงเศษหินเศษไม้แหลมคมที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทั้งทางกายและทางใจได้อย่างนานวันจะหายดีอีกการสร้างสะพานไม้ไผ่จึงถูกเลือก

             สารคดีได้บอกเล่าประสบการณ์จริงอย่างเห็นภาพได้ชัดเจน การบอกกล่าวถึงเพื่อนชาวม้งพี่น้องที่มีความชำนาญในด้านการใช้มีดตัดไม้ การบรรยายถึงการตัดกระบ้องไผ่ที่หากไม่มีทักษะก็มีโอกาสถูกดีดกลับจนบาดเจ็บได้

จนกระทั่งถึงกระบวนการสร้างสะพานไม้ที่ผู้เขียนบรรยายว่า “แม้แต่บนเส้นทางไปสู่การพ่ายแพ้ก็ยังมีสิ่งที่เราต้องเอาชนะ” ซึ่งก็คือต้องฝ่าลำห้วยนี้ไปให้ได้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในวันถัดไปนั่นเอง

             การบรรยายเหตุการณ์การสร้างสะพานถูกถ่ายทอดอย่างเป็นลำดับขั้นตอนได้ดี จนถึงเรื่องราวเหตุการณ์ที่จบลงด้วยการก้าวข้ามไปได้อย่างโล่งใจ

 

กระแสน้ำหลากที่ยังคงไหลวนในจิตของ “ผู้ปราชัย”

             บทปิดท้ายของเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่เล่าถึงตอนที่ผู้แต่งข้ามลำห้วยขาแข้งได้สำเร็จ โดยเมื่อถึงตอนท้ายปลายสะพานเกิด “ลำสะพานก็โยกไกวไปมาคล้ายจะรังเกียจก้าวย่ำของผู้ปราชัย”

             ประโยคนี้ทำให้เกิดความเข้าใจต่อ ความน้อยเนื้อต่ำใจที่สุดท้ายต้องกลายเป็น “ผู้ปราชัย” ซึ่งนักเขียนได้มอบให้แก่ตน

             อาจจะตีความเป็นความเศร้าปนเจ็บใจ การต่อสู้อย่างองอาจเพื่อประชาชนนร่วมชาติอย่างที่เราได้รับรู้กันดี มาถึงคราวสิ้นสุด

             “พรุ่งนี้แล้วสินะที่ผมจะประกาศวางปืนอย่างเป็นทางการ รวมทั้งวางความหวังที่จะสร้างโลกใหม่ซึ่งม้าออมสินกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น”

              ดิฉันอดประทับใจต่อประโยคนี้ไม่ได้ การที่นักรบที่กำลังจะวางดาบแต่ยังคงมีเจตนารมณ์ในการต่อสู้ว่าต่อสู้เพื่ออะไรที่ผ่านมายังคงแน่วแน่ชัดเจนแม้ต้องจบลงที่ความพ่ายแพ้ในสงครามก็ตามที

              ม้าออมสินคงหมายถึงเงินตราที่ทำให้ผู้นำและกลุ่มคนบางพวกบ้าระห่ำทำสิ่งผิด คิดข่มเหงประชาชนเรื่อยมานั่นเองและท้ายที่สุดซึ่งผู้เขียนปิดท้ายไว้ว่า

“ไม่รู้อีกนานเท่าใดที่ผมจะถูกตรึงไว้ริมสารธารความทรงจำซึ่งน่าสะพรึงกลัวเสียยิ่งกว่าสายน้ำเชี่ยวในลำห้วยขาแข้ง” แสดงถึงจิตใต้สำนึกที่ยังคงวกวนกลับไปกลับมาอย่างตอนต้นถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด

ทั้งผู้มีพระคุณ การเติบโตอย่างลูกชายของพ่อแม่ วีรกรรมการเป็นผู้นำปฏิวัติการเดินทางต่อสู้เพื่อเจตนารมณ์ที่ทวงถามความยุติธรรมการเดินทางหลบหนีในพงไพรลำห้วยใหญ่กลางป่าเขาจนมาถึงวันที่ทุกอย่างกำลังจะจบลงภารกิจกำลังจะจบสิ้นอย่างพ่ายแพ้แม้ยังไม่คิดถอดใจ

             เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นความทุกข์เรื่องใด ๆ ความเจ็บใจและควมายากลำบากกายใจยังคงไหลวนกลับมากลับไปในหัวไม่บสิ้นและได้ฝากทิ้งท้ายไว้อย่างน่าเห็นใจ ทำให้ดิฉันเข้าใจถึงหัวอกความโดดเดี่ยวของผู้เขียนอย่างสุดใจด้วยประโยคสุดท้ายที่ว่า “รู้เพียงว่า ณ ที่นี้...ผมคงต้องดิ้นรนสร้างสะพานอยู่โดยลำพัง”

 

                                                                                             บทวิจารณ์ โดย นางสาวนิศามณี ศรีสุข

                                                                                                                                                                                                                                                 

 

 

Writer

The Reader by Praphansarn