นักเขียนต้องจับใจตัวเองได้ ก็จะจับใจผู้อ่านได้ด้วย : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แนะนักเขียนหน้าใหม่ใช้ 4 อย่า 5 ต้อง

นักเขียนต้องจับใจตัวเองได้ ก็จะจับใจผู้อ่านได้ด้วย

      หนังสือหรืองานเขียนที่นักกวี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชื่นชอบ และอยากแนะนำให้ผู้อ่านและนักเขียนหน้าใหม่ได้ศึกษา ทั้งประโยชน์ในด้านเนื้อหาสาระ และเทคนิคการสร้างสรรค์ ซึ่งคุณเนาวรัตน์ ได้บอกกล่าวกับน้องๆ นักเขียนหน้าใหม่ว่า  

     "หนังสือที่ต้องอ่าน อันดับแรกคือ “ขุนช้างขุนแผน” ต้นแบบวรรณกรรมไทย อันดับสองงานเขียนของไม้เมืองเดิมเล่มไหนก็ได้เพราะ พ็อตเรื่องเหมือนกันหมด ตัวโกงจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อันดับสาม “ข้างหลังภาพ” คำสุดโรแมนติก “โดน” ไม่คิดอะไรก็ได้ แต่ถ้าคิดก็จะได้อะไรเยอะเลย เผยให้เห็น ทัศนะของหญิงไทยอย่าง มรว. กีรติ  อันดับที่สี่ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือชื่อ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม  และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ อันดับห้า “ตัวกูของกู” ของท่านพุทธทาส ภิกขุ ที่ชี้ว่ารากของเราอยู่ที่ไหน หนังสือเล่มนี้จะทำให้เรารู้จักความเป็นเรา” 

     การสร้างสรรค์งานวรรณกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ล้วนเป็นการจารึกไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ  เสมือนเครื่องมือในการสื่อสาร รับรู้ และสืบค้นร่องรอยการเป็นไปของกาลเวลา งานวรรณกรรมจึงมีเสน่ห์ทั้งในด้านคุณค่าของงานศิลปะ และสุนทรียศาสตร์แห่งจินตนาการ  ที่นักเขียนต้องการสื่อสาร  หากแต่นักเขียน หรือผู้แต่งต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของความทันสมัย “นักเขียนต้องจับใจตัวเองได้ ก็จะจับใจผู้อ่านได้ด้วย” คำพูดของศิลปินแห่งชาติที่ได้เผยถึงอาวุธของนักกวีที่ต้องมี “4 อย่า 5 ต้อง” คือ

    “ 4 อย่า คือ หนึ่ง อย่าตกยุค ต้องรู้ว่านักเขียนไทยมีกี่คน ตายกี่คน  สอง อย่าหลงยุค  ไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าเขาไปถึงไหน สาม อย่าประจบยุค คือ อย่าตามเขาไป  สี่ อย่าล้ำยุค เดินไปไกลจนลืมตนเอง สำหรับ 5 ต้อง คือ ต้องทันยุค  สอง ต้องเป็นปากเสียงผู้เสียเปรียบ สิ่งนี้สำคัญมาก คือ ให้รู้ว่าเวลานี้บ้านเราปัญหาคืออะไร เขียนเพื่อใคร สาม ต้องตัดทัศนะคติปัจเจก อย่าเอาส่วนรวมมาขึ้นกับส่วนตัว สี่ ต้องมีจิตสำนึกการเมือง คนที่ไม่มีจิตสำนึกมากสุด คือนักการเมือง ถ้าเรามีจิตสำนึกปากกาของเราจะแหลมคม ห้า ต้องทำงานอย่างราชสีห์  ไม่ใยดีกับมงกุฎที่สวมครอบ”

    การสร้างสรรค์งานศิลปะใดๆ สักชิ้นหนึ่ง ต้องใส่ใจของผู้สร้างสรรค์งานลงไปอย่างเต็มที่ การฝึกฝน เรียนรู้ และหมั่นเขียนหมั่นสร้าง ดุจประหนึ่งคือการลับคมมีดให้แหลมคมอยู่ตลอดเวลา ปลายปากกาก็เช่นกันดังปรัชญาที่ทิ้งไว้ให้ศิลปินหน้าใหม่ได้ฉุดคิด และถือปฏิบัติตาม หากในอนาคตเส้นทางนักเขียน ได้เดินไปอย่างมีคุณภาพ

    เฉกเช่นนักปราชญ์ศิลปินแห่งชาติเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

cr. : http://www.siamrath.co.th/web/?q=node%2F56988

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ