ว่าด้วยเรื่องการฝากขายหนังสือในงานหนังสือฯ สำหรับนักเขียนอินดี้ : ผมเชื่อว่า นักเขียนหลายท่านนอกจากฝันอยากมีหนังสือของตัวเองวางบนชั้นหนังสือตามร้านแล้ว ยังอยากจะเห็นหนังสือของตัวเองปรากฏอยู่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ อีกด้วย

ว่าด้วยเรื่องการฝากขายหนังสือในงานหนังสือฯ สำหรับนักเขียนอินดี้

ผมเชื่อว่า นักเขียนหลายท่านนอกจากฝันอยากมีหนังสือของตัวเองวางบนชั้นหนังสือตามร้านแล้ว ยังอยากจะเห็นหนังสือของตัวเองปรากฏอยู่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากอย่างแน่นอนครับ ถ้าถึงขั้นที่ท่านนักเขียนสามารถจัดทำหนังสือออกมาเป็นรูปเล่มได้ด้วยตนเองแล้ว เรื่องแค่นี้ถือว่าเล็กน้อยครับ เพียงแค่ท่านมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. ความขวนขวาย ต้องรู้จักค้นหาครับว่า บูธใดบ้างที่รับฝาก (สามารถไปดูได้ในตอนรายชื่อบูธในงานหนังสือฯ ที่รับฝากขาย) และต้องรู้จักติดต่อสอบถามครับ

2. ความใจกล้า หน้าด้าน ต้องกล้าที่จะหอบหนังสือเข้าไปที่บูธเพื่อติดต่อฝากขายครับ แล้วก็ขอให้ใจกล้าคุยครับ พูดกับเขาตรงๆ ไม่เช่นนั้นอีกฝ่ายไม่สามารถรู้ได้หรอกครับว่า เราต้องการอะไร

3. ความรอบคอบและมีวินัย สุดท้ายนี่ก็เป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ เราต้องมีความละเอียดครับ ตั้งแต่การเช็คยอดหนังสือ การนำหนังสือไปฝาก (ในวันจัดบูธหรือวันแรกๆ ของงาน) การไปเก็บหนังสือคืน การเช็คยอดขายและเงิน (กรณีที่มีหนังสือในบูธใดขายหมด)

ปล.ถ้านำหนังสือไปฝากในวันจัดบูธจะต้องมีการแลกบัตรเพื่อเข้าไป และสำหรับในวันแรกของงานหนังสือฯ ช่วงฤดูร้อน จะมีการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพฯ ครับ

เมื่อท่านได้ติดต่อบูธหนังสือแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การหอบหนังสือไปที่บูธที่ติดต่อไว้ครับ จำนวนเล่มที่ผมแนะนำคือ 10-20 เล่มต่อบูธ ขึ้นอยู่กับว่าเราพิมพ์หนังสือออกมามากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นทางบูธก็จะมีใบส่งของมาให้เขียน (หรือบางบูธอาจจะไม่มี กรณีนี้ก็ต้องจัดเตรียมเองเผื่อไว้ด้วย ใช้แค่เพียงใบส่งของธรรมดาก็ได้) โดยจะมีสัญญาการฝากขายกำกับไว้ โดยปกติก็คือ ทางบูธจะหักค่าฝากขาย 20% จากยอดขายครับ

ดังนั้นเราก็ต้องคำนวณราคาหนังสือ ต้นทุน กำไร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดีๆ ครับ เพราะแน่นอน เราคงไม่ขายหนังสือในงานด้วยราคาเต็ม เราจะต้องมีส่วนลดให้กับทางบูธด้วย (หรือก็คือส่วนลดให้ผู้อ่านนั่นแหละ) ตามปกติในงานจะมีส่วนลดอยู่ที่ 5-20% ครับ หลังจากนั้น ทางบูธก็จะนำหนังสือของเราไปวางขายเอง และไม่ต้องกังวลครับว่าเขาจะนำไปซ่อน มีแต่จะเห็นชัดไม่ชัดเท่านั้นครับ

สิ่งที่ควรทำ!!!...เพื่อให้ปล่อยหนังสือออกไปให้ได้มากที่สุด
1. ควรเริ่มไปฝากขายหนังสือตั้งแต่วันแรกๆ เพราะคนอ่านมักจะมาเดินกันเยอะในช่วงต้นของงาน
2. พยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียให้มากที่สุด (โดยไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของคนอื่น)
3. ไปช่วยขายหนังสือที่บูธ เพราะการที่นักเขียนลงมาขายเองจะเพิ่มโอกาสให้ขายหนังสือได้มากขึ้นและยังทำให้คนอ่านก็สามารถรับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเราได้มากที่สุดจากปากของเราเอง
4. (ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้) มีโปสเตอร์ จะทำให้คนเห็นหนังสือของเราได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้ ผมยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ท่านนักเขียนอินดี้อาจจะเป็นกังวลว่า หนังสือเราเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ไม่มีแบรนด์ ไม่มียี่ห้ออะไรคนอ่านจะซื้ออ่านหรอ ผมคิดว่า นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญครับ เวลานักอ่านจะเลือกซื้อหนังสือสักเล่ม นอกจากซื้อเพราะนักเขียนแล้ว มันยังขึ้นอยู่กับว่าหนังสือของเรานั้นดีจริงหรือเปล่า มีคุณค่าและคุณภาพแค่ไหน สามารถตอบโจทย์ที่ว่า“เพราะอะไร เขาถึงควรซื้อนิยายเรากลับไปอ่าน”

ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นไปตั้งแต่เราเริ่มแต่งหนังสือเรื่องนั้น การจัดทำอาร์ตเวิร์ค และหน้าปกให้น่าสนใจ อาทิ เรื่องของหน้าปก ถ้าเราทำออกมาดี มันก็สามารถเบียดแข่งบนชั้นวางหนังสือกับหนังสือเล่มอื่นได้ไม่ยากเช่นกัน

 

ขอบคุณที่มา : http://www.dek-d.com/board/view/3071042/
ภาพ : bookmaker

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ