นามปากกา :

นาคราช,ขวัญนรา,ศูล ภูวดล,สิทธิ ศรีสยาม,ศรีนาคร,กวีการเมือง,ทีปกร,กวี ศรีสยาม,สมสมัย ศรีศูทรพรรณ,บุคแมน,มูฟวี่แมน,ศิลป์ พิทักษ์ชน,สมชาย ปรีชาเจริญ,ศิริศิลป์ อุดมทรรศน์,สุธรรม บุญรุ่ง,จักร ภูมิสิทธิ์

รางวัลที่ได้รับ :

รางวัลจิตร ภูมิศักดิ์

ประวัติส่วนตัว :

 

จิตร ภูมิศักดิ์ (25 กันยายน พ.ศ. 2473 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509, สิริอายุ 35 ปี) เกิดที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นนักประวัติศาสตร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักคิด นักเขียน นักภาษาศาสตร์ ผลงานเด่นได้แก่ บทเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’, ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’, ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ เป็นต้น

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งโดยการปักป้ายของฝ่ายรัฐและโดยอุดมการณ์ของเขาเอง ดังจะเห็นได้ว่าแนวคิดและงานเขียนของเขานั้นต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด และยังได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้นามแฝงว่า ‘สหายปรีชา’ ต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลอย่างเต็มตัว

จิตรเป็นบุตรของนายศิริ ภูมิศักดิ์ และนางแสงเงิน ภูมิศักดิ์ มีชื่อเดิมว่าสมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายการตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจนตามนโยบายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 จิตรติดตามบิดาซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต เดินทางไปรับราชการยังจังหวัดกาญจนบุรี และเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปี พ.ศ. 2482 จิตรได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ. และอีก 7 เดือนต่อมา บิดาก็ได้รับคำสั่งย้ายให้ไปรับราชการที่เมืองพระตะบอง มณฑลบูรพา ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองภายใต้การปกครองของไทย จิตรจึงได้ย้ายตามไปด้วย และได้เข้าศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เมืองพระตะบองนั่นเอง

ในปี พ.ศ. 2490 ประเทศไทยต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้กัมพูชา จิตรจึงอพยพตามมารดากลับเมืองไทย ระหว่างที่ครอบครัวภูมิศักดิ์ ยังอยู่ที่พระตะบอง นางแสงเงินเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ขณะที่จิตรและพี่สาว เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตรเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด

ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักดิ์ โด่งดังเป็นครั้งแรกจากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่จิตรเป็นสาราณียกรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 เมื่อสมัยที่จิตร ภูมิศักดิ์ เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 แผนกวิชาอักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จิตรได้รับคัดเลือกจากตัวแทนนิสิตคณะต่าง ๆ รวม 6 คณะราว 30 คน ให้เป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (สจม.) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าสาราณียกรของมหาวิทยาลัย รับหน้าที่เป็นบรรณาณิการจัดทำหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับปิยมหาราชานุสรณ์ 2496 หรือที่มักเรียกกันว่าหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาฯ

ในครั้งนั้น จิตรได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ซ้ำซาก ของหนังสือประจำปี โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้องซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้นมีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไขหรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัดและมีการ "สอบสวน" จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดยนายสีหเดช บุนนาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุมใหญ่ ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลเลิดสิน และพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี

ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้งานสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนไม่นานก็ถูกไล่ออก เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าหัวก้าวหน้าเกินไป จิตรจึงไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลานี้เองที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงการวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน"

ปี พ.ศ. 2498 จิตรกลับเข้ามาเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และเป็นอาจารย์พิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ สถาบันค้นคว้าเรื่องเด็กของยูเนสโกที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร.

จากการสอนของจิตร ทำให้หนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากรปี พ.ศ. 2500 เป็นหนังสือที่ปฏิวัติแนวคิดเรื่องศิลปะอย่างขุดรากถอนโคน มีการเผยแพร่งานเขียนเรื่อง "ศิลปเพื่อชีวิต" ซึ่งใช้นามปากกาผู้เขียนว่า "ทีปกร" (ต่อมาสำนักพิมพ์เทเวศน์จึงรวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน") แต่หลังจากมีการแจกหนังสือดังกล่าว ได้ถูกบรรดานักศึกษาคณะจิตรกรรมต่อต้านและนำไปทำลายเป็นจำนวนมาก จนเกิดการชกต่อยระหว่างผู้มีแนวคิดแตกต่างกันสองแนวทาง

และปีเดียวกันนี้ จิตรได้เขียนบทความชื่อ "บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี" ซึ่งมีเนื้อหาล้อเลียนวัฒนธรรมศักดินา โดยเฉพาะวรรณกรรมของชนชั้นสูงในเรื่อง "อิเหนา" และเขียน "เพลงยาวบัตรสนเท่ห์" เพื่อสะท้อนการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

จนกระทั่งถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความคิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร และกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จิตรถูกจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยนำไปคุมขังที่คุกลาดยาวใน พ.ศ. 2503 ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2506 อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ยื่นฟ้องตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ในคดีนี้ผู้พิพากษาให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในโอกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ไปแล้ว การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีซ้ำซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ศาลทหารยกฟ้องและมีคำสั่งปล่อยตัวจิตรเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2507

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรเดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อสู้กับรัฐบาล ในที่สุด ถูกกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิตที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

เป็นเวลาหลายสิบปี ไม่มีใครรู้ว่าจิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตตรงที่ใดในป่าบ้านหนองกุง จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2531 ทางญาติและคณะนักศึกษาได้มาทำการขุดค้นหาโครงกระดูกเพื่อนำไปพิสูจน์ DNA จึงได้พบกระดูกของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บริเวณโคนต้นแดงที่ป่าท้ายหมู่บ้าน โดยมีพรหมวิชัย หรือสหายสวรรค์ ผู้พิทักษ์จิตรจนวินาทีสุดท้ายทำการชี้ตำแหน่งเสียชีวิต

เดิมทียังไม่มีการจัดงานรำลึกในพื้นที่ดังกล่าว ทางครอบครัวของจิตรและผู้ให้ความนับถือเพียงขึ้นป้ายในบริเวณดังกล่าวว่าจิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิต ณ ที่แห่งนี้ ต่อมา ครอบครัวของจิตรและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์วันเสียชีวิตของจิตรที่วัดประสิทธิ์สังวร บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร คุณภิรมย์ พี่สาวของจิตร บริจาคเงินสนับสนุนวัดในการสร้างรั้วและศาลา รวมถึงหนังสือผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ บริจาคให้วัดเพื่อให้คนในชุมชนได้ศึกษา

ปี 2534 ชาวบ้านหนองกุงบางกลุ่มเห็นความสำคัญว่าพื้นที่นี้เป็นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงได้ปรึกษาเรื่องงบประมาณการสร้างอนุสรณ์สถานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร การพูดคุยใช้เวลาหลายปีแต่ยังไม่มีรูปธรรมใดๆเกิดขึ้น เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าบ้านหนองกุงไม่ใช่พื้นที่เปิด และความเข้าใจต่อคำว่า “คอมมิวนิสต์” ในขณะนั้นยังมีความหมายในแง่ลบ อาจสร้างความกังวลต่อสังคม

ในปี 2545 ทางองค์การบริหารส่วนตำบลคำบ่อได้เขียนโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานส่งให้ปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครในขณะนั้น ต่อมาช่วงปลายปี 2545 ทางจังหวัดอนุมัติงบประมาณเป็นเงินจำนวน  500,000 บาท ให้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์บริเวณที่จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกยิงเสียชีวิต ในช่วงเดือนมกราคม 2546 อบต.คำบ่อจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างขั้นแรกด้วยการกรุยทางถางป่า ติดตั้งระบบไฟฟ้า ก่อสร้างศาลาพักร้อน และห้องน้ำ

หลังเริ่มดำเนินการก่อสร้างอนุสรณ์สถานในบริเวณที่จิตรถูกยิงเสียชีวิต ครอบครัวของจิตรและผู้ที่ให้ความเคารพ ยังคงจัดงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ที่วัดประสิทธิสังวรณ์ ทางอบต.คำบ่อยังร่วมกับคณะอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครจัดงานเสวนา อ่านกวี และแสดงดนตรี โดยเป็นการจัดงานแบบเรียบง่าย ต่อมาในระยะหลังๆ เริ่มมีผู้คนมาร่วมงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ มากขึ้น ทองใบ ทองเปาด์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและเคยเป็นนักโทษการเมือง ก็เดินทางมาร่วมงานรำลึกถึงจิตรด้วย เมื่อคนภายนอกเริ่มเข้ามาจัดงานรำลึกในพื้นที่มากขึ้น คนในชุมชนบางส่วนก็เริ่มรู้สึกคุ้นเคยและเห็นคุณค่าของจิตรในฐานะนักคิด นักเขียน นักแต่งเพลง และนักต่อสู้วีรบุรุษท้องถิ่น

ในปี พ.ศ. 2554 ระดมทุนได้มากพอจัดสร้างรูปปั้นของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยทุนส่วนใหญ่มาจากจินตนา เนียมประดิษฐ์ อดีตเจ้าของสำนักพิมพ์เทวเวศน์ ที่เคยถูกจับเป็นนักโทษการเมืองรุ่นเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์

แรกเริ่มเดิมทีรูปปั้นของจิตรเป็นเพียงรูปปั้นขนาดครึ่งตัวเท่านั้น แต่ภายหลังครอบครัวและมิตรสหายเห็นว่ารูปปั้นดังกล่าวดูไม่สมศักดิ์ศรี มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ พยายามหานักปั้นเพื่อสร้างรูปปั้นแบบเต็มตัวอยู่หลายครั้ง แต่ยังไม่มีใครสร้างรูปปั้นของจิตรได้ตรงกับภาพในความทรงจำของป้าจินตนา ท้ายที่สุดได้นักปั้นที่มีชื่อเสียงอย่างอาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ช่วยปั้นให้จนสำเร็จ ครั้งแรกอาจารย์สันติตั้งราคาผลงานไว้ที่ 800,000 บาท แต่เมื่อเขาใช้เวลาหนึ่งคืนอ่านประวัติและผลงานของจิตร ก็ไม่ขอรับค่าจ้าง เพียงแต่ขอให้ทางมูลนิธิออกค่าใช้จ่ายวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น

ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของจิตร มีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์การสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ก็ถือเป็นโอกาสครบรอบ 80 ปี ชาตกาลของจิตรด้วย การก่อสร้างอนุสรณ์สถานใช้เวลาสามปีจึงเสร็จสมบูรณ์และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

 

ผลงาน

หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ 23 ตุลาคม ประจำปี 2496 จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จากพญาฝัน-ถึงทยอยใน

กวีนิพนธ์ กลอนต้อนรับนิสิตใหม่

นวนิยายขนาดสั้น ขวัญเมือง

กวีนิพนธ์ เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน

การปฏิวัติในฝรั่งเศส

บทความ พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติคแก้สภาพสังคมที่ตัวสังคมเอง และแก้ได้ด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแบบของสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติค กับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ตรงนี้

หรือ ผีตองเหลือง

ความใฝ่ฝันแสนงาม

ตำนานนครวัด

บทความ ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน

บทความ บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี

เพลงยาวบัตรสนเท่ห์

งานแปลวรรณกรรม คนขี่เสือ

หนังสือประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ

บทความ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม

หนังสือประวัติศาสตร์ โฉมหน้าศักดินาไทย

หนังสือ ภาษาและนิรุกติศาสตร์

หนังสือ บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา

หนังสือ   ชีวิตและศิลป

หนังสือ โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

หนังสือแปล ความเรียงว่าด้วยศาสนา

หนังสือแปล ว่าด้วยงานศิลปวรรณคดี

หนังสือ เสียงเพลงแห่งการต่อต้าน

หนังสือ บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย และภาคผนวกชีวิตและงานของปิกัสโส

หนังสือประวัติศาสตร์ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา

หนังสือแปล โคทาน

หนังสือ นิราศหนองคายวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา

กวีนิพนธ์ ความอบอุ่นอันอ่อนหวาน

หนังสือแปล คาร์ล มากซ์ (Karl Marx, Biography)

กวีนิพนธ์ พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี

หนังสือแปล แม่ (Mother)