George Orwell : จอร์จ ออร์เวล

George Orwell

จอร์จ ออร์เวล (George Orwell)

         จอร์จ ออร์เวล นามปากกาของ อีริค อาเธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair, เกิดปี 1903 เมืองเบงกอล ประเทศอินเดีย - เสียชีวิตปี 1950 เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ) เป็นนักเขียนและนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงจากงาน  Animal Farm(1945) และ Nineteen Eighty-four(1949) ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นนิยายอันลุ่มลึก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงภัยของระบอบการปกครองแบบเผด็จการ

         Eric Arthur Blair เป็นชื่อที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด Orwell ไม่เคยใช้ชื่ออื่นเลย แต่ในหนังสือเล่มแรกของเขา Down and Out in Paris and London ปรากฏสู่สาธารณชนในปี 1933 ด้วยนามปากกา George Orwell (ชื่อท้ายได้มาจากแม่น้ำ Orwell ในประเทศอังกฤษ) ชื่อดังกล่าวจึงทำให้เขาเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง มีเพียงญาติพี่น้องเท่านั้นที่รู้ว่าชื่อจริงของเขาคือ Blair การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของ George Orwell ไปด้วย จากแกนนำผู้สนับสนุนจักรภพอังกฤษ กลายเป็นนักประพันธ์และหัวขบถทางการเมือง

         เขาเกิดที่เมืองเบงกอล ในครอบครัวชนชั้นปกครอง บิดาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในเทศบาลเมืองอินเดีย มารดามีเชื้อสายฝรั่งเศส เป็นลูกสาวพ่อค้าไม้สักผู้ยากจนในพม่า กล่าวได้ว่าพวกเขาเป็น “ผู้ดีไร้ศักดินา” ดังในภายหลังที่ Orwell ใช้คำนี้กล่าวถึงชนชั้นกลาง(ค่อนไปทางล่าง) ซึ่งเรียกร้องสถานะทางสังคมให้สัมพันธ์กับรายได้ Orwell เติบโตขึ้นในบรรกาศของชนชั้นหัวสูงแต่ไม่มีรายได้ หลังจากเขากลับประเทศอังกฤษพร้อมกับพ่อแม่ ปี 1911 เขาถูกส่งเข้าไปเรียนโรงเรียนประจำแถบชายฝั่ง Sussex ที่นั่นเขาโดดเด่นกว่าใครด้วยความสามารถทางบทกลอนและความฉลาดหลักแหลม เขาเติบโตขึ้นเป็นคนเจ้าอารมณ์ เก็บตัว เป็นเด็กที่แปลกแยก ภายหลัง เรื่องราวอันทุกข์ยากเหล่านั้นได้ถูกบอกเล่าหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว โดยตีพิมพ์เป็นบทความชีวประวัติ Such, Such Were the Joys (1953)

         Orwell ชนะทุนเข้าโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษถึงสองแห่งด้วยกัน คือ Winchester และ Eton และเขาเลือกเข้าที่ Eton โดยอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 1917 ถึง 1921 และ  Aldous Huxley (นักเขียนและนักวิจารณ์วรรณกรรม งานของเขาเป็นต้นแบบของวรรณกรรมแนว dystopia Sci-fi) ก็ได้เป็นหนึ่งในบรรดาอาจารย์ของเขา และที่ Eton นั่นเอง ทำให้เขาได้เขียนงานชิ้นแรกลงในวารสารของวิทยาลัย

         แทนที่เขาจะรับทุนเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย Orwell ตัดสินใจดำเนินตามรอยของครอบครัว และในปี 1922 เขาเดินทางไปพม่า ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับเขตสันติบาลเครือจักรภพประจำอินเดีย เขาผ่านงานประจำสถานีหลายแห่ง ภายนอกเขาดูเหมือนเป็นข้าราชการของเครือจักรภพอังกฤษ ทว่าเพราะวัยเด็กของเขานั้นมีความต้องการอยากเป็นนักเขียน และเมื่อเขาตระหนักถึงชะตากรรมของชาวพม่าที่ถูกปกครองโดยอังกฤษ เขายิ่งรู้สึกละอายใจกับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจของเจ้าอาณานิคม ภายหลังเขาได้เล่าประสบการณ์ดังกล่าวและการทำงานของตนเอง และบทบาทการปกครองของจักรภพอังกฤษในวรรณกรรม Burmese Days และผลงานยอดเยี่ยมอีกสองชิ้น ซึ่งเป็นสารคดีอัตชีวประวัติ คือ Shooting an Elephant และ A Hanging เขียนพรรณนาเป็นรูปแบบร้อยแก้วอันเยี่ยมยอด

         ในปี 1927 Orwell กลับสู่อังกฤษ และไม่คิดหวนกลับไปพม่าอีก และในวันที่ 1 มกราคม ปี 1928 เขาตัดสินใจลาออกจากงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาเริ่มวางตัวและขัดเกลาตนเองให้มีความเป็นนักเขียนมาตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1927

         ด้วยความรู้สึกผิดจากคติแบ่งแยกเชื้อชาติและชนชั้นทำให้เขาไม่ได้ประสานกับชาวพม่า ดังนั้นเขาคิดว่าเขาควรที่จะชดเชยบาปนั้นด้วยการนำตนเองไปรู้จักกับชีวิตยากแค้นและชีวิตของคนชายขอบในยุโรป สวมใส่เสื้อผ้าเก่าๆ เดินทางไปสุดขอบตะวันออกของอังกฤษ อาศัยในบ้านพักราคาถูก อยู่ท่ามกลางชนชั้นแรงงานและขอทาน ใช้ชีวิตในสลัมของปารีส ทำงานเป็นคนล้างจานในโรงแรมและภัตราคารฝรั่งเศส ร่อนเร่ไปบนถนนในอังกฤษร่วมกับคนจรจัดและอยู่ร่วมกับคนในสลัมของลอนดอนที่จะอพยพเข้าไปทำงานใน Kentish hopfields

         ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้ Orwell ได้วัตถุดิบสร้างเป็นผลงาน Down and Out in Paris and London โดยเขียนขึ้นจากเหตุการณ์จริง แต่เรียบเรียงใหม่ให้มีลักษณะคล้ายนิยาย ได้รับตีพิมพ์เป็นเล่มในปี 1933 และทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการวรรณกรรม

         นิยายเล่มแรกของ Orwell คือ Burmese Days (1934) และจากผลงานนี้เอง ได้กลายเป็นรากฐานของรูปแบบการเขียนนิยายของเขาในผลงานต่อๆ มา ซึ่งพรรณนาถึงความอ่อนไหว มโนธรรม และอารมณ์ ซึ่งกล่าวถึงปัจเจกบุคคลถูกทิ้งให้กลายเป็นคนแปลกแยกจากการปกครองอย่างกดขี่ หรือเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ขาดคุณธรรม ตัวละครหลักใน Burmese Days เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองชั้นผู้น้อย พยายามหลีกหนีจากความมืดมนและเหล่าเพื่อนร่วมงานชาวอังกฤษซึ่งเป็นพวกคลั่งชาติจิตใจคับแคบในประเทศพม่า ความเห็นอกเห็นใจชาวพม่าของเขานั้น ในท้ายที่สุดก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เกินคาด นิยายเรื่องถัดมา A Clergyman’s Daughter (1935) ตัวละครหลักของ Orwell เป็นหญิงปั่นฝ้ายยากเข็ญผู้ได้หลุดพ้นเป็นห้วงเวลาสั้นๆ ในช่วงชีวิตของเธอที่แวดล้อมไปด้วยชนชั้นแรงงานเกษตร

         ความรังเกียจของ Orwell ที่มีต่อลัทธิจักรวรรดินิยมนั้นไม่ใช่แค่ไม่ยอมรับการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปฏิเสธแนวคิดทางการเมืองด้วยเช่นกัน ทันทีที่กลับจากพม่า เขาเรียกตนเองว่าเป็นชาวอนาธิปไตยนิยมและวางตัวเช่นนั้นอยู่หลายปีในช่วงทศวรรษ 1930s อย่างไรก็ตาม เขาเริ่มมองว่าตนเองเป็นนักสังคมนิยมแม้ว่าตัวเขาเองมีความเป็นเสรีนิยมสูงก็ตาม

         ผลงานหนังสือแนวสังคมนิยมเล่มแรกของ Orwell คือ The Road to Wigan Pier (1937) ซึ่งถือเป็นบทความเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ หนังสือเล่มนี้บรรยายถึงประสบการณ์ของเขาเมื่อสมัยอยู่ร่วมกับคนยากจนและคนเหมืองตกงานในแถบทางเหนือของอังกฤษ บอกเล่าและเฝ้ามองชีวิตของพวกเขา ปิดท้ายเล่มด้วยชุดบทความวิจารณ์อันแหลมคมเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของลัทธิสังคมนิยมในขณะนั้น เป็นส่วนผสมของบทความเชิงเสียดสีเข้ากับการแสดงออกอันกราดเกรี้ยว และนั่นได้กลายเป็นเอกลักษณ์ในงานเขียนของ Orwell ต่อมา

         ในช่วงเวลาที่ The Road to Wigan Pier ออกตีพิมพ์ Orwell ขณะนั้นอยู่ในสเปน เขาไปทำบันทึกรายงานสงครามกลางเมืองที่นั่นและเข้าร่วมกองทัพของคณะสาธารณรัฐ โดยปฏิบัติการเป็นแนวหน้าในเมือง Teruel และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตรี Orwell ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่เมือง Teruel ทำให้ลำคอเสียหาย ส่งผลให้เสียงพูดแปลกไป และต้องกล่าวด้วยเสียงอันเบา ภายหลัง ในเดือนพฤษภาคม 1937 หลังจากสู้รบใน Barcelona กับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งพยายามปราบศัตรูทางการเมือง ทำให้เขาต้องหลบหนีออกจากสเปนด้วยความหวาดกลัว ประสบการณ์ดังกล่าวทิ้งร่องรอยความหวาดกลัวที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงชีวิตที่เหลือ หลักฐานที่ชัดเจนชิ้นแรกปรากฏในรายงานเหตุการณ์ในสเปนของเขาคือ Homage to Catalonia (1938) กล่าวได้ว่านี่คือหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของเขา

         เมื่อกลับอังกฤษ Orwell อธิบายถึงความย้อนแย้งของแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้นในงานเขียน Coming Up for Air (1939) ซึ่งเขาเขียนรำลึกความทรงจำในช่วงวัยกลางคนเพื่อพิเคราะห์ถึงความชอบธรรมของอังกฤษในอดีตและแสดงความประหวั่นต่อสงครามที่ใกล้จะมาถึงพร้อมกับลัทธิฟาสซิสต์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น Orwell ถูกปฏิเสธจากหน่วยงานกองทัพ ดังนั้นเขาจึงมุ่งไปยัง British Broadcasting Corporation (BBC) สาขาอินเดียแทน และออกจาก BBC ในปี 1943 และได้เป็นบรรณาธิการฝ่ายวรรณกรรมให้กับ Tribune ซึ่งเป็นสมาคมสิ่งพิมพ์ของพวกสังคมนิยมฝ่ายซ้าย นำโดยหัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษในขณะนั้น คือ Aneurin Bevan ในช่วงนี้เองที่ Orwell ได้เป็นนักเขียนข่าวที่มีชื่อเสียง เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์และบทสัมภาษณ์มากมาย พร้อมกับบทวิพากษ์วิจารณ์อันเข้มข้น อย่างเช่นบทความเอสเสในคอลัมน์ Charles Dickens และ boys’ weeklies และหนังสืออีกหลายเล่มเกี่ยวกับอังกฤษ (เล่มที่มีชื่อเสียงคือ The Lion and the Unicorn, 1941) ซึ่งรวมไว้ด้วยอารมณ์ความรักชาติพร้อมกับสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยม การกระจายอำนาจของสังคมนิยม ซึ่งแตกต่างจากหลักการของพรรคแรงงานอังกฤษ

         ในปี 1944 Orwell เขียน Animal Farm สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องราวนิทานสะท้อนการเมืองและการปฏิวัติในรัสเซียและการทรยศหักหลังของ Joseph Stalin หนังสือบอกเล่าถึงกลุ่มสัตว์ในฟาร์มได้ล้มล้างอำนาจและขับไล่มนุษย์ซึ่งเอารัดเอาเปรียบจากแรงงานของพวกสัตว์ จากนั้นก็สถาปนาสร้างรัฐของตนเองขึ้นมา และในที่สุด ด้วยความชาญฉลาดและทะเยอทะยาน พวกหมูก็ได้ล้มล้างอำนาจและปฏิวัติ ก่อขึ้นเป็นรัฐเผด็จการ ตั้งตนเป็นนายทาสและทำการกดขี่อย่างไร้หัวใจยิ่งกว่าพวกมนุษย์ที่ถูกขับไล่ออกไป ในช่วงแรก Orwell ประสบความลำบากในการหาสำนักพิมพ์สำหรับผลงานมาสเตอร์พีชชิ้นนี้อย่างยิ่ง แต่เมื่อถูกตีพิมพ์ขึ้นในปี 1945 Animal Farm ก็สร้างชื่อเสียงให้กับเขาเป็นครั้งแรกและได้รับความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง


 

George Orwell
 

         Animal Farm คือผลงานที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของ Orwell เป็นงานเขียนเต็มไปด้วยความแยบคาย น่าอัศจรรย์และน่ายกย่อง ทว่ากลับถูกแซงไปโดยหนังสือเล่มสุดท้ายของเขาเอง นั่นก็คือ Nineteen Eighty-four (1949) นิยายที่เขาเขียนขึ้นเพื่อเตือนใจหลังจากโศกนาฏกรรมจากภัยคุกคามของลัทธินาซีและลัทธิสตาลิน ในเรื่องราวกล่าวถึงอนาคตในจินตนาการ โลกที่ถูกปกครองโดยสามขั้วอำนาจรัฐเผด็จการ ตัวเอกของเรื่องเป็นชาวอังกฤษชื่อ Winston Smith เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของรัฐแห่งหนึ่ง ความยึดมั่นในสัจจะและคุณธรรมทำให้เขาแอบไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีระบบบริหารจัดการบิดเบือนความจริงและเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของตนเอง Smith รักกับหญิงสาวที่มีความคิดตรงกัน แต่ทั้งคู่ก็ถูกจับโดยตำรวจความคิด ถูกจำคุก ถูกทรมาน และปรับทัศนคติให้ยอมรับต่อผู้นำ Big Brother จากนิยายเล่มนี้ Orwell ได้ชี้ให้เห็นถึงภัยอันตรายของอำนาจเผด็จการซึ่งประทับใจคนร่วมสมัยและอนุชนรุ่นหลัง

         Orwell เสียชีวิตในโรงพยาบาลลอนดอนเมื่อปี 1950

อ้างอิง : https://www.britannica.com/biography/George-Orwell