2 นักเขียนรางวัล'ชมนาด' : เรื่องจริงของ 'ผู้หญิง' ห้ามพลาด

2 นักเขียนรางวัล'ชมนาด'

 

จากหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 8 สิงหาคม 2556

เพศหญิง เป็นเพศที่มีความละเอียดอ่อนในการสังเกต และจดจำสิ่งต่างๆ รอบตัว ผู้หญิงมักเก็บเรื่องราวทั้งที่ประทับใจและไม่ประทับใจเอาไว้ในใจเพื่อให้สมองนึกถึงได้เสมอ เรื่องบางเรื่องหากถูกถ่ายทอดโดยผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อน งดงาม หรือซาบซึ้งกินใจมากเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างนั้น ที่ผ่านมากลับมองหาบทประพันธ์ หรือมองหาหนังสือสักเล่มที่ถูกถ่ายทอดโดยผู้หญิงมาอ่านได้ไม่ง่ายนัก แต่แล้ววันหนึ่งก็ได้มีโอกาสรู้จักกับ รางวัลชมนาดอย่างบังเอิญ และได้รู้ว่า เป็นรางวัลที่การันตีหนังสือดีๆ สำหรับผู้หญิงให้กับผู้อ่านได้!

รางวัลชมนาด เริ่มต้นจากการปรึกษากันระหว่าง อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กับ ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คุณหญิงจำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2549 โดยในการจัดงานครั้งแรกได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจในการเริ่มต้นโครงการ ซึ่งงานเขียนที่ได้รับรางวัลชมนาดเป็นเรื่องแรก คือ "รอยวสันต์" ในปี 2551 จากนั้นในปี 2552 ได้มีการกำหนดรูปแบบในการเปิดรับต้นฉบับมาเป็นงานเขียนในเชิงอรรถคดี (Non-Fiction) ที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ตรงของปัจเจกชน หรือเรียบเรียงจากข้อเท็จจริงจากการวิจัยทุกระดับ ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ จากงานเอกสาร หรือสัมภาษณ์บุคคลเชิงมุขปาฐะ และต้องเป็นแนวเขียนที่แปลกใหม่ ท้าทาย ซึ่งจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษมากกว่ารางวัลที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนใดๆ คือ ต้องสร้างสรรค์โดยสตรีไทย

สำหรับการประกวดรางวัลชมนาดครั้งล่าสุดถือเป็น ครั้งที่ 3 และยังคงเปิดรับงานเขียนรูปแบบ Non-Fiction เช่นเดิม แต่ในปีนี้เพิ่มเติมความพิเศษขึ้นมาอีกนิด คือ เป็นครั้งแรกมีผู้ได้รับรางวัลชมนาดระดับดีเด่น (ชนะเลิศ) เคียงคู่กันถึง 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงานเรื่อง "พฤกษามาตา" โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข และ "ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน" โดย สิริญรำไพ (มาเรีย) ประพันธุ์ทวี และไม่มีผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

น่าสนใจทั้งสองงานเขียน จนรู้สึกว่าอย่างน้อยต้องขอพูดกับทั้ง 2 คน พญ.ชัญวลีบอกว่า จุดเริ่มต้นของ "พฤกษามาตา" คือ ตนเองเป็นสูตินรีแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้หญิงและเด็กมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ได้เจอะเจอแม่ที่อยู่ในความประทับใจตลอดเวลา ก็ได้เลือกจดจำในสิ่งที่เขาเหล่านั้นทำทั้งด้านลบ และด้านบวกไว้ในใจ เก็บงำไว้จนรู้สึกว่าต้องเขียนออกมา

"แม่บางคนราวกับว่าเป็นนางฟ้า แต่แม่บางคนเรารู้สึกว่ารับไม่ได้เลยว่าเป็นแม่มาได้ยังไง เมื่อเห็นแม่ทั้งแม่ที่ดีและแม่ที่ไม่ดีก็เลยคิดว่าจะเขียนหนังสือชื่อเรื่องว่าแม่ของเรานี่แหละ ก็จดชื่อว่ามีแม่คนไหนบ้างที่เราเจอในชีวิตจริง แล้วก็เริ่มเขียน "แม่คนแรกที่เขียนเป็นเรื่องที่สะเทือนใจเรามาก เพราะเจอมากับตัวเอง คือเป็นแม่ที่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายแต่ก็ยืนยันให้เอาลูกตนไว้ หากจะผ่ารักษาแล้วลูกต้องตาย แต่เธอบอกว่า ไม่เอา บอกคำเดียวว่าให้ลูกรอด ไม่ต้องคำนึงถึงชีวิตตัวเอง เราก็ประทับใจมาก" พญ.ชัญวลีกล่าว และว่า เมื่อเขียนเสร็จก็ตั้งชื่อเรื่องขึ้นมาเองว่า แม่ต้นไผ่ เพราะต้นไผ่เมื่อไหร่ที่ออกดอกกอไผ่จะตาย ซึ่งตรงกับชีวิตของแม่ที่ถูกถ่ายทอดออกมา หลังจากนั้นก็เลยเขียนเรื่องแม่ท่านอื่นอีก 19 คน และตั้งชื่อเป็นต้นไม้แต่ละชนิด

คนสุดท้าย หรือคนที่ 20 พญ.ชัญวลีเขียนถึงแม่ของตัวเองโดยไม่มีชื่อใดที่จะเหมาะเท่าแม่มะลิ เป็นการขอบูชาแม่ด้วยเรื่องมะลิ "เมื่อเขียนเรื่องเกี่ยวกับแม่เสร็จ 19 คน ก็ทำให้คิดถึงแม่ของตัวเองขึ้นมาทันที คิดว่าเมื่อผู้อ่านอ่านแล้วก็จะคิดถึงแม่ของตัวเองด้วย นักอ่านท่านหนึ่งบอกว่า พออ่านแล้วเขาคิดว่า ผู้ชายเองก็ต้องเข้าใจแม่ตัวเองให้มากขึ้น และถ้ามีแฟนก็จะต้องดูแลให้มากด้วย" พญ.ชัญวลีกล่าว และปิดท้ายว่า หนังสือเล่มนี้เป็นการสะท้อนชีวิตแม่ที่หลากหลายและส่วนหนึ่งเป็นด้านมืดของสังคม

ไทย แสงสว่างควรจะสอดส่องมาเสียทีให้คนทั่วไปรับรู้ว่าชีวิตของแม่ที่แท้จริงมีแบบนี้ด้วย มาถึงผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ "ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน"สิริญรำไพ หรือ มาเรีย เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่ามาจากการเดินทาง ใช้ชีวิตของตัวเอง ทำให้เห็นมุมมองต่างๆ ในสังคม เห็นชีวิตผู้คน ซึ่งแต่ละสิ่งเข้ามากระทบใจ จนอดไม่ได้ที่จะเขียนบันทึกไว้ แล้ววันหนึ่งในปี พ.ศ.2539 คุณแม่ของสิริญรำไพเสียชีวิต เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนหนังสือเรื่องนี้ออกมาให้สำเร็จ

"ในเรื่องนี้จะแบ่งออกเป็นหลายๆ บท หลายๆ ตอน โดยจะดึงเอามาเฉพาะเรื่องที่กระทบใจ เป็นเรื่องที่เห็นแล้วว่าให้ข้อคิด ให้มุมมองกับเราหรือสังคมได้ ส่วนตัวคิดว่าหนังสือเล่มนี้สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเองซึ่งเป็นผู้เขียนพอสมควร เหตุผลที่สะท้อนออกมาอย่างนั้นคงเพราะเรานึกขึ้นได้ว่าชีวิตเรามันสั้น เราอยากทำอะไรที่มีประโยชน์และให้คุ้มค่าต่อตัวเราเอง และเป็นบทเรียนให้กับผู้อื่นบ้าง

"โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากในแต่ละวัน เราอยากให้คนหันมาสนใจดูแลจิตวิญญาณที่อยู่ภายในมากกว่าที่จะไปวิ่งไล่ตามความเจริญ ชื่อเรื่อง 'ก่อนสิ้นรุ่งอรุณแห่งฝัน' จึงเหมือนกับคำถามว่าเราจะทำอะไรให้ชีวิตของเราบ้าง ก่อนที่เราจะตายไป"

ก่อนจะชักชวนคนอ่านว่า หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือนบทเรียนเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ ที่อยากถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต และการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะโลกนี้เปรียบเสมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ ผู้คนบนโลกคือนักเรียน ส่วนหนังสือเล่มนี้ก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่จะให้ข้อคิดและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับใครอีกหลายๆ คน นี่คือ 2 เรื่องราวของ 2 นักเขียนรางวัลชมนาด เป็น 2 เรื่องจริงที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

โดย ศุภกาญจน์ เรืองเดช

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ