หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช : ผู้สร้างผลงานด้านวรรณศิลป์ ระดับประเทศของไทย

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

ประวัติ
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดาโอรส-ธิดา ทั้ง 6 คน ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) โดยชื่อ "คึกฤทธิ์" นั้น มาจากการที่ ชอบร้องไห้เสียงดังในวัยทารก จึงได้รับพระราชทานนามนี้จาก สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ หม่อมราชวงศ์หญิงพักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2479 มีบุตรธิดา 2 คน คือ หม่อมหลวงรองฤทธิ์ ปราโมช และ หม่อมหลวงหญิง วิสุมิตรา ปราโมช ต่อมาได้แยกกันอยู่กับหม่อมราชวงศ์พักตร์พริ้ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พักอยู่ที่บ้านในซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยอยู่ในซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทร บ้านหลังนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "บ้านซอยสวนพลู"

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ นับเป็นบุคคลที่มีบุคลิกและบทบาทที่หลากหลาย มีชื่อเสียงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการประพันธ์ การแสดง และยังเป็นนักการเมือง ท่านเป็นผู้ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า เมื่อ พ.ศ. 2488 ต่อมาได้ยุบรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา ต่อมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2493 และก่อตั้งพรรคกิจสังคม เมื่อ พ.ศ. 2517 และได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 ของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลทั้งที่มีจำนวน ส.ส.ในมือเพียง 18 คน รัฐบาลคึกฤทธิ์ในครั้งนั้นมี นายบุญชู โรจนเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบาย "เงินผัน" เป็นที่รู้จักเลื่องลือทั่วไปในสมัยนั้น

ก่อนดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยรับบทเป็น นายกรัฐมนตรี ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง ชื่อว่าประเทศ สารขัณฑ์ ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American (1963) คู่กับมาร์ลอน แบรนโด เมื่อ ปี พ.ศ. 2506 และหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคยรับบทเป็นนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์ ผู้แทนนอกสภา กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2526

ระหว่างการเล่นการเมือง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีบุคลิกที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองที่ทุกคนรู้จักดี คือ วาทะศิลป์ และบทบาทเป็นที่ชวนให้จดจำ เช่น การผวนพูดเล่นชื่อของตัวเองเมื่อมีผู้ถามว่า หมายถึงอะไร โดยตอบว่า "คึกฤทธิ์ ก็คือ คิดลึก" เป็นต้น

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้รับฉายาจากนักการเมือง และสื่อมวลชนมากมาย เช่น "เฒ่าสารพัดพิษ" "ซือแป๋ซอยสวนพลู" ภายหลังเมื่อมีอาวุโสสูงวัย จนสามารถแสดงความเห็นทางการเมือง ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ จึงได้รับฉายาว่า "เสาหลักประชาธิปไตย" นอกจากนี้อีกฉายาหนึ่งที่ใช้เรียก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ในบางแห่งคือ "หม่อมป้า"

ในด้านวรรณศิลป์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีผลงานหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับประเทศมากมาย ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น สี่แผ่นดิน, ไผ่แดง, กาเหว่าที่บางเพลง, หลายชีวิต, ซูสีไทเฮา, สามก๊กฉบับนายทุน และเรื่องสั้น "มอม" ซึ่งได้ใช้เป็นบทความประกอบแบบเรียนภาษาไทยในปัจจุบัน บางชิ้นมีผู้นำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ เช่น สี่แผ่นดิน, หลายชีวิต และทำเป็นภาพยนตร์ เช่น กาเหว่าที่บางเพลง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริรวมอายุ 84 ปี 5 เดือน 20 วัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอชื่อให้ท่านเป็น บุคคลสำคัญของโลก กับทาง ยูเนสโก

การศึกษา
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้าน กับหม่อมราชวงศ์บุญรับ พี่สาวคนโต จนอ่านภาษาไทยได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2458 ท่านจึงเข้าศึกษาภาคบังคับ ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (วังหลัง) จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนเทรนต์วิทยาลัย (Trent College) จากนั้นสอบเข้าวิทยาลัยควีนส์ (The Queen's College) มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เพื่อศึกษาวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง (Philosophy, Politics and Economics) โดยสำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม และอีกสามปีต่อมา ก็สำเร็จปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ผลงานประพันธ์
นวนิยาย

  • สี่แผ่นดิน
  • ไผ่แดง
  • กาเหว่าที่บางเพลง
  • ซูสีไทเฮา
  • สามก๊กฉบับนายทุน
  • ราโชมอน
  • ฮวนนั้ง
  • โจโฉ นายกตลอดกาล

รวมเรื่องสั้น

  • มอม
  • เพื่อนนอน
  • หลายชีวิต

สารคดี

  • ฉากญี่ปุ่น
  • ยิว
  • เจ้าโลก
  • สงครามผิว
  • คนของโลก
  • ชมสวน
  • ธรรมคดี
  • น้ำพริก
  • ฝรั่งศักดินา
  • สรรพสัตว์
  • สัพเพเหระคดี
  • ข้อคิดเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย
  • โครงกระดูกในตู้
  • พม่าเสียเมือง
  • ถกเขมร
  • เก็บเล็กผสมน้อย
  • เบ้งเฮ็ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น
  • เมืองมายา
  • เรื่องขำขัน
  • โจโฉ นายกฯ-ตลอดกาล
  • กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้
  • คนรักหมา
  • ตลาดนัด
  • นิกายเซน
  • บันเทิงเริงรมย์
  • วัยรุ่น
  • สงครามเย็น
  • อโรคยา
  • สยามเมืองยิ้ม
  • ห้วงมหรรณพ

ทำงาน

  • รับราชการที่กรมสรรพากรประวัติการ
  • เลขานุการที่ปรึกษากระทรวงการคลัง
  • ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาลำปาง (พ.ศ. 2478-2486)
  • รับราชการทหาร (เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้รับยศ สิบตรี)
  • หัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการและหัวหน้าฝ่ายออกบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
  • ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด
  • เขียนบทความลงในคอลัมน์ "ซอยสวนพลู"
  • อาจารย์พิเศษของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2528
  • พ.ศ. 2531 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศจากสิบตรี เป็นพลตรี (ทหารราชองครักษ์พิเศษ)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2518 เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
  • พ.ศ. ไม่ปรากฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • พ.ศ. 2518 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • พ.ศ. 2512 เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
  • เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1
  • เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวรรณศิลป์