มนัส จรรยงค์ : ราชาเรื่องสั้นของเมืองไทย

มนัส จรรยงค์

ประวัติย่อ
เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2450 ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องรวม 10 คน ของนายผ่องและนางเยื้อน จรรยงค์ เดิมบิดามีภูมิลำเนาแถวสะพานเจริญพาศน์ ธนบุรี รับราชการเป็นผู้ช่วยอัยการที่เรียกกันว่า “แพ่งอัยการ” ภายหลังไปเป็นทนายความอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ส่วนมารดาเป็นบุตรสาวของผู้พิพากษาที่ 2 ในจังหวัดเพชรบุรี

การศึกษา เริ่มเรียนหนังสือกับมารดาที่บ้านตั้งแต่อายุ 3 - 4 ขวบ เข้าโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนคามวาสี ต่อมาย้ายมาเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรีถึงชั้นมัธยมปีที่ 2 บิดาก็นำเข้ามากรุงเทพฯ มาฝากให้อยู่บ้านเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เข้าเรียนที่โรงเรียนสุขุมาลัยแล้วย้ายมาต่อที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ระหว่างนั้นชอบเล่นกีฬาและดนตรี ได้ชื่อว่าเป็นนักฟุตบอลที่มีความสามารถคนหนึ่ง

การทำงาน หลังจากลาออกจากโรงเรียนไปสมัครเป็นนักแสดงกายกรรมในคณะ 'เป้ง เทียม' ซึ่งเป็นนักพลศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทราวาส เขาออกแสดงไปตามงานรื่นเริงต่าง ๆ อยู่ระยะหนึ่ง จึงเลิก เดินทางกลับบ้านเดิมที่เพชรบุรี ประมาณพ.ศ. 2471 สมัครเข้าทำงานเป็นเสมียนไต่สวนประจำอำเภอ ขณะเดียวกันก็เป็นครูสอนดนตรีไทย มีวงดนตรีออกแสดงหารายได้ ชื่อเสียงความสามารถของเขาขจรกระจายไปทั่วเมืองเพชรบุรี จนเจ้าเมืองให้ไปเป็นครูสอนดนตรีแก่ลูกสาว ซึ่งต่อมารักใคร่ชอบพอกันจนกลายมาเป็นคู่ชีวิตในที่สุด

พ.ศ.2472 ได้เริ่มเขียนเรื่องสั้นชื่อ “สวรรค์ครึ่งเดือน” เป็นครั้งแรก ใช้นามปากกา “อ.มนัสวีร์” มีความหมายว่า “อ้อมผู้กล้าหาญ” แล้วส่งให้หนังสือพิมพ์เดลิเมล์วันจันทร์” แต่ ป.บูรณปกรณ์ ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น 'คู่ทุกข์คู่ยาก' ในเดือนมิถุนายน 2473 ในปีเดียวกันนั้นได้สมรสกับอ้อม บุนนาค เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เข้าประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 'หลักเมือง' และเขียนเรื่องรักโศกเล่มละ 10 สตางค์ โดยใช้นามปากกา “อ.มนัสวีร์” และ “ฤดี จรรยงค์” อยู่ในแวดวงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อยู่ช่วงหนึ่งก่อนออกไปรับหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านค้าแบบสหกรณ์ที่ทัณฑนิคมจังหวัดยะลา หลังจากกลับมาทำหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ อีก แล้วย้ายประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 'นิกร' กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็น 'สยามนิกร' ก่อนออกมาเป็นนักเขียนอย่างเดียว นามปากกาที่เขาใช้คือ อ. มนัสวีร์, ฤดี จรรยงค์ และรุ่ง น้ำเพชร เขาเขียนเรื่องสั้นมาไม่ต่ำกว่า 1,000 เรื่อง นวนิยายอีกประมาณ 20 เรื่อง เรื่องสั้น 'จับตาย' ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในหนังสือ 'ชุมนุมบทประพันธ์แห่งเอเชีย' ของสมาคมนักเขียนแห่งออสเตรเลีย(The Followship of Australian Writers) เมื่อปีพ.ศ. 2501 เรื่องสั้น 'ซาเก๊าะ' ได้รับการคัดเลือกตีพิมพ์เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2528 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้ยกย่องมนัส จรรยงค์เป็น 1 ใน 15 ของนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่นเนื่องในวาระครบ 100 ปีเรื่องสั้นไทย นอกจากนั้น มนัส จรรยงค์ยังเป็นนักเขียนสารคดีที่มีความสามารถคนหนึ่ง ที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือเรื่อง 'ข้าพเจ้าเป็นบ้าไป 36 ชั่วโมง'

มนัส จรรยงค์ ใช้ชีวิตครอบครัว มีบุตรดัวยกัน 5 คน คือ อมรา วิไลเกษม มัทนา บุนนาค , มนู จรรยงค์ , อาณัติ จรรยงค์ และอ้อมน้อย ทวีศักดิ์สกุล ในช่วงปลายชีวิต ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายแห่งหลายครั้งหลายหน ครั้งสุดท้ายไปพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลชลประทานปากเกร็ด นนทบุรี จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคตับเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 รวมอายุได้ 58 ปี กับ 5 เดือน

นามปากกา
- อ. มนัสวีร์, ฤดี จรรยงค์ และรุ่ง น้ำเพชร

งานเขียนครั้งแรก
- เรื่องสั้นเรื่องแรก 'คู่ทุกข์คู่ยาก' ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ 'เดลิเมล์วันจันทร์' เดือนมิถุนายน 2473 ใช้นามปากกาว่า 'อ. มนัสวีร์'

ผลงานรวมเล่ม
นวนิยาย

- กันยาเทวี
- เกิดในกระท่อม
- ฉมวกเหล็ก
- ดอกแคแดง
- เทพธิดามือ
- ธาตุแค้น
- ประตูทอง
- ไฟปรารถนา
- มรสุม
- ล่องมนุษยโลก
- เล่ห์โลกีย์
- เลือดอัสดร
- สามทมิฬ
- สายนที
- แสนแค้น
- แสนงอน
- เหยื่ยวทะเล
- เหยื่อโลกีย์
- อาชญากรรม
- จำแลง ฯลฯ

รวมเรื่องสั้น
- เกิดกลางนา
- คนกรุง
- คืนวันหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง
- งิ้วไม่มีหนาม
- จอมขวาน
- จับตาย
- ชายเฟือย
- ซาเก๊าะ
- ซึงผี
- เฒ่าลอยลม
- เฒ่าเสเพล
- เฒ่าโลกีย์
- ดอกรัก
- เหนือหลุมศพ
- ทะเลวน
- ทะเลหลับ
- มือเสือ
- สลัดเครา
- สินในเลือด
- ยาสั่ง
- เลือดลูกทุ่ง
- อ้ายแสนเป็นโจร ฯลฯ


อ่านบทความเยือนบ้าน คุณมนัส จรรยงค์ เพชรบุรี :  http://praphansarn.com/home/content/1082