วาทิน ปิ่นเฉลียว : อดีตบรรณาธิการบริหารของ ต่วยตูน

วาทิน ปิ่นเฉลียว

วาทิน ปิ่นเฉลียว หรือ ต่วย บรรณาธิการบริหารของ ต่วย’ตูน นิตยสารพ็อกเกตบุ๊กรายปักษ์ที่วางจำหน่ายตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เป็นผู้บัญญัติคำว่า "แฟนานุแฟน" วาทิน ปิ่นเฉลียว เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2473 เป็นบุตรคนกลางของนายวิวัธน์ และนางพวง ปิ่นเฉลียว มี่พี่สาวชื่อ มาลัย มีพี่ชายชื่อ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว (ทิฆัมพร หยาดเมฆา) มีน้องสาวชื่อ จินตนา ปิ่นเฉลียว (จินตวีร์ วิวัธน์) [1] จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยทำงานเป็นสถาปนิกควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนยันฮี เริ่มเข้าสู่วงการหนังสือ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ด้วยการวาดรูปการ์ตูนในหนังสือฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นไปเขียนภาพประกอบเรื่องให้ "นิตยสารสยามสมัย" และวาดการ์ตูนให้กับ "นิตยสารชาวกรุง" วาทินมีบุตรสองคนคือ ดาว ปิ่นเฉลียว และดุลย์ ปิ่นเฉลียว

เมื่อ พ.ศ. 2509 วาทิน ปิ่นเฉลียว และ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ นักเขียนจากนิตยสารชาวกรุง ร่วมกันตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ "สำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน" และรวบรวมการ์ตูนที่วาทินวาดในนิตยสารชาวกรุง รวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ "รวมการ์ตูนของต่วย" พิมพ์ออกมาขายเป็นชุดๆ ต่อมาจึงพิมพ์เรื่องสั้น โดยขอต้นฉบับจากบรรดานักเขียนอาวุโส และเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นนักเขียนในสมัยนั้น เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุญยฤทธิ์, วสิษฐ เดชกุญชร รวมกับการ์ตูนของวาทิน ออกเป็นนิตยสารรายสะดวก ใช้ชื่อว่า "รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง"

ต่อมามีคนท้วงติงว่า ชื่อหนังสือยาวเกินไปเรียกยากจำยาก จึงตัดชื่อหนังสือเหลือ ต่วย’ตูน และเริ่มพิมพ์เป็นรายเดือนฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 และพิมพ์ ต่วย’ตูน พิเศษ เป็นนิตยสารรายเดือน มีเนื้อหาเกี่ยวเกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องน่ารู้ เรื่องลึกลับ เรื่องแปลกและเรื่องผี ฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 งานเขียนในต่วย’ตูน ค่อนข้างหลากหลาย ประกอบด้วยนักเขียนจากหลายวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ครู วิศวกร ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ข้าราชการ

วาทิน ปิ่นเฉลียว เสียชีวิต วันที่ 4 ตุลาคม 2558 สิริอายุ 85 ปี