เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ : เจ้าของรางวัลซีไรต์จากรวมบทกวี “แม่น้ำรำลึก” ในปี 2547

เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

 

การศึกษาสูงสุด มัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนสามชุกรัตนโภคาราม

ประเภทงานเขียน บทกวี, เรื่องสั้น, นวนิยาย, ความเรียง

ผลงานเด่น แม่น้ำรำลึก, ชีวิตสำมะหาอันใด, กระดูกของของความลวง, แมวผู้มองเห็นกำแพงเป็นสะพาน, สวนโลก

ผลงานรวมเล่ม บ้านแม่น้ำ, พันฝนเพลงน้ำ, ชีวิตสำมะหาอันใด, นักปั้นน้ำ, นกชีวิต, เหมือนว่าเมื่อวานนี้เอง, ฉันกับแมว, กระดูกของความลวง, แมวผู้มองเห็นกำแพงเป็นสะพาน, นักเข้าฝัน, แม่น้ำเดียวกัน, สวนโลก, นัยในนัยน์, แม่น้ำรำลึก (Reminiscence of the River ) ฉบับสองภาษา, แม่น้ำที่สาบสูญ, ผู้ปลอมแปลงสิงโต, ความฉิบหายชั่วชีวิต

 

ประวัติ เรวัตน์ พันธุ์พิพัฒน์ มีพื้นฐานครอบครัวทำนาและไร่อ้อย เขาเคยเป็นเด็กวัด ทหารเกณฑ์ พนักงานโรงแรมและร้านวัสดุก่อสร้าง ผู้จัดการร้านอาหารกึ่งผับ ก่อนจะเป็นนักเฝ้าสวน ที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยทำงานเขียนมาโดยตลอด เคยมีเรื่องสั้นประดับช่อการะเกด ชื่อ “บุรุษไปรษณีย์ผู้หลงลืมบ้านเลขที่บ้านของตน” ต่อมาเรื่องสั้น “เรื่องเล่า สายน้ำ และความตาย” ได้รับรางวัลดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในปี 2537 โดยทั้งสองเรื่องมีการทำเป็นละครเวทีของมหาวิทยาลัย และหนังสั้น เขาได้รับรางวัลซีไรต์จากรวมบทกวี “แม่น้ำรำลึก” ในปี 2547 ปีเดียว กับที่รวมเรื่องสั้น “ชีวิตสำมะหาอันใด” ได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นบรรณาธิการคัดบทกวีให้หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก (2548 - 2551) เขามีผลงานมาแล้วประมาณ 20 เล่ม ซึ่งได้รับรางวัลกว่าสิบรางวัล เช่น “กระดูกของความลวง” (รางวัลรวมเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2555 จาก สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ) และนวนิยาย “แมวผู้มองเห็นกำแพงเป็นสะพาน” (รางวัลลูกโลกสีเขียว และหนังสืออ่านนอกเวลา ระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยบูรพา) รวมเรื่องสั้นและนวนิยายบางเรื่องยังเข้ารอบ longlist และ Shortlist รางวัลซีไรต์ บทกวี “จังหวะวัว” และเรื่องสั้น “ซับตาเมา” ได้รับรางวัลดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ผลงานหลายชิ้นมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ มลายู เวียดนาม และจีน เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ได้รับยกย่องให้เป็น “ศิลปินศิลปาธร” จากกระทรวงวัฒนธรรม และได้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นรางวัลระดับภูมิภาค เขารับเชิญเป็นวิทยากรสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นกรรมการรางวัลวรรณกรรมหลายวาระ กวีซีไรต์ผู้นี้มักให้นิยามตัวเองว่าเป็น “นักรู้สึก” ที่มีความสุขกับการสังเกตโลกและเดินทาง “ข้างใน”