นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

  • รางวัลบทกวีจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2538 และปี พ.ศ. 2539 รางวัลวรรณกรรมดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี พ.ศ. 2547 จากรวมเรื่องสั้น เรื่องเล่าของ คนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง และรวมเรื่องสั้นเล่มเดียวกันนี้ยังได้รับการบรรจุไว้ในตำราเรียนวิชา วรรณคดีกับสังคมไทยของมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกด้วย
  • รางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2550 ศิริวร เป็นนักเขียนคลื่นลูกใหม่ในปัจจุบัน สร้างงานเขียนหลายประเภท ครอบคลุมทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และความเรียง มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แสดงให้เห็นถึงความใฝ่ใจและมานะในอาชีพนักเขียน ศิริวร ทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องจริงจังและมีพัฒนาการทางด้านฝีมืออยู่เสมอ เขาพยายาม แสวงหาวิธีการเขียนใหม่ๆ มาสร้างสรรค์นวลักษณ์ให้แก่เรื่องเล่าสมัยใหม่อย่างน่าสนใจ และมีความใส่ใจที่จะเพ่งมองชีวิตและสังคมอย่างครุ่นคิดพิจารณา งานเขียนในช่วงหลังของเขาจึงมีสีสันในแง่ของการนำเสนอโลกทัศน์ ต่อชีวิต สังคมและโลกที่ลุ่มลึกมากขึ้น พร้อมทั้งมีกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาน่าสนใจ

     

ประวัติส่วนตัว :

ศิริวร แก้วกาญจน์ เกิด มีนาคม พ.ศ. 2511 เริ่มเข้าสู่โลกการอ่านอย่างจริงจังตอนเรียนที่วิทยาลัยศิลปะหัตกรรม นครศรีธรรมราช จากนั้นก็เข้าไปเป็นทหารอยู่ในกองทัพภาคที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี  เข้ามากรุงเทพฯ ปี 2534 รับจ้างทำงานประติมากรรมอยู่ราวๆ ครึ่งปี จากนั้นก็เข้าไปประจำอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์เล่มหนึ่ง พร้อมกับเขียนบทกวีและเขียนรูปไปด้วย ศิริวรเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจังเมื่อลาออกจากงานประจำที่หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ฉบับดังกล่าว หลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 จากนั้นเขาไม่เคยเข้าทำงานประจำที่ไหนอีกเลย จนปัจจุบันมีผลงานมาแล้ว 11 เล่ม ทั้งบทกวี ความเรียง เรื่องสั้น และนวนิยาย เคยได้รับรางวัลดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2547 จากรวมเรื่องสั้น เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง รางวัลบทกวีของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยปี 2538 จากบทกวีชื่อ ณ ซอกมุมสมัยและใครเหล่านั้น และปี พ.ศ. 2539 จากบทกวีชื่อ พเนจร มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำประเทศไทย 4 ปี (5 เล่ม) ติดต่อกัน

ปี พ.ศ. 2547 กวีนิพนธ์เรื่องประเทศที่สาบสูญ ปี พ.ศ. 2548 เรื่องสั้น เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง และปี พ.ศ. 2549 นวนิยายเรื่องกรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด และปี พ.ศ. 2550 กวีนิพนธ์เรื่อง เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก และเรื่อง ลงเรือมาเมื่อวาน ปัจจุบันศิริวรใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ยังคงผลิตงานเขียนทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น สารคดี และ นวนิยายอย่างมุ่งมั่นจริงจัง แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ศิริวรก็มักจะออกไปเช่าที่พักเพื่อเขียนหนังสือในต่างจังหวัดอยู่เป็นระยะๆ อีกทั้งยังเดินทางท่องเที่ยวไปในแถบประเทศเพื่อนบ้าน (เท่าที่พอจะมีต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจ) เพื่อเก็บข้อมูลมาใช้เขียนหนังสือ และเรียนรู้ชีวิตในแง่มุมใหม่ๆอยู่เสมอ นอกจากเขียนหนังสือเป็นอาชีพแล้ว ยังเขียนเพลง เขียนภาพประกอบ ออกแบบปีก ออกแบบรูปเล่มหนังสือ และเป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจให้กับพ็อกเก็ตบุ๊คควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ PAJONPHAI ทั้งยังเป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง BOOKMARX นิตยสารวรรณกรรม (ในเครือสำนักพิมพ์ผจญภัย)

การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม
-เป็นวิทยากรร่วมอภิปรายเรื่องวรรณกรรม ให้แก่สถาบันการศึกษาและองค์กรวรรณกรรมต่าง ๆ -ร่วมกับเพื่อนนักเขียนรุ่นใหม่ก่อตั้งเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย
-ร่วมกับเพื่อนนักเขียน นักกิจกรรม นักวิชาการ คนทำสำนักพิมพ์ และเพื่อนนักดนตรีวงมาลีฮวนน่า ก่อตั้งกลุ่ม ARTS CARE จัดคอนเสิร์ตพร้อมกับจัดพิมพ์หนังสือและอ่านบทกวี เพื่อหาเงินช่วยเหลือครอบครัวของครูที่เสียชีวิตใน 3 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย

นามปากกา
ศิริวร แก้วกาญจน์, เงา จันทร์