นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

  • รางวัลสุภาว์ เทวกุล ประจําปี 2553
  • รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมของกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ พ.ศ.2552 พ.ศ.2556 และ พ.ศ.2560

ประวัติส่วนตัว :

     จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร เกิดที่จังหวัดลพบุรี จนถึงอายุ 7 ขวบ จึงย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ (สร้างสรรค์โฆษณา) มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “ย่าสอนไว้” ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารรายสะดวกของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (ตุลาคม 2547) จึงทำให้มีกำลังใจในการเขียนมาตั้งแต่วันนั้น ระหว่างเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ได้เขียนคอลัมน์ให้นิตยสารรายปักษ์ Vote (ฅนมีสี) ชื่อคอลัมน์ ป.ล. ’49 และ ป.ล. ’50 มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัยรุ่นร่วมสมัย ที่บอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่ตั้งคำถาม และเสียดสี ต่อมาความเรียงหลายชิ้นในคอลัมน์นี้ยังได้ตีพิมพ์ซ้ำในนิตยสารออนไลน์ Typhoon Cafe (the teen table) ของปราบดาหยุ่น ช่วงปีสุดท้ายของการเรียนในมหาวิทยาลัย คาบเกี่ยวถึงช่วงเวลาหลังจากเรียนจบ ยังเขียนเรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสารต่าง ๆ จนได้รับตีพิมพ์อยู่เนือง ๆ เช่น นิตยสาร ฅ คน, วารสารหนังสือใต้ดิน (Underground Buleteen), ราหูอมจันทร์ เรื่องสั้น “เพียงมอง” ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย Marcel Barang ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เขามีความสนใจในการเขียนหลายรูปแบบ รวมทั้งงานวิจารณ์ จนได้รับรางวัลชมเชยบทวิจารณ์วรรณกรรม หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ประจำปี พ.ศ. 2552 และยังเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสาร GM เคยเขียนคอลัมน์ให้นิตยสาร Vote ชื่อคอลัมน์ ‘อวสานนักวิทย์’ ซึ่งว่าด้วยเรื่องราววาระสุดท้ายของชีวิตนักวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบความเรียงกึ่งเรื่องสั้นสะท้อนมุมมองที่มีต่อความตาย นอกจากนี้ยังเขียนเรื่องสั้น โดยได้รับรางวัลสุภาว์ เทวกุล ประจำปี 2553 และวางแผนเขียนนวนิยายอันเป็นงานที่ท้าทายต่อไป