นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นกวีร่วมสมัยที่ร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของไทยผู้หนึ่ง บทกวีของนายสุจิตต์ วงศ์เทศ ปรับประยุกต์ขนบวรรณศิลป์พื้นบ้านมาสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์วิถีชีวิตของผู้คน สังคม และการเมืองร่วมสมัย ด้วยท่วงทำนองเรียบง่ายแต่เฉียบคม นายสุจิตต์ วงษ์เทศ พิสูจน์ให้เห็นว่ากวีนิพนธ์สามารถสื่อเนื้อหาทางสังคมและการเมืองร่วมสมัยได้อย่างทรงพลัง นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นปฏิภาณกวีผู้เชี่ยวชาญในการด้นกลอนเสภา อีกทั้งผสมผสานมรดกทางวรรณศิลป์ของไทยตั้งแต่วรรณคดีโบราณ เพลงพื้นบ้านต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ โบราณคดีและตำนาน เพื่อนำมาเสนอเรื่องราวร่วมสมัย กวีนิพนธ์จำนวนมากนำเสนอวิถีชีวิตของสามัญชนชาวไทยที่ยากลำบาก แต่ก็ยังต่อสู้ดิ้นรนและมีความรักประเทศชาติและผืนแผ่นดิน จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. 2545
 

ประวัติส่วนตัว :

สุจิตต์ วงษ์เทศ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2488 ที่บ้านด่าน ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา 7 ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ

พ.ศ. 2507 สอบเข้าคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยใช้เวลาเรียน 6 ปี ส่วนทางด้านงานประพันธ์นั้นเริ่มสนใจตั้งแต่มัธยมเพราะได้เป็นเพื่อนกับ ขรรค์ บุนปาน จนมีผลงานรวมพิมพ์เป็นเล่มรวมกับผลงานของขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ “นิราศ” และ “กลอนลูกทุ่ง”

พ.ศ. 2508 ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “คนปาบ” เป็นปฐมบทของพฤติกรรม “ขุนเดช” ได้ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2509

พ.ศ. 2511 มีรวมเรื่องสั้นเล่มแรกร่วมกับขรรค์ชัย บุนปานชื่อ “ครึ่งรักครึ่งใคร่”

พ.ศ. 2512 มีผลงานร้อยกรองร่วมกับขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” และรวมเรื่องสั้นของตัวเองคนเดียวชื่อ “ขุนเดช” กับนวนิยายขนาดสั้น “หนุ่มหน่ายคัมภีร์”

ช่วงที่เรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ประพันธ์ร้อยกรองและเรื่องสั้นกับกลุ่ม “หนุ่มเหน้าสาวสวย” และทำนิตยสาร “ช่อฟ้า” เป็นบรรณาธิการวารสาร “โบราณคดี” ต่อมาได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาและวรรณคดี คณะโบราณคดี

พ.ศ. 2513 ไปทำงานกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่หนังสือพิมพ์ “สยายรัฐ” รายวัน ได้ทำงานอยู่ประมาณ1 ปี ได้ลาพักผ่อนไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาประมาณ 1 ปี มีผลงานรวมเรื่องสั้นพิมพ์เผยแพร่ในช่วงนี้ชุดหนึ่งคือ “มุกหอมบนจานหยก” เรื่องที่ส่งมาพิมพ์ในสยามรัฐรายวันและที่เขียนให้สุทธิชัย หยุ่น แปลเป็นภาษาอังกฤษลงในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้รวมพิมพ์ภายหลังในชุด “เมด อิน ยู.เอส.เอ.“ และ “โง่เง่าเต่าตุ่น เมด อิน ยู.เอส.เอ. ภาค 2 “

สุจิตต์ วงษ์เทศ แต่งงานกับรานี เจียรดิษฐอาภรณ์ (รศ.ปรานี วงษ์เทศ ในปัจจุบัน) ในช่วงที่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เป็นคนรักที่ไปศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา อยู่ก่อนแล้ว พ.ศ. 2515 เดือนพฤษภาคม ได้กลับมาที่เมืองไทยมาทำที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันตามเดิม แต่อยู่ได้ไม่นานเกิดการขัดแย้งในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของหนังสือพิมพ์ จึงต้องออก พร้อมกับขรรค์ชัย บุรปานและเสถียร จันทิมาธร และคิดจะออกหนังสือพิมพ์รายวันเป็นของตัวเอง แต่ตอนนั้นไม่อนุญาติให้จดทะเบียนหนังสือพิมพ์ใหม่ จึงไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวัน

หลังการเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2516 ได้ออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายสัปดาห์” และพัฒนามาเป็น “ประชาชาติ รายวัน” พ.ศ. 2519 หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ รายวัน” ถูกปิด และได้กลับมาตั้งโรงพิมพ์เรือนแก้ว แล้วออกหนังสือพิมพ์ “การะเกด” หลังจากหมดช่วงของรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ทำอยู่ได้ระยะหนึ่งก็เลิกล้ม

พ.ศ. 2522 ได้ทำนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” รายเดือนปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็ได้เขียนบทความแนวประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมในนามจริงและนามปากกา “ทองเบิ้ม บ้านด่าน” ไปพร้อมกับงานร้อยกรอง เรื่องสั้นและนวนิยาย แล้วยังได้ไปช่วยจัดทำรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น รายการจดหมายเหตุกรุงศรี

พ.ศ. 2536 จากผลงานประพันธ์ที่มีต่อเนื่องและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั่วไป จึงได้รับรางวัล “ศรีบูรพา”


นามปากกา
- ทองเบิ้ม บ้านด่าน