พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต : ทรงใช้นามปากกาว่า ’ว.ณ ประมวญมารค“

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 พระองค์หญิงได้สิ้นพระชนม์เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของพระองค์ท่านที่ทรงกล้าหาญ เสียสละ และจงรักภักดี รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้เสนอให้ตั้งชื่อถนนซุปเปอร์ไฮเวย์จากดินแดงไปรังสิตว่า “ถนนวิภาวดีรังสิต” เพื่อรำลึกถึงพระองค์ ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะรู้จักถนนวิภาวดีรังสิตเป็นอย่างดี เพราะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่สำคัญในการเดินทางสัญจรไปมา

โดยหากย้อนศึกษาพระประวัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตจะทราบว่า พระองค์หญิงทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวิภาวดี (รัชนี) รังสิต ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส) ต้นราชสกุลรัชนี และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2463 ทรงศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และทรงศึกษาหลักสูตรพิเศษเพิ่มเติมอีก 3 ปี โดยพระองค์หญิงทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2485 และเสกสมรสกับหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2489 มีธิดา 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์วิภานันท์ รังสิต และหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต

ภายหลังที่พระองค์หญิงทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทรงรับใช้พระบิดาอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมหมื่นพิทยาลงกรณเป็นที่รู้จักกันดีในวงการหนังสือในนามปากกา ’น.ม.ส.“ ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “กวีเอก” ผู้หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระองค์หญิงทรงมีพระปรีชาสามารถทางอักษรศาสตร์เช่นเดียวกับพระบิดา ทรงเขียนเรื่องสำหรับเด็กเมื่อชันษาเพียง 14 ปี โดยใช้นามปากกาว่า 'ว.ณ ประมวญมารค' เรื่องที่ทรงแต่งเป็นนวนิยายอมตะ เป็นที่นิยมของผู้อ่านอย่างมาก อาทิ เรื่อง ปริศนา รัตนาวดี เจ้าสาวของอานนท์ นิกกับพิมพ์ ฯลฯ ภายหลังได้ทรงประพันธ์หนังสืออีกหลายเรื่อง ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ทุกเรื่องล้วนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์หญิงรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลาทั้งในประเทศและเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์หญิงทรงเป็นนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการถึง 23 ประเทศ

สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 พระองค์หญิงได้ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำสิ่งของพระราชทานไปเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ และเสด็จแทนพระองค์ไปเยี่ยมเยียนประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพราะตั้งพระทัยที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ทรงมีพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก แม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงอุตสาหะเสด็จไปเยี่ยมเยียนบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า

จนกระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 ระหว่างทางเสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำสิ่งของพระราชทานไปตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงทราบจากวิทยุว่า มีตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกับระเบิด 2 คน ด้วยความที่ทรงห่วงใยผู้บาดเจ็บ จึงรับสั่งให้นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงเพื่อรับตชด. 2 คนนั้นไปส่งโรงพยาบาล แต่ขณะที่นักบินนำเครื่องร่อนลงต่ำ ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเฮลิคอปเตอร์ กระสุนทะลุเข้ามาถูกพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงได้รับบาดเจ็บสาหัส นักบินจึงต้องนำเครื่องเฮลิคอปเตอร์ลงฉุกเฉิน

แม้ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า พระองค์หญิงยังทรงห่วงใย ตชด.ผู้บาดเจ็บ โดยรับสั่งถามว่า “ตชด.เป็นอย่างไรบ้าง เอาออกมาได้หรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาล อย่าให้พวกมันรู้ว่าฉันถูกยิง มันจะเหิมเกริม” สักครู่รับสั่งต่อไปว่า “ฉันไม่เป็นไรแล้ว ตชด.มาหรือยัง ให้รีบไปส่งโรงพยาบาลด่วน” โดยยังทรงมีพระสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และทรงเป็นห่วง ตชด.ผู้บาดเจ็บตลอดเวลา

ต่อมาพระองค์หญิงได้รับสั่งกับหลวงพ่อฤษีลิงดำ และหลวงปู่ครูบาธรรมชัย ผู้ร่วมเดินทางไปในวันนั้นว่า “ร้อน หิวน้ำ ขอกินน้ำหน่อย หลวงพ่อ หลวงปู่ ช่วยนิพพาน ไม่เกิดแล้ว” หลวงพ่อบอกว่า “การที่จะไปนิพพานนะดี แต่ท่านหญิงยังมีประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก” จึงรับสั่งต่อว่า “ให้กราบบังคมทูลลาพระเจ้าอยู่หัว ท่านชาย ท่านแม่” พระองค์หญิงทรงย้ำอยู่ 2 ครั้ง และครั้งสุดท้ายรับสั่งว่า “สว่างแล้ว เห็นนิพพานแล้ว” และก็นิ่งไป

หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต ทรงสิ้นชีพิตักษัยที่ตำบลส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพวงมาลาหน้าโกศพระศพประดับไฟด้วยคำไว้อาลัยจากบทพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุดว่า “จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” แล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์และประถมาภรณ์ช้างเผือก

นอกจากนี้หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต พระสวามียังได้ก่อตั้งมูลนิธิวิภาวดีรังสิตขึ้นเพื่อสืบทอดงานของพระองค์หญิงในด้านการพัฒนา และช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้ ปัจจุบันหม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ

โดยในหนังสือพิมพ์สยามิศร์ได้เขียนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ว่า “ความสุขนั้นอยู่ที่การให้มากกว่าการรับ และความยิ่งใหญ่นั้นอยู่ที่การเสียสละเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของปวงประชา เพื่อความมั่นคงของชาติ ชีวิตที่สิ้นไปเพื่อเป็นชาติพลี จึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่ได้ชื่อว่าเป็นวีรสตรี”

ปัจจุบันหากใครมีโอกาสได้สัญจรผ่านไป-มา โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดีรังสิต ขอจงร่วมกันรำลึกถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต วีรสตรีไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงพลีชีพเพื่อชาติจะประทับอยู่ในใจของคนไทยทุกคนตลอดไป.

“พระองค์หญิงได้ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จแทนพระองค์ไปเยี่ยมเยียนประชา ชนในท้องถิ่นทุรกันดารทางภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทรงมีพระทัยกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก แม้ในเขตที่มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอย่างรุนแรง ก็ยังทรงอุตสาหะเสด็จไปเยี่ยม เยียนบำรุงขวัญเจ้าหน้าที่ถึงแนวหน้า”

“ทิวาวารผ่านมาเยือนโลก  พร้อมความโศกสลดให้ฤทัยหาย

อริราชพิฆาตร่างท่านวางวาย แสนเสียดายชีพกล้าวิภาวดี”

ถนนวิภาวดีรังสิต ชื่อนี้...มีที่มา

หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ดินแดง-บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)) เริ่มต้นตั้งแต่เขตพญาไท ผ่านพื้นที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ และเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ไปบรรจบกับถนนพหลโยธินที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จากจุดเริ่มต้นที่สามแยกดินแดง (จุดบรรจบถนนดินแดงและเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วน 1 สายดินแดง-ท่าเรือ) ถนนสายนี้ตัดผ่านสี่แยกสุทธิสารฯ (ตัดถนนสุทธิสารฯ) ห้าแยกลาดพร้าว (ตัดถนนพหลโยธิน โดยมีถนนลาดพร้าวมาบรรจบเป็นแยกที่ห้า) สี่แยกบางเขน (ตัดถนนงามวงศ์วานหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) สี่แยกหลักสี่ (ตัดถนนแจ้งวัฒนะหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304) ไปสิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน (จุดบรรจบถนนพหลโยธินหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ถนนสายนี้มีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษหรือ ซุปเปอร์ไฮเวย์ ซึ่งแบ่งช่องทางเดินรถเป็นทางด่วนหรือทางหลัก และทางคู่ขนาน ยกเว้นช่วงที่ผ่านหน้าท่าอากาศยานดอนเมืองจะไม่แบ่งเป็นช่องทางด่วนและทางคู่ขนานเนื่องจากมีพื้นที่จำกัดเพราะถูกขนาบด้วยสนามบินและทางรถไฟ ปัจจุบันมีทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เป็นทางด่วนพิเศษยกระดับเก็บค่าผ่านทาง อยู่เหนือถนนวิภาวดีรังสิตด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เดินทางที่ต้องการความรวดเร็วกว่าเดิม

ถนนวิภาวดีรังสิตตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ซึ่งพระนามเดิมคือหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต พระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในที่บำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ได้ทรงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จเยี่ยมราษฎรในเขตที่ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอยู่ จนกระทั่งเฮลิคอปเตอร์ที่เสด็จถูกผู้ก่อการร้ายระดมยิงจนสิ้นชีพิตักษัยในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และรัฐบาลได้นำพระนามมาเป็นชื่อถนนซึ่งเป็นทางหลวงหมายเลข 31 ซึ่งเดิมคนทั่วไปมักเรียกว่า “ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์”

อนึ่ง ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งตะวันออก ช่วงตั้งแต่แยกใต้ด่วนดินแดงถึงคลองบางซื่อ เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตพญาไทกับเขตดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิตช่วงตั้งแต่ถนนแจ้งวัฒนะถึงสนามบินดอนเมืองเดิมเป็นถนนท้องถิ่นมีชื่อว่า “ถนนศรีรับสุข”