เจตนา นาควัชระ
เจตนา นาควัชระ นักวิจารณ์วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นคนหนึ่งในสังคมไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ สายกลางแห่งการวิจารณ์ และ วานรชำราบเป็นต้น
ประวัติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เจตนา นาควัชระ (เกิด 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480) เป็นนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวไทย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาเยอรมัน มีผลงานสำคัญด้านภาษาและวรรณคดีเยอรมัน วรรณคดีเปรียบเทียบ การวิจารณ์ศิลปะ และการอุดมศึกษา เขาได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักด์จากมหาวิทยาลัยไทยรวม 5 แห่งและมหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี และยังได้รับรางวัลที่สำคัญได้แก่ เหรียญเกอเธ่ รางวัลการวิจัยมูลนิธิฮุมโบลท์ ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และรางวัลนราธิปเจตนาเกิดในครอบครัวที่มีบิดามารดาเป็นครู เขาเป็นบุตรคนสุดท้องภูของครอบครัว เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาสอบได้อันดับหนึ่งในแผนกอักษรศาสตร์ของประเทศไทย ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อในยุโรปตั้งแต่ปริญญาตรีจนสำเร็จปริญญาเอก เขามีโอกาสได้เป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนในสหรัฐอเมริกาและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหลายครั้งด้วยทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ เจตนาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมโลกวิชาการตะวันตกเข้ากับประเทศไทยในฐานะนักวิชาการ งานของเจตนาในระยะแรกประกอบด้วยวรรณคดีเปรียบเทียบและวรรณคดีเยอรมัน นอกจากนี้เจตนาเขียนหนังสือ บทความสำหรับผู้อ่านทั่วไป และผู้อ่านทางวิชาการโดยใช้ภาษาไทยอันเป็นภาษาแม่ รวมถึงภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส เขาได้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยในช่วงหลังผ่านงานเขียนและการบรรยายจากผลงานการวิจารณ์ศิลปะ รวมถึงการอาสาเป็นผู้นำทางความคิดในวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ในทางบริหารเจตนาเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของสำนักเลขาธิการซีมีโอ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารงานการอุดมศึกษาในประเทศไทยด้วยการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง กรรมการทบวงมหาวิทยาลัย และกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
ชีวิตช่วงแรกและการศึกษา
เจตนาและพี่น้องผู้ชายทั้งหมดศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และสำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2497 หลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแปดปีตามหลักสูตรในสมัยนั้น เขากล่าวว่าประสบการณ์ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์มีความสำคัญยิ่งต่อแนวคิดและความสำเร็จของเขาในเวลาต่อมา เจตนาสอบได้เป็นที่หนึ่งของประเทศในแผนกอักษรศาสตร์จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นปีที่ 1 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ โดยเจตนาใช้เวลาสามปีที่แมนเชสเตอร์ในการเตรียมตัวสำหรับเข้ามหาวิทยาลัย ระหว่างนี้ได้เรียนภาษาต่างประเทศอีกสองภาษา คือ เยอรมันและละติน
เจตนาสำเร็จปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาปัจจุบัน (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากนั้นย้ายไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีโดยมีศาสตราจารย์ควร์ท ไวส์ เป็นที่ปรึกษาหลักเมื่อ พ.ศ. 2504 ต่อมาได้สำเร็จปริญญาเอก ในสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เกียรตินิยมดีมาก (magna cum laude) จากมหาวิทยาลัยทือบิงเงินเมื่อ พ.ศ. 2508[
นอกจากควร์ท ไวส์ ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเจตนา และเอเบอร์ฮาร์ท เล็มเมิร์ท ที่ปรึกษาทางวิชาการอีกคนหนึ่งในเยอรมนีที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการให้แก่เขาเสมอมา การวิจารณ์ศิลปะและวรรณกรรมของเจตนาได้รับอิทธิพลจาก ชาร์ลส์ โบดแลร์, แบร์ท็อลท์ เบร็ชท์ , อัลแบร์ กามูส์, เนวิลล์ คาร์ดัส, ไรน์โฮลด์ กริมม์, อเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมโบลท์, แฟรงก์ เรย์มอนด์ ลีวิส, เอกวิทย์ ณ ถลาง, โรนัลด์ พีค็อก, ซูโจโน จูเน็ด ปุซโปเนโกโร, ฟรีดริช ชิลเลอร์, อ็อสคาร์ วัลท์เซิล, และ เรเน เว็ลเล็กเขาและผู้ร่วมงานรุ่นหลังต่างเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างระบบอุดมศึกษาในอุดมคติที่ได้ริเริ่มไว้โดย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรในการก่อตั้งวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยศิลปากร
เจตนากลับมารับราชการในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2509 สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จนถึง พ.ศ. 2511 จึงย้ายไปเป็นอาจารย์สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และได้ริเริ่มหลักสูตรภาษาเยอรมันในฐานะอาจารย์รุ่นแรก[18] แล้วไปปฏิบัติงานในองค์การสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Secretariat เรียกโดยย่อว่า SEAMEO หรือ ซีมีโอ) ระหว่างเวลาที่ปฏิบัติงานอยู่รวม 4 ปี เขาได้รับเหรียญเกอเธ่ เมื่อ พ.ศ. 2515 และได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของสำนักเลขาธิการซีมีโอในช่วงสองปีสุดท้าย
ต่อมาเจตนาได้กลับเข้ามาปฏิบัติราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2519 โดยเข้าดำรงตำแหน่งบริหาร ได้แก่ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (พ.ศ. 2519–2522) และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา (พ.ศ. 2522–2524) ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งได้สนับสนุนให้จัดตั้งภาควิชาสังคมศาสตร์ขี้นในคณะและรับผิดชอบโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยซึ่งต่อมาได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในรูปของสถาบันวิจัยและพัฒนา ต่อมาเขาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เมื่อ พ.ศ. 2526ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิฟูลไบรท์ เจตนาเป็นนักวิชาการอาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์ อาร์เบอร์สองครั้งเมื่อ พ.ศ. 2528 และ 2535 และเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในปีการศึกษา 2532–2533 นอกจากนี้เจตนาได้กลับไปเยื่อนประเทศเยอรมนีเพื่อทำงานวิชาการอีกหลายครั้งด้วยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนี Deutscher Akademischer Austauschdienst (DAAD) และรางวัล Humboldt-Forschungspreis จากมูลนิธิฮุมโบลท์
หลังเกษียณอายุราชการ
เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2540 เจตนาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งสุดท้าย คือ ศาสตราจารย์ระดับ 11 ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในบทสัมภาษณ์ให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อ พ.ศ. 2541 ในคราวเกษียณอายุราชการ เขากล่าวว่าไม่ใช่ว่าเขาต้องการเป็นข้าราชการไปอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะด้วยความสำนึกในบุญคุณของรัฐบาลไทยที่ให้ทุนนับสนุนไปศึกษาต่อในยุโรปเจตนามักจะบอกผู้รับทุนรัฐบาลไทยรุ่นหลังเสมอว่า "ทุนนั้นชดใช้หมด แต่บุญคุณใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด"
เจตนาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังพ้นจากการรับราชการเต็มเวลาอย่างเป็นทางการเจตนายังคงสนับสนุนงานวิชาการด้วยการทำหน้าที่ในคณะกรรมการต่าง ๆ ของรัฐ สภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง และริเริ่มโครงการวิจัยทางศิลปะซึ่งมีผู้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจัดให้มีห้องอนุสรณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ที่ชั้นสองของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์เพื่อรวบรวมหนังสือที่เขาได้มอบไว้แก่หอสมุด ในช่วงเวลานี้เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และรางวัลอย่างต่อเนื่อง
ชีวิตส่วนตัว
เจตนา นาควัชระ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2480 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่หกและคนสุดท้องของครอบครัว ทั้งบิดาและมารดาประกอบอาชีพเป็นครู แต่หลังแต่งงานมารดาทำหน้าที่เป็นแม่บ้านและเป็นครูพิเศษให้ลูก ๆ ถนอม นาควัชระ หรือขุนชำนิขบวนสาส์น บิดาของเขาเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีไทยของคุรุสภา ในวัยเด็กเจตนาอาศัยอยู่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและได้ขี่จักรยานไปตามถนนพญาไททุกวัน เจตนาชอบกีฬาและตนตรีซึ่งปลูกฝังให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคน เจตนาเรียนดนตรีจากบิดา ภาษาอังกฤษจากมารดาเบื้องต้น และยังได้รับอิทธิพลการอบรมสั่งสอนวรรณกรรมมุขปาฐะจากยายอีกด้วย เขาเคยเข้าประกวดแข่งขันร้องเพลงในงานวัดขณะที่เป็นนักเรียนอยู่
เจตนา สมรสกับทัศนีย์ นาควัชระ ศาสตราจารย์ภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพำนักอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 38 มีบุตรด้วยกันสามคน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา นาควัชระ (เกิด พ.ศ. 2512) เป็นนักไวโอลินและอาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับธิดาอีกสองคน คนหนึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทรับทำวิจัยของสหรัฐอเมริกา และอีกคนหนึ่งทำร้านอาหารอยู่ประเทศเม็กซิโก
ศิลปกรรมไทยและโครงการวิจารณ์
ในฐานะนักวิจัยและหัวหน้าโครงการ เจตนาเป็นผู้ริเริ่มและเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย "กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ฯ" (พ.ศ. 2538–2541) และ "การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย" (พ.ศ. 2542–2548) โครงการวิจัยการวิจารณ์ศิลปะไทยภายใต้การนำของเจตนาประกอบไปด้วยการวิจารณ์ศิลปะสี่แขนง ได้แก่ วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการละคร และสังคีตศิลป์ และต่อมาได้ขยายไปสู่ภาพยนตร์ด้วย เมื่อสื้นสุดโครงการทั้งสองที่ได้รับทุนจาก สกว. (พ.ศ. 2542–2544 และ พ.ศ. 2545–2548) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยโครงการต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปและขยายขอบเขตโดยสมาชิกในทีมวิจัยคนอื่น โดยที่เขายังคงมีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสจนถึงโครงการที่สนับสนุนโดย สกว. โครงการสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2563 และมีโครงการต่อมาซึ่งธนาคารกสิกรไทยให้การสนับสนุน พ.ศ. 2564–2565
ตัวอย่างหัวข้อสำคัญในงานวิจารณ์ของเจตนา ได้แก่ ชาติ กอบจิตติ, อังคาร กัลยาณพงศ์, ศรีบูรพา, อัศศิริ ธรรมโชติ, วงดนตรีสุนทราภรณ์, วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ, วงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย, และวงออร์เคสตราและศิลปินเดี่ยวจากต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยือนประเทศไทย นอกจากนี้ บทละครแปล เช่น Der gute Mensch von Sezuan (คนดีแห่งเสฉวน) โดย แบร์ท็อลท์ เบร็ชท์ และ Antigone (อันตราคนี) ของ ฌ็อง อานูย ก็รวมอยู่ในผลงานเหล่านี้ด้วยงานบางส่วนของเจตนาในด้านนี้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ TRF Criticism
แนวคิดสำคัญของเจตนาในด้านนี้ได้แก่ ศิลปะส่องทางให้แก่กัน (แนวคิดเดิมเป็นของวัลท์เซิลในสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เจตนาได้นำมาใช้กับบริบทของสังคมไทยและศิลปะหลากหลายแขนงว่ามีลักษณะเอื้อต่อกัน) บทบาทของผู้รักสมัครเล่นในการผลักดันงานศิลปะ (การมีส่วนร่วมของศิลปินสมัครเล่นและชุมชนของผู้รับชมหรือรับฟังงานศิลปะมีความสำคัญยิ่ง และเส้นแบ่งระหว่างศิลปินทั้งระดับอาชีพและสมัครเล่นรวมถึงผู้ฟังเป็นเพียงเส้นกั้นบาง ๆ ที่อาจก้าวข้ามกันได้) เทคโนโลยีและการผลิตจำหน่ายสินค้าบั่นทอนคุณค่าของศิลปะ (ค่าตัวที่แพงลิบของศิลปินที่เด่นเพียงคนเดียวทำให้วงดนตรีขนาดใหญ่ไม่อาจอยู่ต่อไปได้เนื่องจากเงื่อนไขทางการเงิน การบันทึกและปรับแต่งเสียงด้วยเทคโนโลยี Hi-Fi ทำให้มีความถูกต้องเกินจริงกว่าที่ศิลปินทำได้ รวมถึงผลักดันให้ผู้ประพันธ์เลือกสร้างผลงานไปในทางที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี)
มนุษยศาสตร์และการอุดมศึกษา
เจตนาได้เขียนงานเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์และอุดมศึกษาไทยไว้จำนวนมาก "ความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ไทย" คือหนังสือเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์เล่มแรกที่เจตนาได้ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2532 ตามมาด้วย "วิกฤตการณ์ของมนุษยศาสตร์" ใน พ.ศ. 2538 และ "จุดยืนของมนุษยศาสตร์" ใน พ.ศ. 2558สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับอุดมศึกษาเขาตีพิมพ์บทความของตนเองในหนังสือชื่อว่า "Papers on Education" ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 และยังคงนำเสนอมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง สถาบันคลังสมองแห่งชาตินำคำบรรยายของเจตนาในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ชื่อว่า "คณบดีเพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Deans for Change) มาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า "จากวิทยาทานสู่การผลิตและจำหน่ายสินค้า: ความปั่นป่วนของอุดมศึกษา" เมื่อ พ.ศ. 2556 และ "วัฒนธรรมสำนึก: รากฐานของอุดมศึกษา" เมื่อ พ.ศ. 2559 สำหรับเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือรวมบทความของเจตนาและหนังสือผู้นำระนาดทุ้ม
นอกเหนือจากบทบาทในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ คณบดีคณะอักษรศาสตร์และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนาของมหาวิทยาลัยศิลปากร เจตนายังเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (พ.ศ. 2536–2546) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2551–2555) มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2551–2559) และคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยมากกว่าสิบปี (พ.ศ. 2530–2533 และ พ.ศ. 2535–2545)ในขณะที่อุดมศึกษาของไทยปรับเปลี่ยนเข้าสู่มหาวิทยาลัยนอกระบบ หรือ สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ เจตนาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (พ.ศ. 2548–2552)
เจตนาเป็นประธานคณะทำงานกลุ่มสาขาวิชามนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรม ของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำคู่มือเสนอผลงานวิชาการ 22 รูปแบบ และวิธีการประเมินขอตำแหน่งวิชาการ สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม คู่มือนี้ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2554 ช่วยให้รายละเอียดและการตีความ "หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2549" ที่กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานกลางระดับประเทศเป็นครั้งแรก ให้ชัดเจนมากขึ้น
แนวคิดที่เป็นที่รู้จักในสังคม
เจตนาเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า "วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์" ในหนังสือของเขาซึ่งใช้เป็นที่ใช้อ้างอิงกันสำหรับนักศึกษา ผู้สนใจ และนักวิชาการเขามีประสบการณ์กว้างขวางในวงการวิจารณ์ศิลปะและวรรณกรรมในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อ พ.ศ. 2541 บางกอกโพสต์กล่าวถึงเจตนาว่าเขาเป็น "...นักวิจารณ์ที่เขียนด้วยปากกาคม ความคิดเห็นของเขาสามารถทำให้นักเขียนบทละครทบทวนงานของตนอีกรอบถึงแม้ว่าจะเป็นตอนที่กำลังแสดงอยู่และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และศิลปินทัศนศิลป์ก็ให้ความสนใจมากกับสิ่งที่เขาพูด...”นอกจากนี้เจตนายังเป็นกรรมการชี้ทิศทางในโครงการหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ของ วิทยากร เชียงกูล
การตอบรับจากวงการวิชาการและวงการศิลปะ
ชีวิตและผลงานเจตนาเป็นหัวข้อของโครงการวิจัย "นักคิด-นักวิจัยไทย: เจตนา นาควัชระ" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. เมื่อ พ.ศ. 2541 โดยมีผลสรุปการวิจัยว่าแนวคิดของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานมนุษยนิยมแบบเสรี ผสานกับประชาธิปไตยแบบเสรี และมีจุดเด่นที่การผสานภูมิปัญญาตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน หนังสือของเขาในภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักวิชาการนานาชาติแม้นักวิชาการในต่างสาขาก็ให้การยอมรับ เช่น ศ.วันชัย ดีเอกนามกูล ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยมูลนิธิฮุมโบลท์เช่นเดียวกับเจตนากล่าวว่า "อาจารย์เจตนาเหมือนกับแม่ทัพของสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สามารถต่อกรกับกองทัพของสายวิทยาศาสตร์ได้อย่างมั่นคงและสมศักดิ์ศรี และแน่นอนที่สุด ในปัจจุบันผมได้ให้คุณค่าในศาสตร์ของท่านอาจารย์เจตนาในระดับที่สูงมาก"
นักวิชาการและศิลปินที่มีชื่อเสียงที่ได้รับอิทธิพลจากเจตนา ได้แก่ กรกช อัตตวิริยะนุภาพ, ชมัยภร บางคมบาง, สดชื่น ชัยประสาธน์, กัญญา เจริญศุภกุล, ดวงมน จิตร์จำนงค์, ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์, คำรณ คุณะดิลก, สุนทรียา เหมือนพะวงศ์, ประดิษฐ ประสาททอง, รัศมี ชูทรงเดช, ศิราพร ณ ถลาง, สุกัญญา สมไพบูลย์ เป็นต้น
วรรณกรรมเยาวชน
บทบาทของเจตนาในโครงการวิจารณ์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. เป็นแรงบันดาลใจให้ ชมัยภร บางคมบาง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณคดี ประจำปี พ.ศ. 2557) เขียนวรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับรางวัล เรื่อง คุณปู่แว่นตาโต (พ.ศ. 2544)ในนวนิยายดังกล่าว ตัวละครคุณปู่มีเจตนาเป็นต้นแบบ และตัวละครเด็ก ๆ ก็สื่อถึงสมาชิกของคณะผู้วิจัยในโครงการ คุณปู่แว่นตาแตก (พ.ศ. 2555) ภาคต่อของนวนิยายดังกล่าวโดยนักเขียนคนเดียวกัน ยังมีเจตนา (คุณปู่) เป็นตัวละครหลักพร้อมกับนักเรียนระดับประถมศึกษากลุ่มใหม่ด้วยประเด็นหลักในหนังสือสองเล่ม คือ การผจญภัยของคุณปู่และเด็ก ๆ ผ่านการทัศนศึกษาที่วัดโพธิ์ หอศิลป์แห่งชาติ บางลำพู อัมพวา และถ้ำผีแมนที่ปางมะผ้า และการพยายามปลูกฝังความซาบซึ้งในศิลปะและรากเหง้าดั้งเดิม การกล่าวถึงพระสยามเทวาธิราชบ่อยครั้งของคุณปู่เพื่อแสดงความคับข้องใจ รวมถึงประเด็นความเชื่อมโยงของคุณปู่กับประเทศเยอรมนีที่ปรากฏในหนังสือทั้งสองเล่มเป็นแรงบันดาลใจจากบุคลิกภาพและความคิดหลักของเจตนา