10+1 ทิปเขียนนิยายสุดเฟี้ยว (ให้คุณเป็น REAL WRITER) : อยากเป็นนักเขียนนิยายมืออาชีพ นักเขียนตัวจริงไม่ควรพลาด 10 ทิปกับอีกหนึ่ง เพื่อเสริมความสามารถในการเขียนนิยายให้เฟี้ยวฟ้าว!

10+1 ทิปเขียนนิยายสุดเฟี้ยว (ให้คุณเป็น REAL WRITER)

1. Skill ก็สำคัญ อย่าลืมฝึกการใช้ภาษา
แน่นอนว่าการเป็นนักเขียน เราทำงานอยู่กับภาษา ฉะนั้นรูปแบบความถูกต้องในเรื่องต่างๆ ก็สำคัญ รวมถึงสำนวนการเขียนที่ต้องมีการขัดเกลาจลอดเวลา เหมือนดินสอไม้ ที่ถ้าไม่เหลา ก็ไม่คม ควรหมั่นพยายามฝึกเขียน และขยันอ่านหนังสือ เพื่อดูคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เราไม่รู้จัก เผื่อจะได้คำใหม่มาเขียนประโยคสวยๆ ทำให้คนอ่านรู้สึกว่างานเราไม่ซ้ำซากและจำเจ Tip : นักเขียนทุกคนควรมีพจนานุกรม หรือหนังสือคลังคำไว้ใกล้ตัว เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบความถูกต้อง และเผื่อคิดคำโดนๆ ไม่ออก

2. อ่านให้มาก เพื่อเปิดโลกทัศน์
“หนังสือ” คือคลังสมบัติของนักเขียน ก่อนเป็นนักเขียนคุณควรเป็นนักอ่านมาก่อน เพราะเมื่อคุณอ่าน คุณอาจจะได้ไอเดียจากการตั้งคำถาม ได้ประโยคเด็ดมาคิดต่อยอด ได้ความรู้มาพัฒนาความหลากหลายของงานเขียน ได้คำศัพท์ใหม่มาสร้างความสวยงามของประโยค คุณอาจจะไม่ต้องอ่านทุกอย่างบนโลกนี้ เพียงแต่ให้จำเอาไว้ว่า “ยิ่งคุณอ่านมากเท่าไร คุณยิ่งมีเรื่องเขียนมากเท่านั้น”

3. ปรับปรุงและพัฒนารูปประโยค
อะไรที่ซ้ำซากจำเจย่อมทำให้คนเบื่อหน่ายและไม่จดจำ ลองหัดเขียนประโยคหลายๆแบบ หากคิดไม่ออก ลองอ่านงานเขียนแนวเดียวกันของคนอื่น และลองสำรวจดูว่านักเขียนคนที่เราอ่าน เค้ามีวิธีการสร้างประโยคอย่างไร ลองหยิบยืมมาปรับแต่งดูบ้าง เผื่อจะได้อะไรใหม่ เป็นของตัวเอง แต่อย่าลอกมาทั้งหมดล่ะ ไม่งั้นก็เหมือนคุณย่ำอยู่ที่เดิม หัดขโมยให้เป็นศิลปิน!

4. เคลียร์สมองให้ว่าง เปิดรับไอเดีย
ความตัน เป็นสิ่งที่พบกันบ่อย (และการดองงานจะตามมา) หากรู้สึกตัน ไปต่อไม่ถูก ลองปล่อยจิตปล่อยใจไปทำอะไรอาร์ตๆ เช่น ลองขีดเขียนวาดรูประบายสี หรืออ่านหนังสือ และหากยังคงเบื่อหน่าย ลองหากิจกรรมอื่นๆที่ดูผ่อนคลายทำไปเลย เช่น เดินหาแรงบันดาลใจ เล่นโยคะ หรือออกกำลังกาย ก็ช่วยให้สมองปลอดโปร่งเช่นเดียวกัน

5. ตามหาแรงบันดาลใจ
ยังตันเหรอ?! ไปตามหาแรงบันดาลใจจากสิ่งเล็กๆ เช่น เพลง งานศิลปะ บทกวี หรือแม้กระทั่งท้องฟ้ายามค่ำคืนอันแสนสงบ ลองใช้เวลามองไปรอบๆตัว ทุกสิ่งกำลังรอการสานต่อเรื่องราว ให้คุณพกสมุดกับปากกาติดตัวเสมอยามออกไปนอกบ้าน เจออะไรน่าสนใจ ลองใช้เวลาคิดถึงมัน เขียนอะไรที่นึกออก และจับคู่ไอเดียที่น่าสนใจ หรือใช้วิธีการของ Free Writing ช่วยอีกแรง อาจจะได้แรงบันดาลกลับมาเป็นหน้าๆ ก็เป็นได้

6. เรียนรู้จินตนาการบริสุทธิ์จากเด็กน้อย
เด็กนี่แหละ ตัวแทนแห่งจินตนาการ ลองตั้งใจฟังสิ่งที่เด็กๆกำลังบอกคุณให้ดี บางอย่างมันอาจฟังดูตลก หรือประหลาด แต่มันคือการคิดโดยไม่ติดข้อกำหนดของวิชาการ การเขียนนิยายคือการเปิดโลกความฝัน ไม่ใช่งานวิจัย การฟังความคิดอันบริสุทธิ์แบบเด็กๆ อาจทำให้คุณได้รับไอเดียมาสร้างโลกนิยายของคุณ ขนาดโทลคีน ยังเขียน ฮอบบิท จากนิทานก่อนนอนของลูกชาย ทำไมคุณจะเขียนนิยายแฟนตาซีเจ๋งๆ จากคำพูดไร้สาระของเด็กๆไม่ได้?!

7. เขียน Outline เพื่อกำจัดความเวิ่น
เป็นวิธีที่จะจัดการไม่ให้คุณเขียนเกินความจำเป็น ลิสต์ประเด็นที่จะเขียนเป็นหัวข้อคร่าวๆ ก่อนที่จะลงมือเขียนจริงๆ โดยเฉพาะหากสิ่งที่คุณอยากเขียนยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก ควรอย่างยิ่งที่จะเขียน Outline ขึ้นมาก่อน เพื่อป้องกันไอเดียกระจายเกินเหตุ และเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่คุณกำลังเขียนนั้น ไม่ได้จะออกมาแนวซ้ำซากจำเจกับคนอื่น คงไม่มีใครชอบนิยายที่พล็อตซ้ำซาก แถมยังออกทะเลมากนักหรอก

8. สร้างตัวละครอย่างง่าย ไม่ใช่เรื่องยาก
หลายๆคนประสบปัญหาในการสร้างตัวละครให้ดูสมจริง มีมิติ ทำให้ส่วนมากคนอ่านมักจะไม่อินกับนิยายเรา ลองใช้ต้นแบบของตัวละครเป็นคนรู้จักของคุณสิ ทีนี้ภาพของตัวละครคุณจะชัดขึ้นในหัว และการจินตนาการถึงการกระทำของตัวละครเหล่านั้น คงจะไม่เป็นเรื่องยากแล้ว แต่อย่าลืมว่าถ้าจะใช้ชื่อและตัวตนพวกเขาลงในนิยายจริงๆล่ะก็…ขอเค้าด้วยล่ะ ไม่งั้นเจ้าตัวมาอ่านเจอ อาจมีเคืองถ้าไม่บอก

9. สร้างสถานที่ในเรื่อง
นิยายคงไม่เสร็จหากปราศจากฉากในการดำเนินเรื่อง อย่าลืมกำหนดฉาก สถานที่ และเมือง ที่เราอยากให้เหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินเกิดขึ้น หากมีการใช้สถานที่จริง อย่าลืมหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆให้เรียบร้อย เพื่อเพิ่มความสมจริง ส่วนใครที่เขียนแฟนตาซีอาจจะยากสักหน่อย ให้ลองพยายามร่างรายละเอียดสถานที่คร่าวๆ หรือหาอ้างอิงจากของที่มีอยู่จริง จะช่วยให้การจินตนาการเป็นรูปธรรมมากขึ้น

10. ก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ
จงเขียนเหมือนคุณคือส่วนหนึ่งของเรื่อง จินตนาการว่าคุณอยู่ในนิยายที่คุณเขียน มีชีวิตในฐานะตัวละครที่คุณสร้างขึ้นมา พยายามคิดและรู้สึกแบบตัวละคร จะทำให้นิยายของคุณสมจริงมากยิ่งขึ้น

11. จงสำรวจนิยายตัวเองก่อนทุกครั้ง
อย่างน้อยที่สุด คุณต้องอ่านงานของคุณหลังจากเขียนจบอย่างน้อยหนึ่งครั้ง หรือสองครั้ง และมากกว่านั้นจะยิ่งดี เพื่อดูว่ามีอะไรตกหล่นหรือไม่ คุณรู้สึกยังไงกับงานเขียนตัวเองบ้าง? ลองตรวจสอบดู หากคุณไม่รู้สึกอะไรเลย ให้เตรียมใจไว้เลยว่าคนอ่านก็คงคิดแบบเดียวกัน งานเขียนควรจะส่งผลกระทบถึงคนอ่านอย่างชัดเจน นักเขียนคือคนอ่านคนแรก ถ้าเขียนเอง อ่านแล้วยังไม่รู้สึกสนุก ใครเล่าจะรู้สึกสนุกเหมือนกับเรา?

 

ขอบคุณที่มา : http://blog.ookbee.com/

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ