ทำไมนักเขียน ศิลปิน ถึงง่ายต่อการตกอยู่ในสภาวะที่มืดมน  : เมื่อบาดแผล คือ เครื่องมือในการสร้างสรรค์

ทำไมนักเขียน ศิลปิน ถึงง่ายต่อการตกอยู่ในสภาวะที่มืดมน 

       โรคซึมเศร้า เกิดจากการความผิดปกติ ของสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้รู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต สามารถเกิดได้กับทุกคน และบ่อยครั้งเรามักเห็นว่า นักเขียน หรือศิลปิน ที่มีชื่อเสียง มักเป็นโรคซึมเศร้า หลายคนไม่สามารถก้าวข้าม จนเลือกปลิดชีพตัวเอง เช่น เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ จบชีวิตตัวเองด้วยการยิงปืนกรอกปากตัวเอง หลายคนให้เหตุผลว่าเฮมมิงเวย์ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะค้นพบว่าพลังสร้างสรรค์ของเขาได้สูญสิ้นไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว และเขาไม่อาจจะยอมรับความพ่ายแพ้ของตนเองต่อชีวิตได้  Sylvia Plath ผู้เขียนเรื่อง The Bell Jar ปลิดชีพตัวเองในห้องครัว ในวัย 30 หลังจากที่ต่อสู้ กับภาวะซึมเศร้าและพยายามฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง หรือแม้กระทั่ง เจ.เค. โรว์ลิง ผู้เขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็เคยตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า เพราะปัญหาชีวิตเช่นกัน

      และไม่น่าแปลกใจ ที่ผู้เสพผลงานของนักเขียน หรือศิลปิน จะตกหลุมพราง อินกับเนื้อหาที่สื่อออกมา เพราะ เขาอาจใช้ประสบการณ์ หรือบาดแผลเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงาน  

 

ทำไมนักเขียน ศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ถึงง่ายต่อการตกอยู่ในสภาวะที่มืดมน 


      ประการแรกอาจเนื่องมาจาก เวลาที่ใช้ความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานต้องการความสันโดดและเงียบสงบ ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง จะเห็นได้ว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น และกว่าที่ศิลปินจะสร้างผลงานออกมา เขาต้องรวบรวมข้อมูล ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ มุมมอง การใช้คำในการนำเสนอ จนหลายคนรู้สึกหมดไฟ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรอดพ้นจากความเครียด


      ประการที่สองสังเกตได้ว่า นักเขียน หรือศิลปินหลายคนต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ความสับสนวุ่นวายในชีวิต ความบอบช้ำ หรือแม้กระทั่งการเป็นที่ยอมรับของผู้คน ล้วนมีอิทธิพล เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา ประกอบกับความเป็นศิลปินในตัวจะมีความรู้สึกที่อ่อนไหว และใช้อารมณ์ความรู้สึกหลากหลายในการสร้างสรรค์งาน และหลายคนยังจมกับความรู้สึกนั้น เหล่านี้คือปีศาจตัวร้ายในจิตใจที่ยากจะรับมือ


    ประการที่สามความกดดันจากชื่อเสียง เมื่อหลายคนประสบความสำเร็จในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เกิดความคาดหวัง และกลัวว่าตัวเองจะไม่ประสบความสำเร็จอีก การไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ และบางคนอาจจะไม่กล้าระบายความรู้สึกให้ใครรับรู้ เพื่อกลัวจะกระทบกับชื่อเสียงตัวเอง ยิ่งในปัจจุบันที่มีโลกออนไลน์ ผู้คนสามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็น โดยไม่สนใจความรู้สึกของอีกฝ่าย ทำให้หลายคนไม่สามารถรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ และจิตใจแตกสลายในที่สุด 

 

    สิ่งที่ช่วยให้เรา หลีกเลี่ยงปีศาจตัวนี้ได้ มีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ หรืออาชีพใดก็ตาม เราควรรู้เท่าทันความคิดตัวเองและปรับพฤติกรรม ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
 

1. เข้าใจและยอมรับตัวเอง

     ลองสำรวจข้อดี ข้อเสียตัวเอง เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราสามารถทำสิ่งใดได้ หรือไม่ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการฝืน จนไม่มีความสุข ฝึกการเข้าใจโลกให้มากขึ้น และภูมิใจในสิ่งตัวเองเป็น และในสิ่งที่คนอื่นเป็น จะทำให้เราใช้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น

 

2. ระบายความรู้สึก

      เล่าปัญหา หรือปรึกษาคนรอบข้าง คุณหมอ หรือสายด่วนด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ เพื่อได้ระบายความรู้สึก ไม่ให้เกิดการเก็บปัญหา และคิดเองโดยลำพัง หรือการเขียนระบาย ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่า การเขียน ช่วยบรรเทาความเครียดได้

 

3. ออกกำลังกาย กินอาหารที่ประโยชน์ และ พักผ่อนอย่างเพียงพอ
      ไม่เพียงแค่สุขภาพใจ สุขภาพกายต้องดีด้วย เพราะ สุขภาพที่ดี จะส่งผลต่อการทำงานของสารในสมอง ไม่ให้ทำงานผิดปกติ ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นจากการดูแลตัวเอง รับรองว่าจะทำให้รู้สึกดีขึ้นอย่างแน่นอน 

 

4. ทำงานอดิเรก หรือ เลี้ยงสัตว์
      การได้ทำในสิ่งที่ชอบแม้ในเวลาสั้น ๆ สามารถทำให้เรามีความสุขในชีวิตขึ้นได้ ลองทำกิจกรรม เช่น ออกไปท่องเที่ยว วาดรูป อ่านหนังสือ ทำอาหาร หาเวลาชาร์จแบตให้ตัวเอง หรือ เลี้ยงสัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันที่ดี และช่วยลดความเครียดได้เช่นกัน

 

     นอกจากตัวของเราเองแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความเข้าใจจากคนรอบข้าง ที่ต้องเติมกำลังใจ ไม่บั่นทอนซึ่งกันและกัน และดูแลกันอย่างถูกวิธี เชื่อว่าจะสามารถก้าวข้ามสภาวะที่มืดมนเหล่านี้ไปได้
 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ