ทำไมผู้นำที่รักการอ่าน มักได้เปรียบกว่า

นักอ่านไม่ได้เป็นผู้นำทุกคน แต่ผู้นำทุกคนเป็นนักอ่าน

23 กรกฎาคม 2564

ทำไมผู้นำที่รักการอ่าน มักได้เปรียบกว่า

      "นักอ่านไม่ได้เป็นผู้นำทุกคน แต่ผู้นำทุกคนเป็นนักอ่าน" เป็นคำกล่าวของ แฮรี่ เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขารักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก

      อย่างที่เราเห็นแล้วว่าในคอลัมน์ เล่มโปรดคนเด่นของ praphansarn.com  มีผู้นำระดับประเทศและระดับโลกหลายท่านที่รักการอ่าน ประสบความสำเร็จ หรือเปลี่ยนความคิด ทัศนะ การบริหารงาน การดำเนินชีวิตจากการอ่านที่แตกต่างกันออกไปตามความชอบ ทำให้มีวิจารณญาณในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น บวกกับมีงานวิจัยหลายฉบับที่รองรับว่าผู้ที่อ่านหนังสือมากกว่าย่อมได้เปรียบผู้ที่อ่านหนังสือน้อยกว่าหรือไม่อ่านเลย

 

1. การอ่านทำให้เราเป็นนักคิดที่ดีขึ้น

      การอ่านเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรับข้อมูล และผู้นำต้องการข้อมูลทั่วไปจำนวนมากเพื่อรักษามุมมอง วิสัยทัศน์ การเห็นโอกาส มุมมองกว้างไกล  เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์  โดยเฉพาะความสามารถในการตัดสินและการแก้ปัญหา

     ยกตัวอย่าง การกำหนดขนาดสถานการณ์ให้ถูกต้อง ซึ่งมักมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและมีเวลาจำกัด เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ที่ต้องอาศัยสัญชาตญาณ ซึ่งการอ่านประสบการณ์ของผู้อื่น ทำให้เพิ่มความชัดเจนในการพิจารณาตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้น

     ไม่เพียงแต่การอ่านในสิ่งที่เราจำเป็นต้องอ่าน การอ่านในเรื่องอื่น ๆ หรือสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ยังสามารถจุดประกายความคิดใหม่ ๆ ต่อยอดจากสิ่งเดิม ๆ ได้อีกด้วย

 

2. การอ่านช่วยให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

     บางครั้งหลายคนอาจคิดว่า ผู้ที่หมกหมุ่นอยู่กับหนังสือ จะไม่สนใจคนรอบข้าง แต่จริง ๆ แล้ว การอ่านช่วยพัฒนาทักษะในด้านการเป็นผู้นำได้อย่างแท้จริง

     ยกตัวอย่างซีอีโอหญิงท่านหนึ่ง ชอบอ่านหนังสือประเภทนวนิยาย ชีวประวัติ หนังสือบันทึกความทรงจำต่าง ๆ เธอบอกว่าสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้เธอเข้าใจตัวละครในหนังสือ และสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารคน ซึ่งมีนิสัย ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เธอสามารถบริหารจัดการความสัมพันธ์ในส่วนนี้ได้ดียิ่งขึ้น

     สิ่งนี้บอกเราว่า การอ่าน แม้จะเป็นเพียงหนังสือ นวนิยาย แต่สามารถช่วยเพิ่มวิธีจัดการทางด้านอารมณ์ เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่ง ในการจูงใจพนักงาน การกำหนดเป้าหมายขององค์กร

 

3. การอ่านพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร

     การอ่านจะช่วยให้การสื่อสารกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ทั้งการสื่อสารระหว่างกัน ภายในและภายนอกองค์กร  

     เพราะการอ่านหนังสือจะทำให้เรามีคำศัพท์และรูปประโยค ทักษะในด้านภาษา ที่จะสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจกับจุดประสงค์ในการนำเสนอของเรา เช่น การพูดโน้มน้าวพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

4. การอ่านช่วยให้ผ่อนคลาย

      สิ่งที่ผู้นำทุกคนต้องเผชิญคือความเครียด มีงานวิจัยหนึ่งกล่าวว่า การอ่านสามารถช่วยลดความเครียดได้เช่นเดียวกับ การฟังเพลง การเดิน หรือการดื่มชักถ้วย ไม่สำคัญว่า จะอ่านหนังสือประเภทไหน แต่การอ่านจะช่วยให้คุณได้จินตนาการ หลีกหนีความกังวล และความตึงเครียดที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้

 

5. การอ่านช่วยยืดอายุสมอง

     แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้น สิ่งที่มากขึ้นตามไปด้วยคือประสบการณ์ ความรู้ และสังคม แต่สิ่งที่จะตามมาด้วยคือ ภาวะสมองเสื่อม การอ่านเป็นวิธีการออกกำลังกายสมองอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยป้องกัน และลดภาวะสมองเสื่อได้  เนื่องจากสมองถูกกระตุ้นอยู่สม่ำเสมอ เปรียบเทียบได้กับเครื่องจักรกล เมื่อมีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอก็สามารถลดสนิมที่เข้ามาเกาะกินได้ สมองของเราก็เช่นกัน สำหรับใครที่เป็นคนรักการอ่านอยู่แล้วก็ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อม 

      ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะสมองเสื่อม ความเข้าใจที่ว่าภาวะความจำเสื่อม ความจำถดถอย และขี้หลงขี้ลืม เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อแก่ตัวลงสิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจผิด สมองของเราไม่ได้เสื่อมสภาพไปตามอายุเสมอไปหากมีการดูแลบริหารสมองอยู่เป็นประจำ การหมั่นทำกิจกรรมที่สร้างเซลล์สมองให้เติบโต พยายามเข้าสังคมพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรืออ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ สามารถช่วยเสริมสร้าง และยืดอายุสมองได้

 

      หากคุณเป็นผู้นำ สิ่งหนึ่งที่ควรทำคือการหาความรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อการปรับตัว บริหารงานให้เหมาะกับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แน่นอนว่าจะทำให้คุณเป็นผู้นำที่โดดเด่ด และประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

 

อ้างอิงจาก https://michaelhyatt.com/science-readers-leaders

Share: | View : 844