เรื่องสั้นที่...ฉันคิด : บทพระนิพนธ์ ในทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

เรื่องสั้นที่...ฉันคิด

 

             นอกจากพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ผลงานการแสดงทางวงการบันเทิงแล้ว ทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ยังมีผงานทางด้านงานเขียน คือ บทพระนิพนธ์ "เรื่องสั้นที่...ฉันคิด"

 

ใครที่ได้อ่านหนังสือ เรื่องสั้นที่...ฉันคิด บทพระนิพนธ์ใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี คงคุ้นเคยกับวลีนี้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงร้อยเรียงและกลั่นกรองตัวอักษรออกมาเป็นเรื่องสั้นสะท้อนการกระทำอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทรงมีความหวังเพื่อให้คนอ่านเกิดความรู้สึกอยากเดินทางสู่โลกกว้างเพื่อไปทำสิ่งอันเป็นประโยชน์ตอบแทนสังคมและเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดี

 

บทพระนิพนธ์ เรื่องสั้นที่...ฉันคิด เป็นเรื่องสั้นสร้างสรรค์สังคมที่มุ่งเน้นประเด็นการศึกษาโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ทรงจุดประกายหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากการเดินทางสัมผัสชีวิตคนบนดอยและทอดพระเนตรเห็นโรงเรียนเล็กๆ ห่างไกลความเจริญ จึงเกิดความคิดถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นเรื่องสั้นจากจินตนาการผ่านชีวิตและความรู้สึกของ 'พิมพ์ดาว' นักธุรกิจชื่อดังที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมากและมีลูกสาวคนเดียวชื่อ 'แพท' ด้วยความมุ่งมั่นอยู่กับธุรกิจ จนทำให้เธอไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงลูกเท่าที่ควร กระทั่งต้องสูญเสียลูกสาวไปจากอุบัติเหตุรถชนและตัวเธอเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส

 

ภายหลังที่เธอฟื้นกลับมา เธอได้ไปอ่านสมุดบันทึกของลูกสาวซึ่งข้อความข้างในนั้นทำให้เธอถึงกับน้ำตารื้น เพราะขณะที่เธอต้องการให้ลูกสาวเข้าสานต่อธุรกิจพันล้าน แต่แพทกลับต้องการทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยอาสาไปเป็นครูบนดอย เธอเกิดคำถามขึ้นในใจว่า "ความสุข ความรัก และความดี ที่แท้จริงเป็นเช่นไร" ในที่สุดเธอตัดสินใจสานความฝันของลูกสาวให้เป็นจริง

 

สุดท้ายเธอได้พบกับความน่ารักของเด็กๆ ได้พบความสุขจากวิถีชีวิตอันเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และยังได้พบเห็นปัญหาด้านการศึกษาหลายๆ ประการ ดังนั้นเธอจึงอุทิศตนให้กับการพัฒนาโรงเรียนและชุมชนไปพร้อมๆ กับการค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต

 

โอกาสนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประทานสัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลพระทัยในการพระนิพนธ์หนังสือเล่มนี้ว่า

 

"เรื่องราวมาจากการสั่งสมประสบการณ์ชีวิต ทั้งความสุขและความทุกข์ และต้องการให้คนเรามองรอบๆ ตัวมากกว่าคิดถึงตัวเอง สังคมยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะ คนทั่วๆ ไปใช้ศักยภาพที่อยู่ในตัวน้อยมากเพียงห้าเปอร์เซ็นต์ แต่ก่อนเราก็ขี้เกียจคิด พอได้พยายามขึ้นมาอีกนิด เราก็ทำงานดีๆ ได้ ปาฏิหาริย์ต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากตัวเราที่ทำให้เกิดขึ้น ทำด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้เกิดสิ่งดีๆ ไม่ใช่หล่นลงมาข้างหน้า

 

หนังสือเล่มนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพเด็กๆ ช่วยสอนวิธีคิดให้ทุกคนรักตัวเองและรักผู้อื่น ซึ่งต้องเริ่มจากการศึกษา การเรียนรู้ การใช้ทัศนคติ"

 

พร้อมทั้งตรัสว่า "แรงบันดาลใจมาจากความสุขที่ว่าคนเราควรจะมองไปรอบตัวว่าทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง ไม่ใช่เห็นแก่ความสุข ความสำเร็จของตนเองฝ่ายเดียว ทุกวันนี้มองไปรอบตัวมีผู้คนมากมายที่เป็นทุกข์ ในสังคมยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องการความช่วยเหลือ"

 

พระองค์ทรงเล่าว่า "บางทีถ้านึกขึ้นมาได้ คว้าอะไรได้ก็จะนำมาเขียนไว้ก่อน บางทีก็จดใส่เศษกระดาษเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้เพื่อเตือนความจำ สำหรับบุคลิกของตัวละครในหนังสือนำมาจากคนรอบตัวนั่นเอง การเขียนหนังสือขึ้นมาสักเล่ม ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก อย่างน้อยผู้เขียนต้องมีความรู้สึกร่วม โดยใช้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตที่ผ่านประสบการณ์มามากมาย ทั้งความทุกข์และความสุข สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ อยากให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วม และมีความเพลิดเพลินในการอ่านด้วย"

 

นอกจากนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระนิพนธ์ไว้ในคำนำว่า "หากคนเราไม่เคยได้ออกเดินทางไปไหน ชีวิตเราก็คงว่างเปล่าไม่ต่างอะไรกับกระดาษว่างๆ หนึ่งแผ่นที่ไม่เคยได้ขีดเขียนอะไรลงไป กลายเป็นกระดาษที่ไร้ประโยชน์ การเดินทางทำให้เราได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้เจอผู้คนใหม่ๆ ทำให้เราได้ออกจากสังคมเดิมๆ ที่เดิมๆ ที่เราเคยอยู่ และสิ่งเหล่านี้เองก็ทำให้เราได้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วัฒนธรรมที่หลากหลายที่เราไม่เคยได้สัมผัส

 

จริงอยู่ แม้ทุกวันนี้เราจะมีสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะอย่างอินเทอร์เน็ตที่พาเราไปได้ทุกมุมของโลก แต่โลกนั้นก็คือหน้าจอสี่เหลี่ยมแข็งๆ ที่เราไม่สามารถแม้กระทั่งจะยื่นมือเข้าไปสัมผัส

 

การเดินทางคงจะไม่มีประโยชน์อะไรทั้งนั้นหากเราท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว การเดินทางจะต้องทำให้เราได้ความคิดใหม่ๆ ได้แรงบันดาลใจ อย่างครั้งหนึ่งที่เคยได้ไปเที่ยวบนดอย ฉันหวังเพื่อที่จะไปชื่นชมธรรมชาติและสัมผัสอากาศหนาวๆ บนที่สูง แต่การเดินทางในครั้งนั้นฉันได้บังเอิญเจอโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนดอยที่ห่างไกลความเจริญ ณ ที่แห่งนั้น ฉันได้มองลึกลงไปผ่านความสวยงามของธรรมชาติที่บดบังและแอบซ่อนบางอย่างเอาไว้ และสิ่งที่ฉันเห็นก็คือ การศึกษา ระบบการศึกษาของเด็กๆ บนดอย ความขาดแคลนคือปัญหาหลัก ทั้งสถานที่ เงิน และครู

 

ฉันได้เห็นแววตาที่สดใสของเด็กๆ แหงนหน้าขึ้นมามองที่ฉัน ใบหน้าเล็กๆ หลายสิบหน้าที่แม้จะสกปรกมอมแมมแต่แสนจะบริสุทธิ์และสะอาด ตอนนั้นเองที่ฉันรู้สึกว่าการเดินทางจะต้องให้อะไรมากกว่าการทำเพื่อตัวเอง มากกว่าความสนุกสนาน การเดินทางควรจะต้องทำอะไรตอบแทนแก่สังคมบ้าง"

 

ทรงเน้นความสำคัญเรื่องการศึกษา "สำหรับฉันการศึกษาคือสิ่งที่ช่วยสร้างคน และคนคือพื้นฐานของประเทศ หากคนในประเทศของเราไม่มีคุณภาพแล้ว ประเทศของเราจะมีคุณภาพได้อย่างไรกัน และหากเราไม่มีคนที่มีคุณภาพหรือคนที่เก่งแล้ว ใครล่ะที่จะมาประดิษฐ์อินเทอร์เน็ตให้พวกเราได้เห็นโลกจำลองกัน!!

 

หนังสือเล่มนี้อาจจะพูดถึงเรื่องการศึกษาก็จริง แต่มันก็ไม่ได้เป็นวิชาการจนน่าเบื่อหรือเป็นเรื่องที่เข้าใจยากจนต้องขมวดคิ้วชนกัน แต่ฉันจะใช้ประสบการณ์การเดินทางมากมายของฉันมาเล่าให้สนุกสนาน ให้เหมือนกับยาเม็ดที่ข้างในแสนจะขมแต่ก็มีน้ำตาลหวานๆ เคลือบเอาไว้ที่ผิวนอก ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ เพราะใครกันที่จะทนเรื่องเครียดและน่าเบื่อได้ตลอดเวลา...จริงไหม

 

ฉันหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ออกเดินทางและลองทำอะไรเพื่อสังคมดูบ้าง โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ แต่ไม่ว่าจะยากหรือง่ายก็ตาม ขอให้เราทำสิ่งนั้นด้วยใจจริงไม่หวังผลตอบแทนและที่สำคัญเมื่อเริ่มทำสิ่งใดแล้วต้องทำให้สำเร็จและเอาชนะอุปสรรคทั้งปวงให้ได้ และเมื่อถึงคราวที่เราได้ทำสิ่งนั้นสำเร็จแล้วเราก็จะพบว่า "ปาฏิหาริย์" ได้เกิดขึ้น และมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไหนไกลตัวเราเลย หากแต่อยู่ภายในใจของเราเอง สิ่งนั้นคือความสุขและความสุขนั้นก็จะอยู่กับเราไปตลอด ดังนั้นหากเราทุกคนได้ตอบแทนสังคมแล้ว ฉันเชื่อว่าสังคมนี้คงจะน่าอยู่ขึ้นอย่างแน่นอน"

 

พระองค์ตรัสถึงสัญลักษณ์ที่ใช้ประกอบในหนังสือเป็นรูป 'ผีเสื้อ' อันบ่งบอกถึงความเป็นอิสระว่า

 

"คนเราเมื่อมีอิสระในความคิดที่จะทำอะไรก็ตามก็จะต้องมีแรงบันดาลใจ แต่ถ้าเราติดอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ อิจฉาริษยาก็จะไม่มีความอิสระ แต่ต้องทำจิตใจให้สดชื่น ไม่นึกถึงตนเอง แต่ให้นึกถึงคนอื่นบ้าง สละความเห็นแก่ตัวจะทำให้ได้รับความสุขมากขึ้น"

 

ส่วนชื่อหนังสือนั้นทรงเล่าว่า "เป็นการตั้งชื่อให้เป็นปริศนา อยากให้ทุกคนเมื่อได้อ่านหนังสือแล้ว ลองมาแข่งกันตั้งชื่อหนังสือที่มาจากแรงบันดาลใจของตัวเอง เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว"

 

อีกทั้งตรัสถึงตัวละครว่า "ประทับใจนางเอกที่เป็นผู้หญิงเก่ง แต่ต้องมาสูญเสียลูกซึ่งเป็นความทุกข์มหาศาลของคนเป็นแม่ ดังนั้นจึงนำความรู้สึกจากการสูญเสียคุณพุ่มมาใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวของแม่ที่เสียลูกด้วย เรื่องราวในหนังสือมีเรื่องราวของปาฏิหาริย์เข้ามาข้องเกี่ยวด้วย ซึ่งการเกิดปาฏิหาริย์ถือเป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น แต่ปาฏิหาริย์ถ้าจะเกิดขึ้นจริง น่าจะเกิดจากการที่เราทำให้เกิดขึ้น เพราะถ้าอยู่เฉยๆ คงไม่มีวันเกิดขึ้น ต้องมีความมุ่งมั่นจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ และปาฏิหาริย์อยู่ที่ใจ อยู่ที่ตัวเรานั่นเอง

 

ทุกวันนี้คนเราใช้ศักยภาพของตัวเองน้อยมาก เวลาจะทำอะไรขึ้นมาก็ขี้เกียจคิด ขี้เกียจทำ แต่ถ้าเราพยายามขึ้นมาอีกนิดก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพของตัวเองได้ เช่นเดียวกับทุกคนที่ทำงานการประสบกับความสำเร็จ ถ้าเราไม่ลงมือทำด้วยตัวเอง ปาฏิหาริย์จะไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้"

 

เรื่องสั้นที่...ฉันคิด กล่าวได้ว่าเป็นงานประพันธ์อันทรงคุณค่าทั้งในเชิงวรรณศิลป์และในด้านเนื้อหาสาระที่สื่อถึงความงดงามในชีวิต นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์แล้วยังแสดงถึงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมไทยอย่างจริงจัง

 

 

cr. http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/20070401/news.php?news=column_23229452.html

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ