ชมัยภร แสงกระจ่าง : ความคิดและมุมมองศิลปินแห่งชาติผู้ข้ามผ่านยุคสมัย

ชมัยภร แสงกระจ่าง

                อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์คนล่าสุด อาจารย์มีประสบการณ์ยาวนานในฐานะนักเขียนและงานวิจารณ์วรรณกรรม นอกจากนี้ยังคอยช่วยเหลือแนะนำนักเขียนรุ่นน้อง และเป็นพี่สาวใจดีคอยแบ่งปันมุมมองด้านศิลปะและชีวิต

                อาจารย์เป็นคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ทำงานร่วมกับนักเขียนรุ่นน้อง และก็มีบางคนได้เป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ด้วย อาจารย์บอกกับเราในเรื่องนี้ได้ไหม

                ก่อนอื่นเลย เราต้องยอมรับก่อนว่านักเขียนรุ่นน้องโดยทั่วไปไม่มีเงินนัก พวกเขามีเพียงความมุ่งมั่นที่จะเขียน ที่สยามรัฐ ดิฉันเขียนรีวิววรรณกรรมและเขียนคอลัมน์ “ลมหายใจกวี” ทำให้ดิฉันได้รู้จักใกล้ชิดกับนักเขียนรุ่นน้อง

                พอได้รู้จักกัน ดิฉันก็พบว่าบางคนเพียงแค่แก้ไขข้อผิดพลาดนิดหน่อยก็สามารถเป็นกวีชั้นยอดได้แล้ว ยกตัวอย่าง เรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ เคยส่งกลอนบทแรกของเขามาให้ตอนเกณฑ์ทหาร เป็นผลงานที่น่าชื่นชม แต่ว่าคำในบาทที่สองยังไม่ไพเราะ ดิฉันจึงส่งจดหมายบอกวิธีแก้ไข แล้วเขาก็ส่งจดหมายขอบคุณกลับมาทันที และก็ไม่เคยพลาดอีกเลย แล้วเขาก็ชนะรางวัลซีไรต์ในปี 2004 ในฐานะกวียอดเยี่ยมที่สุดในภูมิภาคอาเซียน นักเขียนรุ่นน้องคนอื่นๆ ก็มีลักษณะเดียวกันกับเรวัตร

 

                นอกจากเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมแล้ว อาจารย์ยังคัดเลือกบทกลอนลงนิตยสาร แล้วก็เป็นข้าราชการทำงานเต็มเวลา แล้วยังทำงานเหมือนกับเป็นอาจารย์ ที่ได้รับเชิญไปสอนตามสถาบันต่างๆ

                ดิฉันมีความเป็นครูโดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อน พ่อแม่ดิฉันก็เป็นครู เมื่อสมัยยังเด็ก ดิฉันก็เคยช่วยแม่ตรวจข้อสอบ ที่ทำอย่างนั้นได้ก็เพราะดิฉันเป็นรุ่นพี่เด็กพวกนั้นอยู่สองปี ดิฉันรู้คำตอบและก็รู้ว่าใครเป็นเด็กฉลาด จิตวิญญาณความเป็นครูของดิฉันเริ่มมาจากตรงนั้น ที่คณะศิลปศาสตร์ ดิฉันไม่ได้เรียนวิชาพื้นฐานการสอน แต่ถึงอย่างนั้น ดิฉันก็มีบุคลิกเป็นพี่สาว ฉันชอบดูแลพวกรุ่นน้องเหมือนเป็นน้องชายน้องสาว หลังจากที่ดิฉันได้ทำงานราชการสักพักหนึ่ง เพื่อนของดิฉันที่เป็นอาจารย์สอนปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชักชวนดิฉันไปสอนการเขียนการอ่าน และการวิจารณ์ เพื่อนอีกคนที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาฯ ก็ชักชวนดิฉันไปสอนวิจารณ์วรรณกรรม

                หลังจากลาออกจากราชการ ดิฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานสอน ดิฉันสอนที่คณะนิเทศศาสตร์มาเกือบ 20 ปี วิชาเดียวที่ดิฉันสอนคือวิจารณ์วรรณกรรม แล้วดิฉันก็เลิกงานสอนในมหาวิทยาลัย เพราะว่านักศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้รักการเขียน พวกเขาชอบการก๊อป-วางจากเว็บไซต์

                แต่ถึงอย่างนั้น ความเป็นครูของดิฉันอยู่ในจิตวิญญาณ ทุกครั้งที่เพื่อนวงการนักเขียนจัดทำค่ายนักเขียน ดิฉันก็จะไปช่วยงานในฐานะผู้สอนอยู่เสมอ

 

                ในบรรดาพี่น้องผู้หญิงสามคน อาจารย์เป็นคนซื่อตรงที่สุด แล้วอีกสองคนล่ะ

                คนรองเป็นคนร่าเริง เขาชอบพูดขำขัน แล้วคนสุดท้องก็คล้ายกับดิฉัน เขาเป็นคนตรงมากๆ โดยเฉพาะตอนโกรธ พ่อของเราสอนให้เราเป็นคนเปิดเผย สอนให้เรามองเห็นเล่ห์เหลี่ยมของมนุษย์

 

                ที่สนใจเรื่องกวี เป็นเพราะพ่อของอาจารย์หรือเปล่า

                ใช่เลย เวลาที่พ่อเมาตอนจิบวิสกี้ พ่อชอบท่องกลอนดังๆ จำพวกกลอนของสุนทรภู่ กวีชื่อดังของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จำได้ว่ากลอนของสุนทรภู่ช่วยดิฉันทำเกรดได้ดีเมื่อสมัยตอนเรียนอยู่เตรียมอุดมศึกษา ดิฉันภูมิใจในตัวพ่อมาก ถึงแม้พ่อจะเมา แต่ก็ยังช่วยทำให้ดิฉันได้เกรดดีๆ ดิฉันได้จิตวิญญาณการเขียนมาจากพ่อนี่เอง

               

                อาจารย์คิดอย่างไรกับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ จาก 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ

                ดิฉันได้เริ่มมีแนวคิดใหม่จากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้อ่านกลอนของจิตร ภูมิศักดิ์ ดิฉันอ่านท่อน “เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจินต์ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน” ทำให้ดิฉันตกใจ เพราะไม่เคยเจอกลอนแบบนี้มาก่อนเลย มันต่างจากกลอนทำนองเสนาะที่ดิฉันเคยรู้จัก มันให้ความรู้สึกเหมือนกับตอนที่ดิฉันอ่าน ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์

                เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ได้เปลี่ยนแนวคิดของดิฉัน ทำให้ดิฉันคิดอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และเริ่มทำงานเขียนเพื่อสังคม แต่โชคร้ายที่การเปลี่ยนแปลงมาอย่างกะทันหันและรวดเร็วเกินไป หนังสือดีมากมายหลายหมวดหมู่หายไปจากชั้นหนังสือของดิฉันอย่างไม่ทันรู้ตัว แม้แต่หนังสือชุด “เฟื่องนคร” ของรงษ์ วงศ์สวรรค์ ดิฉันมารู้ทีหลังว่าหนังสือทุกเล่มมีคุณค่า เราแค่อยากเรียนรู้อะไรก็ตามที่เราสามารถทำได้จากหนังสือแต่ละเล่ม

               

                อาจารย์เปลี่ยนจากนักวิจารณ์ไปเป็นนักเขียนนิยายตั้งแต่เมื่อไหร่

                ดิฉันเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมตั้งแต่อายุ 17 ปี ตั้งแต่คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งสยามรัฐเสียไป ดิฉันก็ย้ายไปเขียนให้นิตยสารสกุลไทย สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการ ได้กระตุ้นให้ดิฉันเขียนนิยาย ดิฉันจึงเริ่มเขียนจากเรื่องสั้น

                นิยายเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ในสกุลไทยคือบ้านไรดวงใจรัก ดิฉันเขียนรวดเดียว 19 ตอน แล้ววันต่อมาก็เขียนตอนที่ 20 งานเขียนบทวิจาร์วรรณกรรมช่วยให้ดิฉันเข้าใจกระบวนการเขียนนิยาย และวิธีสร้างตัวละครให้น่าสนใจ ดิฉันเรียนรู้จากประสบการณ์การอ่าน

 

                สามีของอาจารย์ คุณสิทธิชัย แสงกระจ่าง (ดลสิทธิ์ บางคมบาง) นักแปลอาวุโสดีเด่น ซึ่งแปลงานคลาสสิกซึ่งยาวและยาก เขาได้ช่วยเหลือสนับสนุนงานของของอาจารย์อย่างไรบ้าง

                ช่วยเหลือในกรณีของการอ่าน ดิฉันไม่สามารถช่วยงานแปลของคุณสิทธิชัยได้เลย แต่ดิฉันก็ได้รับแรงบันดาลใจจากงานที่เขาแปล คนอ่านงานของคุณสิทธิชัยไม่ใช่นักอ่านกระแสหลัก เขามักจะเลือกหนังสือที่น่าสนใจแต่ก็ยากที่จะแปล เขามีบทบาทสำคัญต่อดิฉันในฐานะผู้วิจารณ์ เขาจะอ่านและวิจารณ์งานเขียนของดิฉัน เขาชอบบอกว่าตรงนี้มันแปลกนะ ตรงนี้มันตลก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็รับรองงานของดิฉัน และดิฉันก็ยกย่องในความรู้ของเขา

 

                อาจารย์เข้ากันได้ดีกับทั้งนักเขียนหัวก้าวหน้า และนักเขียนสายอนุรักษ์นิยม อาจารย์ผสานความต่างทางความคิดและสร้างแนวทางของตัวเองได้อย่างไร

                มันเป็นไปโดยธรรมชาติ ดิฉันเคยอ่านนิยายรักโรแมนติก แล้วจากนั้นก็ได้มีโอกาสอ่านนิยายของนักเขียนหัวก้าวหน้า ดิฉันชอบไปร่วมงานค่ายนักศึกษาอาสาตามชนบท เมื่อจะลงมือเขียน ดิฉันจะใช้สไตล์ดั้งเดิมของนิยายรักโรแมนติก และเติมไอเดียใหม่ๆ ลงไป คุณเรืองเดช จันทรคีรี บรรณาธิการอาวุโส ครั้งหนึ่งเคยบอกกับดิฉันว่าสังคมของเราขาดคนกลางๆ มีผู้คนมากมายที่สุดโต่งไปทางซ้ายหรือไม่ก็ขวา ดังนั้นดิฉันจึงอาสาตัวเองเป็นคนกลางๆ สักคน

                ดิฉันได้ใกล้ชิดกับนักเขียนที่ได้รับการนับถือมากมาย เช่น คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ คุณกฤษณา อโศกสิน และคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันไม่สามารถที่จะพูดอะไรกระทบชื่อเสียงของพวกท่านได้ ดิฉันได้เรียนรู้วิธีการทำงานและวิธีการคิดของพวกท่าน ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับปูมหลังและได้ตระหนักถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของงานเขียน แต่ขณะเดียวกัน น้องสาวของดิฉัน และนักเขียนรุ่นน้องมากมายถูกจับด้วยข้อกล่าวหาทางการเมือง ดิฉันเข้าใจคนทั้งสองฝั่ง ดิฉันอยากให้คนทั้งสองฝั่งได้เป็นเพื่อนกัน หนังสือของดิฉันเขียนเพื่อพวกเขา

               

                นอกจากนี้อาจารย์ยังมีความสนใจในศิลปะอีกด้วย เราเคยมีโอกาสพบอาจารย์ที่พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาครั้งหนึ่ง

                แค่ไปเยี่ยมชมเท่านั้น ตอนนั้นดิฉันไปช่วยศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระ ในโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” ในระหว่างโครงการ ดิฉันได้มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างของงานศิลปะ อย่างเช่น ทัศนศิลป์ ดนตรี และศิลปะการแสดง ศาสตราจารย์เจตนาทำงานวิจัยเรื่องทัศนวิจารณ์ ท่านบอกดิฉันว่าศิลปะทุกสาขานั้นส่องทางซึ่งกันและกัน

               

                ทำไมอาจารย์จึงแต่งชุดไทยในชีวิตประจำวัน

                มีคนให้ผ้าซิ่นมาลองใส่ง่ายๆ ตอนดิฉันเริ่มสนใจธรรมะ จากนั้นก็ได้ขอเข็มขัดเงินแม่มาคาด มันก็ได้เลย ก็เลยรู้สึกว่าเป็นการแต่งตัวที่ไปไหนมาไหนสะดวก นุ่งแล้วมั่นใจ นอกจากนี้ ชุดไทยก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในงานต่างๆ ที่ดิฉันไปร่วมด้วย

                ดิฉันใช้ผ้าฝ้ายไทยสำหรับใส่ประจำวัน แต่ผ้าไหมไทยแพงกว่า ดังนั้นดิฉันจึงใส่เฉพาะไปงานเลี้ยงพิเศษหรืองานกิจกรรมเท่านั้น ผ้าไหมไทยรู้จักกันดีในด้านสีสัน ความสวยงาม และดูแลยาก ไม่เหมือนผ้าฝ้าย ใส่สบายกว่า สวย ราคาถูก และดูแลง่าย

 

                อาจารย์จัดการอย่างไรกับการสื่อสารยุคใหม่และโซเชี่ยลมีเดีย

                ดิฉันเรียนจากลูกสาวถึงวิธีใช้ e-mail เพื่อส่งงานต้นฉบับ ดิฉันพบว่ามันสะดวกกว่าการเขียนด้วยมือและส่งไปทางจดหมายหรือแฟกซ์ และดิฉันก็มีเพจเฟซบุ๊คของดิฉันเองเพื่อใช้ติดต่อพูดคุยกับนักเขียนและเพื่อน และแฟนนักอ่านของดิฉัน ใช้ไลน์แอพกับเฉพาะคนใกล้ชิด ไม่อย่างนั้นมันก็รบกวนเรา ตอนเป็นนายกสมาคมนักเขียนฯ ดิฉันพบว่าสื่อเหล่านี้มีประโยชน์ แม้ว่าบางครั้งดิฉันจะยุ่งอยู่กับการประชุมหรืองานสัมมนาก็ตาม

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ