โครงการ “รางวัลชมนาด” (Chommanard Book Prize) เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ.2550 ครั้งแรกเกิดขึ้นจากความร่วมมือของบีทูเอส และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จัดขึ้น เพื่อค้นหาผลงานวรรณกรรมประเภทนวนิยายสร้างสรรค์ชั้นเลิศ โดยนักประพันธ์หรือนักเขียนสตรีไทย ให้ก้าวสู่ระดับชาติ และนานาชาติ ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินรางวัล
จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงไทยที่มีความสามารถ และต้องการเปิดโอกาสพร้อมให้กำลังใจแก่นักเขียนสตรีไทยในด้านการประพันธ์วรรณกรรมประเภทนวนิยาย โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆดังนี้
- เพื่อส่งเสริมให้มีรางวัลวรรณกรรมประเภทนวนิยายยอดเยี่ยมของนักเขียนสตรีไทย
- เพื่อเปิดเวทีและโอกาสสร้างสรรค์วรรณกรรมประเภทนวนิยายชั้นเลิศให้หลากหลายและเพิ่มขึ้นเชิงคุณภาพ
- เพื่อสร้างเสริมและเผยแพร่ผลงานเขียนของสตรีไทยเข้าสู่ระดับชาติและระดับนานาชาติ
รางวัลชนะเลิศ ในครั้งแรกรับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเงินรางวัลชนะเลิศได้รับเป็นจำนวน 100,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ
เปิดรับพิจารณาผลงานครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2550 ในครั้งนั้นยังไม่มีการกำหนดรูปแบบของต้นฉบับ คือสามารถส่งได้ทั้งเรื่องแต่งและงานสารคดี ผลงานเรื่อง รอยวสันต์ โดย ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ได้รับรางวัลเป็นเรื่องแรก และหลังจากนั้นก็ได้มีการกำหนดกติกาใหม่ในปี 2552 ว่า ต้นฉบับที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นงานเขียนประเภทสารคดี (Non-Fiction) โดยการเขียนเรื่องจริงโดยใช้วรรณศิลป์ประหนึ่งนวนิยาย และเปิดรับเฉพาะผลงานของนักเขียนสตรีเท่านั้น
จากข้อสังเกต ผลงานที่ได้รางวัลในแต่ละปี รางวัลชมนาดเน้นเรื่องจากประสบการณ์ชีวิตจริงที่น่าสนใจ อย่างปี 2552 ผู้ได้รับรางวัลคือ ธนัดดา สว่างเดือน ด้วยผลงาน “ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ข้ามแดน” (ประกาศผลเมื่อปี 2554) เจ้าของผลงานไม่ใช่นักเขียนอาชีพหากแต่มีชีวิตที่ต้องเผชิญกับความผันผวนชนิดที่ต้องใช้ความกล้าหาญจึงนำมาเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน เรื่องนี้จึงมีจุดเด่นชีวิตที่น่าสนใจ ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการสนับสนุนผลงานของนักเขียนหญิง เพื่อสร้างและเผยแพร่ผลงานของสตรีไทยสู่ระดับชาติและสากล ด้วยความเชื่อว่า เรื่องราวชีวิตที่ผ่านมุมมองของนักเขียนหญิงจะมีความต่างจากนักเขียนชาย และรางวัลนี้ก็ได้รับความสนใจจากนักเขียนหญิงแนวสารคดีจากเรื่องจริงจำนวนมาก
โจทย์ของรางวัลชมนาด จึงเป็นประเภทสารคดีจนถึง ครั้งที่ 7 และเปิดรับผลงานประเภทนวนิยาย (Fiction-Novel) ในครั้งที่ 8 และ 9 เข้าร่วมประกวด ด้วยเล็งเห็นว่าวรรณกรรมประเภทนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่าน ทุกรุ่นทุกสมัย ตลอดจนยังไม่มีเวทีใดที่เน้นให้ได้แสดงออกเฉพาะนักเขียนสตรีอย่างเต็มที่
รางวัลชมนาด ในครั้งที่ 1 – 4 จัดขึ้น 2 ปีต่อหนึ่งครั้ง ก่อนปรับกติกาเป็นเปิดรับพิจารณาผลงานทุกปีในครั้งที่ 5 จนถึงปัจจุบัน (ครั้งที่ 9) นับเป็นการก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 ของรางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize)