“คาเฟอีนทำให้ผมตื่น แต่บทสนทนาของคุณทำให้ผมฝันทั้งๆ ที่กำลังตื่น" ผมเขียนลงสมุดบันทึกข้างกายเอาไว้เช่นนั้นหลังจากกลับมาจากการออกเดทกับ "ป่าน ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์”
เป็นแปดสิบสามนาทีที่มีค่า เริ่มต้นนาทีแรกที่ป่านเดินมาหย่อนก้นลงเบื้องหน้าของผม แล้วบทสนทนาก็พร่างพรูเหมือนคนที่รู้จักกันเนิ่นนาน เธอเป็นนักเขียน เป็นคนทำนิตยสาร เป็นกวี บนชั้นที่ติดอยู่กับผนังซึ่งห่างจากด้านหลังของผมไปเพียงสามเมตรมีหนังสือวางอยู่สี่เล่ม เล่มหนึ่งในนั้นมีภาพของป่านอยู่ที่หน้าปก ใช่แล้ว นอกจากนักเขียน คนทำนิตยสาร และกวี เธอยังเป็นนางแบบอีกด้วย
Okinawa Holiday คือชื่อหนังสือเล่มนั้น ผมลุกไปหยิบมาพลิก ภาพของเธอพลิ้วผ่านตาผมไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ผมสนใจหาใช่ภาพอิริยาบถขณะที่เธอใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองโอกินาวา หากแต่เป็นเรื่องสั้นปลายเล่มที่เธอบรรจงถ่ายทอดออกมาต่างหาก
“ดวงตาของเธอทำให้ผมหยุดนิ่ง แต่ตัวหนังสือของเธอทำให้ผมไม่อยากจากไปไหน" ผมเขียนประโยคนี้เติมต่อลงไปในสมุดบันทึกเล่มเดิม ผมหลงใหลความเป็นนักเขียนของเธอยิ่งกว่าความน่ารักของดวงหน้าเธอเสียอีก หลังจากที่บทสนทนาเดินห่างการทำความรู้จักเบื้องต้นมาได้พักใหญ่ เธอก็เล่าถึงที่มาของการทำงานเขียนของตัวเอง
"ป่านรู้ตัวว่าชอบเขียนหนังสือตอนเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง ปีสองน่ะค่ะ ตอนนั้นเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกไทย แต่ที่เรียนจะเกี่ยวกับวรรณคดีโบราณ แต่ก็อาจจะมีบางวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมสมัยใหม่ เราก็ได้อ่านงานเขียนเยอะขึ้น ซึ่งที่จริงป่านก็ชอบอ่านมานานแล้วนะคะ จะอ่านมาเรื่อยๆ เพราะพ่อจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แล้วพ่อจะซื้อหนังสือไว้เต็มบ้านเลย เราก็เลยได้อ่านกับพ่อด้วยน่ะค่ะ"
"ตอน ม. ปลายก็มีบ้างที่เขียน เขียนเล่นๆ เขียนไดอารีภาษาเด็กๆ ไปแต่ก็ไมไ่ด้คิดว่าตัวเองชอบขนาดนั้น แล้วมาปีหนึ่ง ปีสอง รู้สึกว่า อืม พออ่านงานคนอื่นเยอะๆ เราก็มีความคิดที่เราอยากถ่ายทอดบ้าง เออ เราก็อยากลองเขียนดูน่ะ ก็ลองเขียนดูแล้วก็ให้เพื่อนๆ อ่าน" หลังจากรู้ตัวเองว่าชื่นชอบการเขียน ป่านก็เพิ่มพูนประสบการณ์ให้ตัวเองด้วยการสมัครเป็นส่วนหนึ่งของค่ายนักเขียนที่จัดโดยสำนักพิมพ์มติชนทันที
"ตอนนั้นที่ค่ายจะมีพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง พี่ต้อ บินหลา พี่นิ้วกลม แล้วก็พี่หนุ่ม เมืองจันท์ เป็นวิทยากร ป่านก็เลยได้รู้จักกับพวกเขาในระดับหนึ่ง ในฐานะครูกับลูกศิษย์ แล้วทีนี้พอจากค่ายนั้นเราก็ได้ฝึกแล้ว ได้ฝึกเขียน ก็โอเคได้แนวคิด ได้รู้วิธีการอะไรบางอย่าง แต่ว่าเราต้องมาฝึกเองอยู่ดี ป่านก็เลยกลับมาเขียน มีเรื่องนึงเขียนแล้วก็ส่งไปให้พี่ต้อ บินหลา ที่ทำนิตยสาร Writer อยู่"
"ป่านส่งไป 2 - 3 เรื่อง พี่เขาก็บอกว่า เออ โอเคนะ ก็หยิบเรื่องนึงไปลง อันนั้นก็น่าจะเป็นครั้งแรกที่เรื่องของเราได้ตีพิมพ์น่ะค่ะ ชื่อเรื่องในวันหนึ่งค่ะ เป็นเรื่องสั้นที่อยู่ใน Writer เล่มที่ 7 นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ลง นอกนั้นก็เป็นบทกวี กลอนเปล่า ก็ส่งไป พี่ต้อเขาก็คอมเมนท์มาบ้าง ก็ต้องขอบคุณพี่เขาด้วยที่ให้โอกาส ก็เขียนมาเรื่อยๆ ทีนี้มีวิชาเกี่ยวกับการเขียนอะไร ป่านก็ไปลงๆ" ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดผลงานที่ลุ่มลึกสำหรับนักเขียนที่ใช้ชีวิตมาอย่างเข้มข้น แต่เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาสำหรับหญิงสาววัยยี่สิบต้นๆ ที่ไม่ได้พบพานความทุกข์ยากหรือปัญหาในชีวิตอะไรมากนัก ผมนึกสงสัยว่าป่านมีอะไรเป็นวัตถุดิบที่ทำให้เรื่องสั้นซึ่งมีมิติอย่าง 'ในวันหนึ่ง' ถูกกลั่นออกมาได้อย่างลงตัวเช่นนี้
“เหมือนกับว่ามันมีอารมณ์อะไรบางอย่างมั้ง เราเป็นคนที่ชอบคิดอะไรเยอะน่ะ ไมไ่ด้หมายความว่าคิดมากอะไรแบบนั้นนะ แต่เห็นอะไรแล้วก็ชอบคิดๆ ไปเรื่อยๆ รู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเพลง อย่างตอนนั้นป่านก็จำไมไ่ด้ว่าฟังเพลงอะไรนะ แต่ฟังเพลงอะไรบางเพลงแล้วก็อินนะ ก็เลยนั่งเขียนรวดเดียวจบเลยน่ะค่ะ แต่ถ้าวันไหนไม่มีอารมณ์เขียนก็จะเขียนไมไ่ด้เลยน่ะค่ะ" "พอเขียน ป่านก็เห็นว่า เออ มีเรื่องนี้ในสต็อกแล้ว เราก็ลองส่งให้เขา แล้วพอดีว่าอาจจะเพราะว่าเคยรู้จักกับพี่ต้อด้วย เขาก็เลยพิจารณาน่ะค่ะ ก็เลยไม่ถือว่าเป็นการตั้งใจว่าชั้นจะต้องได้ลง แค่เหมือนกับว่าป่านมีงานเขียนแล้ว อยากให้พี่เขาลองได้อ่าน จริงๆ อยากฟังคอมเมนต์มากกว่าว่าจะเป็นอย่างไร แต่เขาก็ให้โอกาสตีพิมพ์น่ะค่ะ"
ไอน้ำบนผิวแก้วกระดาษเลื่อนคล้อยลงมากองอยู่ที่พื้นโต๊ะ ป่านส่งยิ้มบอกเป็นนัยว่าอีกไม่นานเธอต้องจากไป ผมขมวดประเด็นการสนทนามาที่เรื่องความรักซึ่งเป็นหัวข้อที่ออกจะประหลาดสำหรับการคุยกับคนที่เพิ่งรู้จักเช่นนี้ "ถ้าเจอคนที่ชอบอ่านเหมือนกันก็อาจจะดี เพราะว่าเราก็จะคุยกันรู้เรื่อง" ป่านพูดถึงผู้ชายที่เธอจะให้มานั่งอยู่ข้างๆ "แต่การที่เราได้คุยกับคนที่เขาชอบด้านอื่นก็เหมือนเราได้เปิดโลกด้านอื่นไปด้วยน่ะค่ะ สมมุติว่าเราไปคุยกับคนที่เขาชอบดนตรี เราก็อาจจะได้รู้จักเรื่องดนตรีลึกขึ้น ได้รู้จักแนวดนตรีที่หลากหลายขึ้นมากกว่าที่เราฟัง เพราะฉะนั้นป่านคิดว่าคนที่จะมาคุยกันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แล้วก็อาจจะไม่ใช่แบบต้องมาเติมเต็มกันเหมือนในละครขนาดนั้น ทำให้เราได้เปิดมุมมองอีกด้านนึง"
"ป่านไม่ได้ตั้งสเปคไว้น่ะค่ะ ไม่ได้ตั้งไว้เลย ถ้าสมมุติมีคนนี้มาชอบเรา แล้วเราอาจจะสะดุดตาในบางอย่างของเขา จุดแรกก็อาจจะรูปลักษณ์ หน้าตาอะไรแบบนั้น ก็ต้องยอมรับว่ามันมีผลนิดนึง หลังจากนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องของสไตล์ ความคิดของเขา เขามีจุดเด่นอะไรไหมที่เราอาจจะสนใจในจุดนั้นของเขา ต้องเป็นคนมีอะไรน่าสนใจนิดนึง ซึ่งน่าจะเป็นด้านศิลปะมากกว่าคะ เพราะด้านกีฬาป่านอาจจะไม่ค่อยอินเท่าไหร่ เราไม่ค่อยชอบเล่นกีฬา อาจจะอินกับคนที่ชอบศิลปะ การวาดก็ได้ ศิลปะไม่ว่าแขนงไหนก็ตามน่ะค่ะ ถ้าเขามีความคิดตรงนี้ ป่านคิดว่าเป็นจุดเด่นของผู้ชายที่น่าสนใจ เป็นคนที่ชอบเขียนก็ได้ ชอบวาด ชอบถ่ายรูป ชอบเล่นดนตรี ชอบอะไรก็ตามน่ะค่ะ"
หลังจากที่นั่งฟังเธอพ่นเพ้ออยู่พักใหญ่ ผมก็เกิดใจร้อนอยากรู้ว่าแท้จริงแล้วหนุ่มในสเปคของเธอนั้นต้องมีรูปสมบัติและคุณสมบัติอย่างไร ผมจึงตัดสินใจเสียมารยาทด้วยการยิงคำถามสุดท้ายพุ่งตรงไปที่เธอทันที “ยากอ่ะ" ป่านนิ่งนาน "นึกไม่ออก มันต้องเจอ เป็นคนที่ทำให้เรายิ้มได้มากกว่า แล้วจุดเด่นตรงนั้นที่ป่านพูดถึง ถ้ามันทำให้เรายิ้มได้ก็น่าจะโอเค น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราคุยกันในสเตปต่อไปได้น่ะค่ะ" ป่านทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่มีความหมายเกินคำพูดของเธอ
เธอเดินจากไปแล้ว แต่ผมยังฝันอยู่ที่เดิม จู่ๆ ผมก็นึกประโยคต่อไปที่จะเขียนลงในสมุดบันทึกออก แต่ผมจะไม่บอกคุณหรอกว่าผมจะเขียนว่าอะไร บางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องเล่าความฝันทั้งหมดของตัวเองให้คนอื่นฟังหรอก คุณว่ามั้ย
4 ข้อควรรู้ก่อนออกเดทกับ 'ป่าน'
1. พูดถึง first date นึกถึงอะไร “น่าจะนึกถึงการไปกินอะไรด้วยกัน(หัวเราะ) เพราะเป็นคนชอบกิน ก็น่าจะเป็นร้านที่มีเมนูอร่อย บรรยากาศผ่อนคลาย จะได้คุยกัน"
2. อาหารในเดทแรก “เป็นอะไรก็ได้น่ะ ขอให้มีของทอด ป่านชอบของทอด(หัวเราะ)”
3. สถานที่สำหรับเดทแรก “ควรจะมีร้านอาหารเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ไปค่ะ ถ้า first date หมายถึงว่าเราอาจจะยังไม่รู้จักกันมากก็น่าจะเป็นสถานที่แบบร้านอาหาร หรือที่ที่เบสิคไปก่อน ห้างสรรพสินค้าที่บรรยากาศมันชิวๆ หน่อยน่ะค่ะ ที่มีที่ให้เดินไปด้วยกัน คุยด้วยกัน จะได้รู้จักกันมากขึ้น"
4. คาดหวังอะไรกับเดทแรก “คาดหวังว่าเขาจะได้รู้จักเรามากขึ้นในอีกระดับนึง เราก็จะได้รู้จักเขามากขึ้นในอีกระดับนึง แล้วมันน่าจะมีความประทับใจที่เกิดขึ้นน่ะค่ะ"
โดย เวสารัช โทณผลิน
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์