ระหว่างที่กำลังเขียนเรื่องสั้นเรื่องใหม่ อยากขอแบ่งปันหลักการพัฒนางานเขียน ที่ผมใช้อยู่เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่มุ่งมั่นและเอาจริงกับการเป็นนักเขียน ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ ไม่ว่างานที่ท่านเขียนจะเป็นเชิงวิชาการ สารคดี หรือวรรณกรรม เพื่อค้นหาสาเหตุ และรู้เท่าทันสิ่งที่เราต้องก้าวข้าม เพื่อเปิดประตูไปสู่ความสำเร็จ และอะไรคือแนวทางที่จะได้งานเขียนที่มีคุณภาพ มาร่วมพิจารณาด้วยกันนะครับ
อะไรคือ "อุปสรรคความสำเร็จ" ประเด็นแรก ลองมาคิดใคร่ครวญ ถามตัวเองไปพร้อมๆ กัน ว่าเรามีลักษณะเหล่านี้บ้างไหม
1.ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
คนจำนวนไม่น้อยที่มีความสามารถด้านการเขียนมาแต่แรก แต่ไม่ได้แจ้งเกิดเป็นนักเขียนเต็มตัวเสียที สาเหตุมาจาก "ความอาย" ไม่กล้านำงานที่ตัวเองเขียนไปเสนอตามสำนักพิมพ์ต่างๆ สุดท้ายเลยต้องแจกให้เพื่อนอ่านเล่นเท่านั้น ลองถามตัวเองว่า "กลัวอะไร" กลัวเขาจะปฏิเสธหรือ หรือกลัวสิ่งใด ถ้ายังไม่เคยลองดูเลยสักครั้ง ก็ไม่น่าปล่อยให้ความวิตกกังวลมาเป็นอุปสรรคจนต้องล้มเลิกความตั้งใจ ว่าแต่เราเชื่อมั่นในผลงานของตัวเองหรือยังว่าดีพอ ถ้าคิดว่ายังก็ควรปรับปรุงต้นฉบับเสียใหม่ให้ดียิ่งขึ้น ตราบใดที่เรายังไม่กล้าที่จะก้าวออกมาเป็นก้าวแรก การเดินทางก็ยังเป็นเพียงความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงได้
2.ขาดความตั้งใจจริง
หลายคนที่เคยเสนองานให้สำนักพิมพ์พิจารณาสัก 1-2 แห่ง เมื่อถูกปฏิเสธผลงาน ก็เป็นอันพับความฝันเสียแล้ว แสดงว่าเราไม่เชื่อคำพูดที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จจะอยู่ที่นั่น" งานเขียนเป็นงานที่แสดงถึงความตั้งใจจริงของผู้เขียนได้ดี ว่ามีความพิถีพิถันต่อคุณภาพของงานของตนเองเพียงใด เชื่อเถิดว่า "ความสำเร็จรออยู่ สำหรับทุกคนที่ทำงานด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น และไม่ย่อท้อ" สักวันเบื้องบนจะหนุนนำ ให้เราสำเร็จได้ไม่ยาก
3.ขาดการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
แม้แต่นักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังต้องเจออุปสรรคข้อนี้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่ายิ่งดังก็ยิ่งกดดัน ลองนึกถึงหัวอกของ J.K. Rowling ผู้เขียนเรื่อง Harry Potter ดูเถอะครับ ว่าเธอต้องแบกรับความคาดหวังจากแฟนทั่วโลก ที่เฝ้ารอคอยตอนใหม่ของ Harry Potter อยู่อย่างใจจดใจจ่อ ถ้าผลงานของเธอลดคุณภาพลงไปจากที่เคยสร้างไว้ เธอต้องถูกแฟนๆ สับเละเป็นโจ๊กโดนระเบิดแน่ แม้ว่าเราเป็นเพียงนักเขียนหน้าใหม่ ที่อาจจะไม่มีใครมาคาดหวังอะไรกับผลงานของเรามากนักก็ตาม แต่เราก็ยังจำเป็นต้องสร้างเสริมนิสัยในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอด้วย เพราะนี่คือลักษณะของผู้เป็นมืออาชีพของทุกวงการ ในการที่จะรักษาความสำเร็จที่ได้รับให้คงไว้ และพัฒนาสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงยิ่งขึ้นต่อไปอีก
ทำอย่างไรจึงจะได้งานเขียนที่มีคุณภาพ
แน่นอนว่า การ "เขียนได้" กับการ "เขียนเป็น" และเมื่อเขียนแล้วเป็นชิ้นงานคุณภาพย่อมมีความแตกต่างกันในการทำงานเขียน และเชื่อว่านักเขียนทุกคนล้วนปรารถนาที่จะให้งานมีคุณภาพทั้งสิ้น ซึ่งควรพิจารณาดังนี้
1.ศึกษาและสังเกต
นักเขียนที่ดีต้องอ่านให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะในแนวที่เราสนใจอยากจะเขียน หากเราตั้งเป้าอยากเป็นนักเขียนเรื่องแนวใด ก็หางานเขียนแนวนั้น จากหลายๆ นักเขียนมาศึกษาแล้วสังเกตว่า จุดเด่นของนักเขียนแต่ละคนเป็นอย่างไร เมื่อตั้งข้อสังเกตบ่อยครั้ง จะพบว่าฝีมือในการเขียนของเราจะพัฒนาไปได้เรื่อยๆ เพราะเราจะเริ่มตั้งข้อสังเกตกับผลงานของตัวเราเองด้วยเช่นกัน
2.ฝึกฝนและทดลอง
ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่กำเนิด... การฝึกฝนจะทำให้เราเกิดความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการทดลองจะนำมาซึ่งความแปลกใหม่ในผลงานของเรา โดยเฉพาะนักเขียนที่เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว บางรายไม่กล้าขยับตัวออกไปจากกรอบความคิดของผลงานเดิมๆ ที่เคยทำไว้ กลัวพลาด อย่างนี้เขาเรียกว่า "ตัน" เหมือนเวลาเราเข้าซอยตัน ก็ต้องหันหลังเดินกลับทางเก่าที่เคยผ่านมา นักเขียนหลายคนที่ไม่ยอม "ตัน" ทางความคิด เขาจะไม่ยอมจำเจ หรือจมอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ เป็นอันขาด
3. ค้นหาตัวเองให้พบ
ในงานศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี จิตรกรรม ฯลฯ รวมถึงงานด้านการประพันธ์ด้วย สิ่งหนึ่งที่เหล่าศิลปินยึดถือคือ "การมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง" หากใครที่ยังไม่สามารถสร้างแนวทางเฉพาะตนขึ้นมาได้ เขายังถือเสมือนเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ เพราะยังต้องเที่ยวเลียนแบบรูปแบบงานของคนอื่นอยู่เรื่อยไป ทักษะและประสบการณ์ยังไม่สามารถตกผลึกออกมาเป็นรูปแบบของตนเองได้ ใครก็ตามที่ได้ "ศึกษาและสังเกต" รวมไปถึง "ฝึกฝนและทดลอง"มาอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะค้นพบรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้ในที่สุด สำหรับนักเขียนที่มีประสบการณ์สูงแล้ว กลิ่นอายและสำนวนของผลงาน สามารถบอกให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าเป็นใคร โดยแทบไม่ต้องดูชื่อผู้เขียนเลยด้วยซ้ำ
4.เปิดใจรับคำวิจารณ์
การเปิดเผยผลงานออกสู่สาธารณะ ควรต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะจะมีคนวิจารณ์อยู่เสมอ บางคนก็ว่าดี บางคนก็ว่าขาดคุณภาพ ลองเปิดใจกว้างๆ แล้วรับฟังเหตุผลของเขาดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าเป็นคำตำหนิที่มีเหตุมีผล เราก็ควรถือเอาคำตำหนิเหล่านี้มาเป็นครู แต่ถ้าเป็นคำตำหนิที่ไม่เป็นจริงตามที่เขาพูด เราก็ปล่อยไป ไม่ควรถือตนว่าเราเก่งแล้ว ไม่ต้องการคำแนะนำจากใครอีกแล้ว เพราะนี่จะเป็นเหมือนการขุดหลุมฝังตัวเองในที่สุด
5.พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง
อาจกล่าวได้ว่าในโลกของการทำงานนั้น จะต้องมีการพัฒนาไม่หยุดยั้ง จะไม่หยุดเพียง "ดีที่สุด" หรือ "เก่งที่สุด" เพราะสิ่งที่ว่าดีแล้ว ย่อมทำให้ดีกว่าเดิมได้อยู่เสมอ คนที่ว่าเก่งแล้ว ก็ต้องมีคนที่เก่งกว่าอยู่เสมอ คงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า "ผมเป็นคนเดินช้า แต่ไม่เคยหยุดเดิน หรือเดินถอยหลัง" งานเขียนหนังสือก็ควรมีการพัฒนารูปแบบของการเขียนอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เราจะสังเกตเห็นว่านักเขียนชั้นนำที่สามารถรักษาชื่อเสียงได้อย่างยาวนาน มักจะผลิตงานเขียนได้อย่างคงเส้นคงวา และมีรูปแบบแปลกใหม่ในการสร้างสรรค์อรรถรสให้แก่ผู้อ่านอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น คุณวินทร์ เลียววารินทร์ ที่มีผลงานเขียนหลากหลายแนว และมีความแปลกใหม่เสมอ
6.อดทน ข้อสุดท้ายนี้สำคัญครับ...ขอให้คิดและเข้าใจเถิดว่า บางทีความสำเร็จก็อาจจะแวะไปเที่ยวอยู่กับคนอื่น เราต้องรออีกสักนิด จึงจะมีเวลาแวะมาเยี่ยมเราบ้าง โดยเฉพาะงานรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกับใคร มักจะถูกตำหนิก่อนเป็นธรรมดา คิดเสียว่าเขายังไม่คุ้นก็แล้วกัน อย่าเพิ่งท้อถอย อย่าเพิ่งล้มเลิก ทำต่อไปเถิด หากเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ แล้ววันหนึ่งคนอื่นจะเข้าใจเอง ลองย้อนมองดูนักเขียนชั้นนำทั้งของไทยและต่างประเทศเถิดครับ มีใครบ้างที่ประสบความสำเร็จได้โดยทันที โดยไม่ต้องเรียนรู้จักกับคำว่า "อดทน"
แต่สิ่งสำคัญกว่าอื่นใดจากที่แบ่งปันมาทั้งหมดนี้...ในทัศนะของผม ความสำเร็จแท้ของการเป็นนักเขียน คือ มีคนติดตามอ่านงานของเรา และตัวของเราเองมีความสุข ไม่มีความเบื่อหน่ายที่ได้เขียน แต่ความสุขที่สุขยิ่งกว่าคือ เราพบด้วยตัวเอง และมีเสียงสะท้อนบอกเราว่า งานเขียนของเรา ไม่เคยย่ำอยู่กับที่ ยังแต่จะก้าวไปข้างหน้า หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านนะครับ...สำหรับผม ก็ยังต้องพัฒนาการเขียนไปเรื่อยๆ ครับ
ขอบคุณที่มา : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=201814