ในห้วงปี 2556 ที่กำลังจะผ่านไปในอีกไม่กี่วันนี้ ในแวดวงวรรณกรรมก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เหมือนกับวงการอื่นๆ ซึ่งมีทั้งการเกิด การผันแปร และการดับสูญ ขณะเดียวกันสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในโลกยุคใหม่ ก็ทำให้วงการนักเขียนและสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งสื่อแขนงอื่นๆ ต้องปรับตัวตามไปด้วย โดยโลกยุคใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตของคนเรามากขึ้น แต่ถึงอย่างไรในความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์และความรู้สึก แม้สังคมเทคโนโลยีจะบีบรัดการดำรงชีวิตภายใต้ยุคสมัยสักเพียงใด แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ดี มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และมีจิตวิญญาณนั่นเอง งานศิลปะจึงเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ โดยงานวรรณกรรมก็เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่เป็นอาภรณ์ทางความคิดที่สวยงามที่มนุษย์เราได้สร้างสรรค์มันขึ้น
หากจะมองถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ในแวดวงหนังสือและนักเขียนไทยเราแล้ว มีอยู่สองสามเหตุการณ์ด้วยกันที่สร้างกระแสให้มีการพูดถึงมากมาย จนกลายเป็นข่าวคราวโด่งดัง และมีการหยิบยกไปพูดถึงในแง่มุมต่างๆ อย่างหลากหลาย นอกจากนี้แล้ว ยังก่อให้เกิดกระแสอื่นๆ ติดตามมาอีกด้วย โดยช่วงปี 2556 มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจและถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าพูดถึงดังนี้
1."สุภาพบุรุษจุฑาเทพ"- ต้องยอมรับละว่านวนิยายชุดนี้ได้ทำให้คนพูดถึงมากมาย หลังจากที่ทางไทยทีวีช่อง 3 นำไปสร้างเป็นละคร จนทำให้คนดูติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง สำหรับนวนิยายซีรี่ส์ชุดนี้ชุดประกอบด้วย 5 เล่ม ซึ่งเขียนโดย ณารา, ร่มแก้ว, เก้าแต้ม, ซ่อนกลิ่น และ แพรณัฐ จัดพิมพ์โดยพิมพ์คำสำนักพิมพ์ การเขียนเรื่องคุณชายแต่ละคนก็เริ่มตั้งแต่ ณารา เขียนเรื่อง ม.ร.ว.ธราธร พี่ชายคนโต ร่มแก้ว เขียนเรื่อง ม.ร.ว.ปวรรุจ พี่ชายคนรอง เก้าแต้ม เขียนเรื่อง ม.ร.ว.พุฒิภัทร ส่วน ซ่อนกลิ่น เขียนเรื่อง ม.ร.ว.รัชชานนท์ และแพรณัฐ เขียนเรื่องของ ม.ร.ว.รณพีร์ โดยคุณชายทั้งห้าคนนั้น เป็นบุตรชายของ หม่อมเจ้าวิชชากร จุฑาเทพ อีกที ซึ่งกระแสตอบรับที่ร้อนแรง นอกจากจะทำให้ดาราหน้าใหม่ที่รับบทเป็นหม่อมราชวงศ์พุฒิภัทร จุฑาเทพ หรือชายภัทร ศัลยแพทย์ประสาท ซึ่งแสดงโดย เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข โด่งดังชั่วข้ามคืนแล้ว นอกจากนี้ยังเกิดกระแส "คุณชายฟีเวอร์" ทั่วบ้านทั่วเมืองอีกด้วย ขณะเดียวกันละครเรื่องนี้ยังก่อให้เกิดกระแสพ่อแม่เด็กแห่ไปตั้งชื่อลูกชาย ให้เป็นเหมือนชื่อคุณชายทั้งห้าอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย ที่สำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน ปรากฏว่า มีพ่อแม่ตั้งชื่อลูกที่เกิดใหม่จากจำนวน 1,000 คนนั้น ชื่อที่นิยมตั้งเป็นอันดับที่ 1 คือชื่อ รัชชานนท์ จำนวน 664 คน อันดับที่ 2 คือชื่อพุฒิภัทร จำนวน 412 คน อันดับที่ 3 คือชื่อ ธราธร 142 คน อันดับที่ 4 ชื่อปวรรุจ จำนวน 112 คน และ อันดับที่ 5 ชื่อ รณพีร์ จำนวน 26 คน นอกจากนี้ยังมีชื่อ จุฑาเทพ อีกจำนวน 30 คน เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือการคาดหมายจริงๆ เพราะแม้ว่าละครจะจบไปแล้ว แต่กระแสคุณชายทั้ง 5 ก็ยังมีการพูดถึงจนถึงทุกวันนี้
2.รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย-หากมองในแง่ของความขัดแย้งในวงการนักเขียน จนกลายเป็นข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประกวด รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย 2556 น่าจะเป็นประเด็นร้อนมากที่สุด เพราะเป็นความขัดแย้งทางความคิดของคณะกรรมทั้งสองกลุ่ม อันเป็นผลพวงที่เกิดจากแนวความคิดทางการเมืองที่แบ่งสีแบ่งฝ่ายนั่นแหละ โดยเหตุการณ์เริ่มตั้งเค้าขึ้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำงานร่วมกับกรรมการที่มาจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ครั้นมีการประชุมร่วมกันโดยคณะกรรมการชุดใหม่ได้เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎกติกา และการเปลี่ยนแปลงการทำงานของคณะกรรมการ จึงทำให้คณะกรรมการจากสมาคมนักเขียนไม่เห็นด้วย จนกระทั่งขอถอนตัวไปในที่สุด แต่ถึงกระนั้นโครงการประกวดก็ดำเนินงานต่อไปได้ โดยมีการตั้งคณะกรรมการคนใหม่เข้ามาแทนคณะกรรมการจากสมาคมนักเขียนที่ถอนตัวออกไป แล้วเหตุการณ์ก็ประทุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการประกาศผลการประกวด โดยมีผู้ท้วงติงว่าผู้ที่ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทบทกวีการเมืองนั้น ผลงานที่ส่งเข้ามาผิดกติกา โดยมีจำนวนบทกวีเกินไม่เป็นไปตามกฎกติกาที่ประกาศไว้นั่นเอง...แล้วหลังจากนั้นก็มีการโต้แย้งและกลายเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ในเวลาต่อมา
3. ทองเนื้อเก้า- ในช่วงปลายปี 2556 นั้น ทันทีที่ละครเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" เผยแพร่ทางไทยทีวีสีช่อง 3 พร้อมๆ กับ "อีลำยอง" ตัวละครเอกของเรื่องออกมาโลดแล่น ก็ทำให้แฟนละครพูดกันปากต่อปาก แล้วลามไปทั่วประเทศเลยทีเดียว สำหรับละครเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" นั้น สร้างจากนวนิยายเรื่อง "ทองเนื้อเก้า" ผลงานของ "โบตั๋น" นักเขียนหญิงระดับแนวหน้าของเมืองไทย ถือเป็นงานเขียนสร้างสรรค์สะท้อนสังคมอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครทีวีบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ "อีลำยอง" นางเอกของเรื่อง และ "วันเฉลิม" ลูกชาย รวมทั้งสังคมรอบข้าง เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนในการสะท้อนให้เห็นภาพทางสังคมของคนหาเช้ากินค่ำที่มีอยู่มากมายในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี....สำหรับโบตั๋น นั้นมีชื่อจริงว่า สุภา สิริสิงห จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ เมื่อปี 2509 เคยเข้าศึกาต่อ ปริญญาโท สาขาวิชาภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่ไม่จบ โบตั๋นเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ปี 2507 เป็นผลงานเรื่องสั้นชื่อ ไอ้ดำ ลงในนิตยสารขวัญจิต ใช้นามปากกาว่าทิพเกสร และเขียนนวนิยายขนาดสั้นชื่อ น้ำใจ ตีพิมพ์ใน สตรีสาร เมื่อต้นปี พ.ศ.2508 มีผลงานมากมาย เช่น เรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ,กลิ่นดอกส้ม, กว่าจะรู้เดียงสา, ก่อนสายหมอกเลือน, เกิดแต่ตม, บัวแล้งน้ำ, ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด, ตะวันชิงพลบ ,ไม้ดัด ฯลฯ
4.การจากไปของ"สีฟ้า"-นับเป็นการสูญเสียนักเขียนคนสำคัญอีกคนหนึ่งในปี 2556 นั่นคือ ม.ล.ศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ หรือ "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" โดยเสียเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เนื่องจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ รวมอายุ 83 ปี "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" หรืออีกนามปากา "สีฟ้า" นั้นได้สร้างสรรค์ผลงานหลายเรื่อง และได้รับการกล่าวขวัญว่ามีความโดดเด่นในด้านเนื้อหาสาระอย่างมาก ขณะเดียวกันผลงานหลายเรื่องถูกนำไปสร้างภาพยนตร์และละครทีวีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง บ่วง, โอ้มาดา, ขมิ้นกับปูน, วงเวียนชีวิต, ข้าวนอกนา, ทำไม, แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์, ใต้ฟ้าสีคราม, เศรษฐินี, ตะวันไม่เคยเลยลับ, กนกลายโบตั๋น, ชลาลัย, หลง, ทางโค้ง, อีสา, โอ้มาดา, แม่ม่าย ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องข้าวนอกนา และ ใต้ฟ้าสีคราม ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้า ทั้งยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย
และทั้งหมดนั้นคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงหนังสือและนักเขียนในบ้านนเรา...ขอให้ทุกท่านจงโชคดีปีใหม่ กินอิ่มนอนอุ่นและอยู่ดีมีแฮงครับ!