คุณอาทร เตชะธาดา : ทัศนคติในการพัฒนาวงการหนังสือ

คุณอาทร  เตชะธาดา

 

Q : คุณอาทรอยากให้มีการพัฒนาวงการหนังสืออย่างไรบ้างคะ
A : การพัฒนาวงการหนังสือ ณ เวลานี้ถึงจุดที่เรียกว่าต้องพัฒนาทั้งโครงสร้าง เรียกว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ คือเป็นช่วงที่สื่อโซเชียลมีเดียมาแบ่งเวลาจากการอ่านไป เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราต้องคิดมาก ทำอย่างไรให้โซเชียลมีเดียนำคนกลับมาสู่การอ่านอย่างจริงจัง ไม่ใช่เขามาเล่นโซเชียลมีเดียเล่นแล้วมาแล้วไปเลย คุณต้อง paradigm shift คือการคิดเรื่องการพัฒนา ต้องย้ายทั้งแม่บทการคิด คือจากการอ่านแบบเดิมๆ เฉพาะกระดาษเท่านั้น ต้องใจกว้าง อย่าไปรังเกียจหากเขาจะอ่านผ่านกระจก ผ่านจอแอลซีดี ผ่านแท็บเล็ต การผลิตบางทีอาจจะ Combine ได้ ผสมผสานผลิตหนังสือแล้วก็ใช้ไฟล์เดวกันทำดิจิตอลไฟล์สำหรับอีบุ๊ค แต่บางครั้งโปรดักชั่นการผลิตอาจจะวางแผนเป็นมัลติมีเดียไปเลยก็ได้ ส่วนช่องทางการขาย จากการขายแบบเดิมๆ ตอนนี้พึ่งอยู่ 3 ช่องทาง ร้านขายหนังสือ การออกบูท และการขายออนไลน์ ช่องทางร้านขายหนังสือต้องยอมรับว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของวงการมานาน ต้องแก้ไข เพราะร้านหนังสือส่วนใหญ่เจอปัญหาค่าเช่าแพง เวลาขายหนังสือไม่คุ้ม แล้วก้อมาเรียกร้องเอากับสำนักพิมพ์

ซึ่งสำนักพิมพ์ก็มีมาจิ้นที่จำกัด ขยับมากผู้อ่านก้อโอดครวญ เพราะห้างขึ้นค่าเช่า 5 % ทุกปี เพราะฉะนั้นร้านหนังสือก็ต้องพัฒนาช่องทางขายออนไลน์ด้วย ทำอย่างไรการขายออนไลน์จะมีประสิทธิภาพ ทั้งสำนักพิมพ์ทำเองหรือร้านหนังสือทำ มันหนีไม่พ้น Information Sharing คือการแบ่งปันข้อมูล แล้วการจัดฐานข้อมูลที่ดีที่สุด คือมีข้อมูลหลากหลายบนเว็บไซต์ เหตุผลที่คนมางานสัปดาห์หนังสือคือ ได้พบหนังสือทั้งเก่าและใหม่เป็นล้านรายการ ต่างคนต่างทำ ร้านหนังสือก็ทำ สำนักพิมพ์ก็ทำ สมาคมจะเป็นเจ้าภาพได้ไหม รวบรวมรายการทั้งหมด ตั้งแต่เก่าและใหม่ ค่อยๆทำทีละทศวรรษ ปัจจุบันไปถึงสิบปีที่แล้ว แล้วก็อีกสิบปีที่แล้ว collect ขึ้นมา หนังสือหลายเล่มเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตายตามกาลเวลา เพราะคนยังหาอยู่ การขายออนไลน์จะมีประสิทธิภาพได้เมื่อระบบฐานข้อมูลและการนำมาแสดงครบถ้วนและระบบเสถียร ไม่ล่มง่าย คนซื้อก็สะดวก จะคำนวณซื้อเงินบาทเป็นเท่านี้ ซื้อเป็นเงิน US เป็นเท่านี้

รายังไม่พูดถึงอีบุ๊ค เพราะอีบุ๊คยังมีข้อจำกัด คนไทยไม่ได้อยู่หกสิบเจ็ดล้านที่นี่ เรายังมีคนไทยอีกทั่วโลก ซึ่งกระหายการอ่านภาษาไทยยิ่งกว่าคนในประเทศซะอีก เพราะเขาอยู่ไกลบ้าน เขาคิดถึงหนังสือไทย เป็นช่องทางขายที่ต้องพัฒนา ร้านหนังสือขายออนไลน์หรือว่าสำนักพิมพ์ หรือร้านหนังสือต้องร่วมมือ สมาคมต้องเข้าไปเป็นเจ้าภาพ ร่วมมือเป็นภาคีให้แข็งแรง แล้วช่องทางการออกขายตามงานใหญ่ๆ ผมว่ากรุงเทพไม่เกินสามงานก้อพอแล้ว ซึ่งการจัด งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ เรามีลูกค้าแน่นอนอยู่แล้ว แล้วก็มีสัปดาห์หนังสือเด็กที่คณะกรรมการได้ยุบเลิกไปโดยคณะกรรมการส่วนใหญ่ไม่ทราบ ซึ่งต้องมีงานนี้ช่วยในการกระตุ้นนิสัยรักการอ่าน มีหลายสำนักพิมพ์มีความรู้สึกว่าขายดี การเริ่มอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ หนังสือเด็กมันผ่านแท็บเล็ตไม่ได้ ต้องจับต้องได้ พอเด็กคุ้นเคยกับหนังสือ การอ่านหนังสือไปตามวัยจะพัฒนาไปเอง

ผมเห็นคุณวรรณศิลป์ ประเสริฐกุล ลูกชายคุณจีรนันท์กับคุณเสกสรรค์ ทุกวันนี้เป็นพิธีกรเพราะอ่านหนังสือมากมาย ผมเห็นคุณเต็มฟ้า ตอนนี้โตเป็นสาวไวมาก ลูกคุณฝน ธนสุนทร เวลามันเร็วมาก ไม่ได้คิดกันแค่ปลายจมูก ผมกล้าพูดได้ไม่ใช่แค่การค้าขายหนังสือ แต่ห้างสรรพสินค้าเขาก้อรู้ว่าแต่ละสิบปีมันผ่านไปเร็วมาก เขาวางแผนรองรับตลาดใหม่ๆ ล่วงหน้าเป็นสิบปี เราต้องมีวิสัยทัศน์ ตลาดในประเทศสิบปีหน้าจะเป็นอย่างไร ตลาดนอกประเทศยี่สิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่านายกคนไหนมาก็ตาม เขาต้องรับใช้วิสัยทัศน์นี้ คุณจะมีนโยบายแตกต่างก็ได้ แต่วิสัยทัศน์ต้องไม่เปลี่ยน

 

Q : คุณอาทรสรุปให้ได้ไหมคะว่าอยากเห็นภาพรวมของวงการหนังสือเป็นอย่างไร
A : อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตร ก็คือเปลี่ยนแบบมีทิศทางไม่ใช่แบบสะเปะสะปะ คนในวิชาชีพนี้อยากจะเลิกทำหนังสือละ แต่คนจบมาใหม่ๆ อยากจะมาทำหนังสือ พวกจบนิเทศศาสตร์หรืออื่นๆ แต่ publisher หรือคนที่อยากจะทำหนังสือกลายเป็นอาชีพครู คนหันไปเลือกเรียนหลักสูตรอื่นหมด publisher ควรบรรจุอยู่ในหลักสูตร ควรจะเป็นสาขาแรกๆ ที่คนอยากจะเรียน อยากทำ แล้วก็รู้สึกว่าทำแล้วมีอนาคต

 

Q : คุณอาทรมองว่าปัญหาสำคัญของธุรกิจหนังสือ ณ ปัจจุบันคืออะไร
A : ต้องมองย้อนกลับไปว่าสมาคมได้ทำอะไรไว้บ้าง และสิ่งใดที่สมาคมยังไม่ได้ทำ

 

Q : คุณอาทรอยากให้วงการนี้เป็นยังไง
A : เป็นศูนย์กลางของ AEC ในเรื่องของอุตสาหกรรมหนังสือ เรื่องของการซื้อขายลิขสิทธิ์ สองปีข้างหน้าที่ควรจะทำให้มากคือเรื่องการสื่อสาร ให้รู้เรื่องในวงการ สมาชิกจะต้องมีส่วนเข้าถึงคณะกรรมการบริหารสมาคมได้สะดวกมากขึ้น เพราะสมาชิกมี 500 กว่าราย แต่ละท่านก็มีปัญหา และในเรื่องของความเข้าใจ เพราะหากมัวทะเลาะกันก็จะเป็นอุปสรรค ดังนั้น ผมมีความคิดเห็นว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า การจะเป็น AEC ได้จะต้องเน้นเรื่องการสื่อสารให้ทั่วถึง แม้จะคิดต่างกันก็ต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน ฟังทุกความคิด พิจารณาทุกความเห็น และสังคายนาออกมาเป็นทางออกร่วมกัน

 

Q : ก็คือ...ต้องการที่จะมีการพัฒนาผู้ประกอบการให้เท่าทันกับสังคมกับโลกที่เปลี่ยนไปใช่ไหม?
A : โดยสามัญสำนึก มนุษย์ทุกคนจะต้องเท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไปอยู่แล้ว แต่ก็อย่าลืมรากเหง้าของเราด้วย ไม่ใช่ต่อยอดอย่างเดียว ต้องต่อรากด้วย ตอนนี้สำคัญที่ปัญหาปากท้อง สิ่งที่ต้องแก้คือ จะทำอย่างไรให้คนขายหนังสือได้ ทำอย่างไรไม่ให้หนังสือล้นสต๊อก เพราะตอนนี้ยอดพิมพ์ก็ไม่ได้มากมายอะไรอยู่แล้ว ถ้าขายไม่ถึง 70-80 % จุดคุ้มทุนยังไม่ได้เลย

 

Q : สังคมไทยมีปัญหาในเรื่องของการอ่าน มีคนอ่านหนังสือน้อยมาก คุณอาทรมีความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
A : การกระตุ้นการอ่านจะต้องทำทุกภาคี สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจะต้องร่วมกับกับสมาคมอื่นๆ เช่น สมาคมนักเขียน สมาคมการอ่าน หลายสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการอ่านและการศึกษา จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน สมาคมฯจะต้องเป็นตัวเชื่อมหรือตัวประสานที่ดีในการทำให้เกิดความร่วมมือ ว่าการอ่านนั้นมีประโยชน์อย่างไร บรรดานักอ่านหรือคนระดับผู้นำ มักจะมีหนังสือเล่มสำคัญประจำตัวไว้อย่างน้อย 1 เล่ม เป็นหนังสือที่เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนความคิดที่มองโลก ตราบใดที่คุณรู้ว่าหนังสือทำให้คุณฉลาดกว่าคนอื่น ทำให้คุณสุขภาพจิตดี รู้จักคิดวิเคราะห์ได้ นั่นล่ะคือประโยชน์ของหนังสือ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ