ในวันที่ใคร ๆ ก็บอกว่า เศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายหนังสือตกต่ำ ร้านหนังสือหลายร้านต้องปรับตัวเองไปขายของอย่างอื่น เรากลับเห็นโอกาสของการขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ที่ Readery หรือ รี้ดเดอรี่ ดำเนินการอยู่ผ่าน www.readery.co (.co ไม่ใช่ .com) ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่จังหวัดไหนของประเทศไทยหรืออยู่ส่วนใดของโลก ถ้าคุณอยากอ่านหนังสือ คุณสามารถสั่งซื้อผ่านเว็บนี้ได้ ในเพียงไม่กี่วัน หนังสือที่คุณอยากอ่านจะถูกแพ็คอย่างดี และจัดส่งถึงคุณด้วยฝีมือบุรุษไปรษณีย์ไทย
ร้านหนังสือออนไลน์ Readeryเกิดจากความรัก (อาจถึงขั้นลุ่มหลง) ในหนังสือของสองเพื่อนซี้ ‘โจ วรรณพิณ’ ผู้กำกับโฆษณาและนักเขียนบทภาพยนตร์ และ‘เน็ต - นัฏฐกร ปาระชัย’โปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาเว็บไซต์ จากชีวิตการทำงานที่เร่งรีบทำให้ทั้งคู่เริ่มอยากมีชีวิตช้า ๆ (Slow Life) เลยตั้งคำถามต่อกันว่า “ถ้าเราจะเปลี่ยนอาชีพใหม่ เราจะทำอะไรกันดี” และด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เดินทางเข้าร้านหนังสือมาแทบจะทั่วโลก ทั้งคู่จึงอยากเปิดร้านขายหนังสือ แต่ความฝันและความจริงมันมักสวนทางกันเสมอ เมื่อหาข้อมูลแล้วพบว่า การเปิดร้านหนังสือจริง ๆ มันยากและลงทุนสูงเกินไป “เราสองคนซื้อหนังสือกันบ่อย ทำให้ปริมาณหนังสือที่มีอยู่มันเยอะมาก เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว เมืองไทยยังไม่มีเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งข้อมูลหนังสือต่าง ๆ เราเลยทำเว็บไซต์ชื่อ biblioholism.com ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เสพติดหนังสือขึ้นมา เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือของเรา เป็นเหมือนชุมชนคนรักการอ่านในอินเตอร์เน็ต ในเว็บจะลงข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับหนังสือหลายหมื่นเล่มที่เรามีอยู่ ทั้งปก เนื้อหา ผู้แต่ง เรียงหมวดหมู่ไว้ด้วย แต่หลังจากนั้นไม่นาน โซเชียลมีเดียก็เกิดขึ้น มีเฟซบุ๊ก มีทวิตเตอร์ แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ก็เลยย้ายมาอยู่บนเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ Readery.co เพื่อขายหนังสือออนไลน์แทนร้านหนังสือจริงที่เราตั้งใจไว้ แต่ก็ยังเป็นเป้าหมายในอนาคตนะ” โจเริ่มต้นเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี
เน็ตเสริมต่อว่า “ช่วง 2 - 3 ปีมานี้ Readery บังเอิญเกิดและเติบโตไปพร้อม ๆ กับโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ เราเลยมีโอกาสบอกต่อหนังสือดี ๆ ผ่านสื่อออนไลน์เหล่านี้ แต่ถึงไม่ขายหนังสือ เราก็โพสต์เรื่องของหนังสืออยู่แล้ว พอมาเป็นร้าน เราก็ได้ทำแบบที่เราชอบ เพราะมันคือความสุข โชคดีที่ Readery ค่อย ๆ เติบโตไปพร้อม ๆ กับโซเชียลเน็ตเวิร์คและพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไปพอดี” เมื่อพลิกจากการเปิดร้านหนังสือจริง ๆ มาเปิดเป็นร้านหนังสือออนไลน์ เน็ตและโจบอกว่า การเปิดร้านหนังสือ ออนไลน์ได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่ เพราะใช้บ้านเป็นโฮมออฟฟิศ ใช้เครือข่ายใยแก้วเป็นหน้าร้าน ที่สำคัญไม่ต้องจ่ายค่าแรงพนักงาน เพราะทั้งโจและเน็ตเป็นคนที่ผลัดกันโพสต์ แชร์ ตอบข้อซักถาม และดูแลลูกค้าด้วยตัวเอง
Readery จำหน่ายหนังสือออนไลน์มาแล้วประมาณ 2 ปี ช่วงแรกโจบอกว่า ขายได้เพียง 2 – 3 เล่ม “เราโชคดีที่ได้เจอสำนักพิมพ์ที่เขามองเห็นโอกาสมาร่วมนำเสนอด้วย การเลือกประเภทหนังสือก็เริ่มต้นที่ว่าเราชอบหนังสือกลุ่มไหน ก็อยากจะขายหนังสือกลุ่มนั้นก่อน ตอนเริ่มต้นกับสำนักพิมพ์ 2 - 3 แห่งแรก จะใช้การบอกต่อกัน ในปีแรกจะเป็นกระแสบอกต่อแบบปากต่อปาก ทางสำนักพิมพ์เขาก็ช่วยแนะนำเราว่า ควรเพิ่มส่วนไหน เล่มไหน เหมือนกับถ้ามีหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ ก็ต้องมีหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ เพราะเขาอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน จากสำนักพิมพ์ 2 – 3 แห่ง ก็ขยายเป็น 10 แห่ง ส่วนหนังสือก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยปก” ทางด้านเน็ตบอกว่า “เราไม่เคยเป็นคนขายหนังสือมาก่อน เรามาจากสายคนอ่าน เราจึงมีมุมมองของคนอ่านมากกว่าคนขาย และรู้ว่าคนอ่านต้องการอ่านหนังสือแบบไหน”
ด้วยความเป็นนักอ่านตัวยง การแนะนำหนังสือเพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านย่อมไม่ธรรมดา “เราจะรีวิวหนังสือแบบง่าย ๆ เหมือนคุยกับเพื่อน บางคนที่เพิ่งเข้ามาในเว็บReadery อาจมองว่ามีแต่หนังสือหนักและซีเรียส เพราะส่วนใหญ่จะเป็นแนววรรณกรรม แต่ก็เหมือนหนังบางเรื่องที่สร้างจากงานวรรณกรรมเก่า ๆ เขาก็สามารถนำมาดัดแปลงใหม่ให้คนดูติดได้ โดยปรับเปลี่ยนให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น” โจบอก ส่วนเน็ตเสริมว่า “อย่างหนัง
เรื่อง ‘Unbroken’ ที่ Angelina Jolie กำกับการแสดง คนก็เข้าไปดูหนังกันอย่างเพลิดเพลิน แต่หนังสือ ‘Unbroken’ (ไม่มีวันดับสูญ) ที่เขียนโดย Laura Hillenbrand กลับไม่มีคนอยากอ่าน เพราะคิดว่ามันหนัก ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ ก็เลยลองอ่าน พออ่านแล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด การทำงานของเราสองคนมันก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ ผมเป็นคนอ่าน โจเป็นคนเขียนบท เขาจะมีมุมมองที่หยิบขึ้นมาขายของได้”
โจและเน็ตทำงานโฆษณามาตลอดชีวิต ทั้งคู่บอกว่า แทบไม่เคยเห็นโฆษณาหนังสือในตลาดเมืองไทยเลย มีเพียงงานอีเว้นต์เปิดตัวหนังสือเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เม็ดเงินในวงการหนังสือมีมหาศาล เขาเลยตัดสินใจใช้สื่อดิจิตอลมีเดียที่มีอยู่มาโฆษณาหนังสือ “มันราคาถูกและเหมาะมากที่จะนำมาใช้โฆษณาหนังสือ ยิ่งถ้าใช้ถูกทางและถูกกลุ่มเป้าหมาย ก็จะทำให้เกิดการซื้อขายได้ไม่ยาก” โจ อดีตหนุ่มนักโฆษณามือฉมังกล่าว “เราเป็นพวกบ้าคลั่งหนังสือ ไม่เคยมองว่าหนังสือขายไม่ออกหรือขายไม่ได้เลยนะ เพราะเราเป็นคนที่ซื้อหนังสือเยอะ (หัวเราะ) โลกของเราอยู่ที่การอ่านหนังสือมาโดยตลอด เราจึงตั้งคำถามทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดว่า หนังสือขายไม่ได้ เราว่าไม่ใช่หนังสือขายไม่ได้หรอก แต่เป็นเพราะหนังสือยังไม่ได้ถูกนำมาขายหรือทำการตลาดอย่างเพียงพอมากกว่า เราคิดว่า ถ้าใส่การประชาสัมพันธ์หรือการตลาดที่เหมาะสมเข้าไป มันน่าจะดีกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนขาย คนเขียน คนแปล หรือแม้แต่คนอ่าน มันน่าจะดีแบบครบวงจรนะ (ยิ้ม) อีกอย่าง เรามองว่ามีแต่คนพูดถึงข่าวร้ายของวงการหนังสือ เช่น คนไม่อ่านหนังสือ หนังสือขายไม่ได้ หนังสือราคาแพง ทั้งที่มีมุมที่ดี ๆ และข่าวที่มีความสุขเกี่ยวกับการอ่านตั้งมากมาย เช่น อ่านหนังสือแล้วมีความสุขยังไง เราจึงพยายามหามุมอื่น ๆ ที่สื่อยังไม่ได้เขียนถึงขึ้นมาสื่อกับนักอ่านแทน” เน็ตเล่าพร้อมรอยยิ้ม โจเสริมอีกว่า “อย่างเรื่อง ‘โจนาทาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล’ ที่หลายคนเคยอ่านตอนเด็ก ๆ คนส่วนมากคิดว่าเรื่องนี้มีแค่ 3 บท แต่ฉบับสมบูรณ์มีทั้งหมด 4 บท นี่คือข่าวดีสำหรับคนอ่าน และเราก็หยิบมาพูดถึง เพราะมันคือเรื่องราวดี ๆ ที่น่าจดจำของนักอ่านทุกคน”
หนอนหนังสือในโลกออนไลน์หลายคนบอกต่อกันว่า ถ้าอยากได้หนังสือนอกกระแสเล่มไหน ให้มาหาที่ Readery.co ในประเด็นนี้ โจยืนยันว่า รี้ดเดอรี่พยายามให้มีหนังสือที่หาซื้อตามร้านไม่ค่อยได้ หรือที่เรียกว่า หนังสือนอกกระแส แต่ลึก ๆ แล้ว เขาก็อยากทำให้หนังสือนอกกระแสกลายเป็นหนังสือในกระแสที่ทุกคนอยากอ่าน “ร้านเราไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหนังสือในหมวดไหน ไอเดียของรี้ดเดอรี่คือ นำหนังสือที่เราอ่านแล้วสนุก มาแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อ”
เน็ตขยายความถึงความแตกต่างของร้านหนังสือออนไลน์กับร้านหนังสือจริง ๆ ให้ฟังว่า การทำเว็บไซต์มีข้อกำจัดน้อยกว่าการทำร้านจริง ๆ ตรงที่เว็บไซต์สามารถเพิ่มหน้าและข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด แต่ความยากก็คือ เมื่อใส่หนังสือเข้าไป 1,000 เล่ม จะมีวิธีไหนที่ทำให้คนอ่านจะเข้าถึงหนังสือ 1,000 เล่มนั้น เพราะแต่ละคนก็มีนิสัยรักการอ่านไม่เหมือนกัน เขาจึงต้องทำเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักอ่านให้ได้ “จากวันแรกจนถึงวันนี้ เรายังคงพัฒนาเว็บไซต์ต่อไปเรื่อย ๆ และต้องเร็วด้วย เพราะเทคโนโลยีมันไปเร็วมาก เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า วันนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกโซเชียลมีเดียบ้าง ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องเตรียมรับมือ” ด้านโจ บอกว่าการทำร้านหนังสือออนไลน์ ต้องใส่ความรู้สึกเข้าไปด้วย “เราพยายามทำเว็บให้ได้อารมณ์เหมือนเดินเข้าร้านหนังสือจริง ๆ คือ เข้าไปก็จะเจอหนังสือใหม่ก่อน จากนั้นก็ไปหาชั้นหนังสือโปรด เราพยายามจำลองให้คนอ่านรู้สึกว่าได้อยู่ในร้านหนังสือ ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากมุมมองของคนอ่านที่เคยเดินเข้าร้านหนังสือมาก่อน แต่เราไม่ได้หยุดที่เว็บไซต์อย่างเดียวนะ เราคิดต่อไปถึงอินสตาแกรม ไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เพราะเรามองว่าหนังสืออยู่กับเราได้ทุกหนทุกแห่ง”
โจบอกว่า ร้านหนังสือออนไลน์เป็นการรวมร้านหนังสือกับธุรกิจ E-commerce เข้าด้วยกัน ทั้งสองคนเป็นแค่แม่สื่อให้หนังสือกับคนอ่านได้เจอกันเท่านั้นเอง ในระยะแรกคนอ่านก็ไม่กล้าสั่งซื้อเท่าไหร่ เขาเลยหาวิธีแก้โดยใช้เทคนิคการสร้างแบรนด์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จนเกิดเป็นกล่องพัสดุที่มีโลโก้ Readery ขึ้นมา “กล่องพัสดุของเราออกแบบอย่างดี แข็งแรง ปลอดภัย เราวางมุมกันกระแทกไว้ทุกจุด เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าจะได้รับหนังสือโดยไม่มีร่องรอยบุบสลายใด ๆ จากการส่งผ่านระบบไปรษณีย์ เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่า ได้รับของขวัญจากร้าน ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าเป็นคนสั่งซื้อเองนั่นแหละ (หัวเราะ) ของแถมที่เราได้รับคือเรื่องการตลาดและการโปรโมต เพราะเมื่อลูกค้าได้รับเขาจะถ่ายรูปอัพขึ้นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความสัมพันธ์ของลูกค้ากับแบรนด์ของเรา เขาจะรู้สึกดีและส่งความรู้สึกดีกลับคืนมา ส่วนการสอบถามหรือสั่งซื้อ เราก็เปิดให้ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือถ้าพบหนังสือมีปัญหา ก็ให้แจ้งมา เราจะส่งกลับคืนไปเปลี่ยนให้อย่างเร็วที่สุด” ในทางปฏิบัติ เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อและชำระเงินผ่านเว็บไซต์ เน็ตใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดการและเช็คสต๊อก ส่วนเรื่องการจัดส่ง ชายหนุ่มทั้งสองจะช่วยกันแพ็คหนังสือลงกล่อง แล้วนำไปส่งที่ไปรษณีย์ด้วยตัวเอง และเพื่อความน่าเชื่อถือ เขาจะแจ้งความคืบหน้ากลับไปยังลูกค้าทุกครั้งว่าได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว
จากคนที่อยากใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ กลายมาเป็นการขายหนังสือออนไลน์ที่ไม่มีเวลาแน่นอน เที่ยงคืนยังต้องรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมลลูกค้า บางคืน ตีสามแล้ว ยังคงต้องนั่งแพ็คของอยู่ แต่ทุกอย่างกลับเป็นความสุขของสองพ่อค้าหนุ่ม เพราะเขารู้ว่า การขายหนังสือออนไลน์ ต้องเข้าใจธรรมชาติและไลฟ์สไตล์ของคนซื้อ เวลาที่ไม่แน่นอนย่อมไม่ใช่ปัญหา Readery เปิดขายหนังสือเกือบ 2 ปี เน็ตกับโจบอกว่า มีข้อมูลของลูกค้าที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาได้อย่างมากมาย เพราะลูกค้ามีทั่วประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย “เชื่อไหมว่าช่วงเวลาที่คนนิยมสั่งซื้อมากที่สุด คือช่วงละครพักโฆษณา เพราะเดี๋ยวนี้คนเขาดูละครไป แชตไป ตอนละคร‘หนึ่งในทรวง’ ออนแอร์อยู่ ถ้าเราโพสต์นิยายเรื่องนี้ขาย เราก็ขายได้ ขายดีด้วย แล้วอีกช่วงหนึ่งที่ขายดีมากคือ ช่วงเวลาทำงานของคนทั่วไป อันนี้ขายดีเป็นพิเศษ (หัวเราะ)” โจเล่าด้วยรอยยิ้ม
ในฐานะนักขาย โจบอกว่า “เรารู้สึกว่าเรากำลังขายของที่มันสุจริตที่สุด ไม่เคยมีใครอ่านหนังสือแล้วเสียคน เราก็เลยใส่การตลาดไปแบบจัดเต็ม ในเว็บจะมีส่วนลด 10 - 15% แต่ไม่ได้ลดตลาดเวลานะ เรามีเทคนิคและลูกเล่นของเรา เช่น ต้องซื้อภายในเที่ยงคืนเท่านั้น ส่วนค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ เราก็จะมียอดสั่งซื้อขั้นต่ำอยู่ว่าสั่งซื้อเท่าไหร่เราจึงไม่คิดค่าส่ง” เน็ตเสริมต่อ “เรามองว่างานที่ทำไม่ได้ทำเพื่อการขายเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกับสารที่มีอยู่ในหนังสือและอยากอ่านมากขึ้น แล้วการตลาดของดิจิตอลมีเดียมันขายได้เป็นรายวัน ฝนตก แดดออก รถติด นำเอามาเสนอได้หมด แม้กระทั่งหนังสือเก่าที่คนลืมไปแล้ว ถ้าเอามานำเสนอเป็น มันก็ขายได้ ขายดีด้วย เพราะเป็นเรื่องของความทรงจำ”
ในวันที่เราเข้าไปคุยกับเน็ตและโจ ทั้งสองใส่เสื้อยืดสกรีนคำว่า ‘Reading is sexy’ อันหมายถึง ‘การอ่านเป็นเรื่องเซ็กซี่’ เขาบอกว่า ในฐานะคนที่รักการอ่านหนังสือและเป็นเจ้าของร้านหนังสือ เมื่อมองเห็นคนอื่นอ่านหนังสือก็จะรู้สึกดี รู้สึกว่าสวยงาม เซ็กซี่ ชวนมอง ยิ่งอ่านมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเซ็กซี่มากขึ้นเท่านั้น
แล้วคุณล่ะ... สั่งซื้อหนังสือผ่าน Readery.co เพื่อเพิ่มความเซ็กซี่แล้วหรือยัง ?
ขอบคุณที่มา : http://www.all-magazine.com