คอลัมน์ ชักธงรบ หนังสือแม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน : โดยกิเลน ประลองเชิง

คอลัมน์ ชักธงรบ หนังสือแม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน

ผมกำลังงุนงง หลงอยู่ในกระแส 14 ตุลาฯ พยายามคิดว่าเราได้อะไรจากเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า วันวิปโยค...นี้บ้าง บ่าย โมงวันวาน (18 ต.ค.) ในงานมหกรรมหนังสือฯ ที่ศูนย์สิริกิติ์ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น มีงานเปิดตัวหนังสือ แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน เขียนโดย เตือนใจ ดีเทศน์ หนังสือเล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2528 และก็พิมพ์เรื่อยมาจนถึงครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 6 อาจารย์หมอ ประเวศ วะสี เขียนคำนำ ในการพิมพ์ครั้งปี 2542 ไว้ตอนหนึ่ง

 

แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน

 

ชีวิต ของครูเตือนใจ แสดงให้เห็นการศึกษาอีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจากการศึกษากระแสหลัก นั่นคือ ชีวิตกับการศึกษาไม่ได้แยกจากกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน หนังสือเล่ม นี้เป็นบันทึกที่สะท้อนความเป็นบูรณาการของกายใจ ครอบครัวสังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติแวดล้อม การเรียนรู้ และจิตวิญญาณ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็น สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต” เป็นมหาวิทยาลัยจริงอย่างครบถ้วน เพราะให้ปัญญาเกี่ยวกับชีวิตและโลกอย่างเข้าถึง... ในขณะสิ่งที่เราเรียกว่า มหาวิทยาลัย หาใช่ที่อยู่ของวิชาอันยิ่งใหญ่

ในการพิมพ์ครั้งแรก ปี 2528 พระประชา ปสันนธัมโม แห่งสวนโมกข์เก่า ไชยา แนะนำครูเตือนใจ ไว้ในคำนำ “ขึ้น มาครั้งนี้ ลูกศิษย์น้อยตายไปหนึ่งคน ชื่อหยะอึง อายุ 8 ขวบแก น่ารักมาก เป็นลูกของพี่ชายผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ป่วยอยู่สามวันก็ตาย เขาเล่าว่า แกคอแข็งเป็นไข้ พ่อพาไปรักษาที่แม่สลองแล้วเลยตายที่นั่น หน้าฝนอย่างนี้ยุงริ้นชุมมาก ชาวบ้านเป็นไข้หน้าเขียวๆกันทั้งนั้น โรคเจ็บคอของแดง (เตือนใจ) กำเริบอีกแล้ว ยาก็ไม่ได้เอามา มีแต่ยาเก่า ตอนนี้คนในหมู่บ้านไอกันมาก เด็กเล็กๆอายุ 1-5 ขวบไม่สบาย คล้ายๆออกหัด ลูกศิษย์แดงสามคน ไม่สบายกันหมด ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย อาเจียน กินข้าวไม่ลง

แดงก็ให้ได้แค่ยาที่มีอยู่ จะพาไปหาหมอก็ไม่มีตังค์ แดงเองก็เหลืออยู่แค่ 30 บาท ช่วยไม่ได้ทั้งๆที่อยากช่วย บ้านนี้ปลูกข้าวไม่พอกิน ปีนี้ก็คงไม่พอตามเคย เพราะลูกไม่สบายหมด ไปไร่ไม่ได้ คุณ เตือนใจ ร้อยเรียงเรื่อง สายน้ำที่ผันเปลี่ยน ในท่วงทำนองของการเขียนจดหมาย จดหมายเหล่านั้นเต็มไปด้วยข้อความที่พูดถึงความทุกข์ยากของชาวบ้าน

งาน บัณฑิตอาสา ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2516 และต่อเนื่องเป็นงานในหน้าที่ ที่บ้านปางสา อำเภอแม่จัน...กัลยาณมิตรผู้หนึ่ง เขียนไว้ในคุรุปริทัศน์ ต.ค.2522 สำหรับพวกเรา เธอคือผู้เสียสละ อุทิศตัวเองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เธอมีฐานะ มีโอกาสที่จะแสวงหาความสุขและมีทางเลือกมากมาย แต่เธอก็เลือกที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ด้วยจิตใจที่มั่นคง ประดุจเทือกเขาเบื้องหน้า ที่ยืนผงาดรับพายุ แดดและลมอย่างทรนง มาชั่วนาตาปี

ผม อ่านบางตอนของคำนำหนังสือ แล้วหลับตานึกถึงภาพ บัณฑิตสาวสวยใส จากรัฐศาสต์จุฬาฯ เลือกทางเดินขรุขระ ยากลำบาก จมปลักอยู่กับการช่วยเหลือเกื้อกูลชาวเขา เปรียบเทียบกับ ภาพ บัณฑิตรุ่นใหม่...ที่ส่วนใหญ่หันหน้าเข้าหาสื่อออนไลน์ ในกระดานชนวนคอมพิวเตอร์ ในโทรฯ มือถือ... ที่เห็นเจนตา ริมถนนรนแคม ในรถไฟฟ้า... พวกเขาเหล่านั้น กระทั่งการเดินทาง ก็ไม่สนใจใครอื่น...ใส่ใจแต่เรื่องที่ที่ตัวเองต้องการ หากมีคำถาม...ผลผลิตที่งอกงาม หลัง 14 ตุลาฯ อยู่ที่ไหน คำตอบ... มีมากมาย

แต่ผลผลิต 14 ตุลาฯ ที่แตกหน่อขยายกอยืนต้นงดงาม เป็นต้นไม้อยู่เชียงราย...ก็น่าเป็นผู้หญิง ชื่อเตือนใจ ดีเทศน์ คนนี้...อยู่หนึ่งคน ไปหา หนังสือ แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน กันเถิดครับ... หนังสือดีๆ อ่านแล้วให้แรงบันดาลใจงดงามอย่างนี้ นานปีจะมีให้อ่านสักเล่ม.

กิเลน ประลองเชิง

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ