โอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย : โดย ท่านอานันท์ ปันยารชุน

โอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย

 

                ท่านอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะทูตสันถวไมตรี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พูดเกี่ยวกับประเด็น โอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย ในงานครบรอบ 4 ปี นิตยสาร Elite+ 

 

              ผมจะขอพูดถึงเรื่องที่ผมสนใจเป็นอย่างมาก นั่นก็คือเรื่องการศึกษา เพื่อเตรียมประเทศไทยให้ พร้อมรับมือกับโลกในวันพรุ่งนี้

              หลายท่านทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยกําลังเผชิญกับวิกฤตในด้านการศึกษา จากทั้งมุมมองของการเรียนรู้ และความเท่าเทียม

          

                ขอพูดถึงปัญหาการเรียนรู้ก่อน ท่านอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA International Assessment มาบ้างแล้ว ผลการประเมินของประเทศไทยพบว่า นักเรียนอายุ ๑๕ ปีของ เราจํานวนมากมีทักษะด้านการรู้หนังสือและการคํานวณขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอ อันที่จริงแล้ว เราได้เห็นว่าผลการ ประเมินนักเรียนไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ถึง ๒๕๕๙ ลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง

                แต่ไม่ใช่แค่การประเมินระหว่างประเทศที่บอกเราว่าเรามีวิกฤติในการเรียนรู้ ผลการสอบของโรงเรียน มัธยมศึกษาแห่งชาติ** ยังชี้ให้เห็นถึงผลการเรียนที่ต่ำ คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ถึง ๘ จากทั้งหมด

๙ วิชา

               ** การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Test หรือ O-NET)

                ระบบการศึกษาของไทยมุ่งเน้นเพียงแค่การเรียนรู้แบบท่องจํามากกว่าการพัฒนาทักษะ ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนไม่ได้เตรียมคนหนุ่มสาวให้พร้อมสําหรับโลกแห่งการทํางานในวันพรุ่งนี้ แต่เราไม่ต้องสิ้นหวังเพราะยังมี หนทางแก้ไขอีกมากมายที่สามารถพัฒนาระบบการศึกษาของเราไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้

                ประการแรกคือการลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นในบริการเกี่ยวกับ “การพัฒนาเด็กปฐมวัย” ที่มีคุณภาพสําหรับ เด็กทุกคน ตั้งแต่อาย ๓ ถึง ๕ ปี

                เราจําเป็นต้องมั่นใจว่า บริการด้านการศึกษามีครูที่มีคุณภาพและมีทักษะสูง ซึ่งจะสามารถช่วยให้เด็กพัฒนา แบบองค์รวม และสร้างรากฐานของการเรียนรู้ในอนาคต

                เราควรจัดให้มีเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้นแก่บิดามารดาของเด็กเล็กที่มีฐานะยากจนที่เข้ารับบริการในศูนย์ พัฒนาการเด็กปฐมวัย เพื่อที่พวกเด็กๆ จะได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งอื่นๆ ที่จําเป็นต่อพัฒนาการด้วย

                 

                ส่วนที่สองซึ่งต้องมีการปฏิรูปคือหลักสูตรของโรงเรียน ควรมุ่งเน้นในการพัฒนาทักษะให้มากขึ้น ส่งเสริม ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมทั้งให้ความสําคัญแก่วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และ คณิตศาสตร์ นี่เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีทักษะที่จะแข่งขัน และทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ

                ระบบการศึกษาจําเป็นต้องทํางานร่วมกับผู้นําทางธุรกิจและนายจ้าง เพื่อชี้ว่าทักษะใดที่สําคัญสําหรับอนาคต และออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนให้เหมาะสมตามนั้น

                นอกจากนั้นยังต้องมีการทบทวนการสอบระดับชาติและการประเมินผลการเรียนรู้อีกด้วย เราต้องลดการ ทดสอบความจําและความรู้ลง และเน้นการพัฒนาทักษะให้มากขึ้น

 

                ส่วนที่สามของการแก้ปัญหาคือ การพัฒนาคุณภาพครู โดยการลงทุนในการฝึกอบรมทั้งก่อนครูเข้าทํางาน และครูที่กําลังปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะเชิงปฏิบัติ และการจัดการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือทํา

                ต่อไปนี้ผมขอพูดถึง วิกฤติด้านความเท่าเทียม ซึ่งผมหมายถึงความเหลื่อมล้ำมากมายในการเข้าถึงการศึกษา ในประเทศไทย

                ถ้าคุณอาศัยอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศ หรือมีฐานะยากจนหรือเป็นเด็กข้ามชาติ คุณจะ

 

                • โอกาสน้อยที่จะเข้าเรียนในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษา

                • มีแนวโน้มที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากร และ

                • อ่านเขียนไม่ค่อยได้ และทําคะแนนได้ไม่ดีในการประเมินผลการเรียนรู้

 

                นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เหมาะสมสําหรับประเทศที่ต้องการข้ามจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มี รายได้สูง

                ขณะนี้เรามีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคกันเหล่านี้และช่วยให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน

                รัฐธรรมนูญปีพ. ศ. ๒๕๖๐ เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในด้าน การศึกษาและเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กยากจน ผมยินดีที่ได้ทราบว่าพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษาได้มีผลใช้บังคับในเดือนพฤษภาคมปีนี้

                การวิจัยของยูนิเซฟเกี่ยวกับงบประมาณของโรงเรียนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความจําเป็นที่จะต้องมี ความเสมอภาคในการจัดสรรทรัพยากรมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำที่มี สาเหตุมาจากความยากจน ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญอันดับหนึ่งที่ทําให้เด็กในประเทศไทยไม่ได้เข้าโรงเรียน

                ผลการวิจัยยังเสนอให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในครอบครัวที่ยากจนและโรงเรียนที่มีเด็กยากจนเข้าเรียนจํานวน มากเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ระหว่างโรงเรียนที่มีผลการเรียนของนักเรียนดีกับโรงเรียนที่ผลการเรียนของนักเรียน ยังไม่ดี

                และเงินไม่ใช่ทรัพยากรเพียงอย่างเดียวในด้านการศึกษา สิ่งที่สําคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ครู โดย กลยุทธ์ในการจัดจ้างครูที่เน้นความเสมอภาคมากขึ้นและมีการสร้างแรงครูเป็นสิ่งจําเป็น ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจว่าเรามีครู ที่ดีที่สุด ในที่ที่เราต้องการให้พวกเขาได้สอนนักเรียนที่ต้องการการสนับสนุนอย่างมากที่สุด

                นอกจากนี้เรายังจําเป็นต้องติดตามดูว่าการใช้จ่ายเงินนี้เป็นอย่างไร ในเรื่องนี้ผมหมายถึงการติดตามดูว่า ทรัพยากรได้เข้าถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดหรือไม่ และติดตามผลของเด็กที่ด้อยโอกาสที่สุด

มีเพียงสิ่งเหล่านี้เท่านั้น ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีฐานะยากจน ต้องออกจาก โรงเรียนมัธยมก่อนที่จะได้รับทักษะที่จําเป็นในการหางานที่ดี ซึ่งจะนําไปสู่การว่างงานและความไม่พอใจของเยาวชนในที่สุด

                ท่านอาจสังเกตเห็นว่าผมได้พูดถึงเด็กทุกคนในประเทศไทย ซึ่งนั่นรวมถึงเด็กข้ามชาติซึ่งพ่อแม่เดินทางมา ประเทศไทยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของเรา และมีความหวังในตัวบุตรหลานแบบเดียวกับที่พวกเรามีให้กับลูกหลาน ของเราโดยไม่ต่างกัน

                พวกเราสามารถภาคภูมิใจกับนโยบายการศึกษาของประเทศไทย ที่ให้โอกาสในการเข้าถึงโรงเรียนสําหรับเด็ก ข้ามชาติ ทว่าแม้จะมีนโยบายที่ดี แต่เด็กข้ามชาติในประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้ไปโรงเรียน เยาวชนเหล่านี้จะเป็น องค์ประกอบสําคัญในอนาคตของประเทศไทยและเราไม่อาจปล่อยให้พวกเขาไร้การศึกษาได้ เราต้องไม่หลับหูหลับตา กับความเป็นจริงข้อนี้

                ผมหวังว่าผมได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่เราต้องเผชิญในด้าน การศึกษา รวมทั้งนําเสนอแนวทางแก้ไขต่าง ๆ ให้พวกท่านได้รับฟังแล้ว

 

                มีเหตุผลสําคัญยิ่งที่เราจําต้องเดินหน้าต่อไปในเรื่องนี้

                ประการแรก เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใด หรืออาศัยอยู่ที่ไหน ต่างก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะให้ความรู้และทักษะเพื่อให้พวกเขาได้พัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

 

                ประการที่สอง การศึกษาเป็นปัจจัยหลักที่จะเปลี่ยนแปลงในแง่ของการให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและ สังคม ต่อบุคคลและสังคม

 

                ประการที่สาม ประเทศไทยกําลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและมีประชากรที่เป็นเยาวชนลดลง การให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้พวกเขาได้ตอบแทนสังคมและสนับสนุนภาระการพึ่งพาที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นสิ่งจําเป็น

 

                สิ่งที่น่ากลัวสําหรับเด็กที่เกิดในวันนี้คือ เมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มี อัตราการพึ่งพิงแรงงาน เพียงแค่แรงงาน ๑.๗ คนต่อผู้สูงอายุหนึ่งคน เทียบกับในปัจจุบัน ที่แรงงาน 5 คนต่อผู้สูงอายุหนึ่งคน

                ดังนั้น การลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งมีผลตอบแทนสูงทั้งต่อตัวบุคคลและต่อสังคมในระยะยาวจึงมี ความสําคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเอาชนะความท้าทายด้านประชากรที่กําลังเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันเช่นนี้

                ขอให้พวกเรามาร่วมมือกันเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในชีวิตด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะ เราทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นสําหรับประเทศไทย

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ