นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

รางวัลซีไรต์ ประจำปี 2532

ประวัติส่วนตัว :

ประวัติย่อ
     จิระนันท์ พิตรปรีชา หรือ ชื่อเล่น "จิ๊ด" เกิด เมื่อวันที่ 25 เดือนกุมภาพันธ์ 2498 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรสาวคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 3 คน บิดาชื่อ นิรันดร์ มารดาชื่อจิระ เคยเป็นครูแล้วลาออกมาเปิดร้านขาย เครื่องเขียน แบบเรียน และหนังสือ เป็นลูกสาวเจ้าของร้านหนังสือที่โตมากับกองหนังสือ ภายในร้าน "สิริ-บรรณ" เริ่มเขียนกลอนในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนประจำจังหวัด และประสบความสำเร็จเบื้องต้นในระดับกลอนประกวดเรื่อยมา จนกระทั่งจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2515 ถูกเลือกเป็นดาวจุฬา ทำงานอยู่กับกิจกรรมชมรมต่างๆ อยู่พักหนึ่ง ก็เกิดสงสัยในคุณค่าของระบบการศึกษาและสังคมมหาวิทยาลัย จึงผันแปรเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองแบบกลุ่มอิสระที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุคนั้น

      หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ บทบาทและชื่อเสียงของจิระนันท์เป็นที่รับรู้ทั่วไป งานเขียนในรูปของบทกวีบางชิ้นกลายเป็นหนึ่งในบรรดาวรรคทองของยุคประชาธิปไตย แต่สภาพการณ์ทางการเมืองที่เริ่มพลิกกลับในปีถัดมา มีส่วนผลักดันให้จิระนันท์ตัดสินใจ "เข้าป่าจับอาวุธ" พร้อม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และผลิตงานฉันทลักษณ์ออกมาภายใต้นามประพันธ์ "บินหลา นาตรัง" หกปีในป่าเขา เพียงพอสำหรับการรับรู้จำแนกแยกแยะ ระหว่างความถูกต้องและผิดพลั้ง ประสบการณ์ป่าเขาเป็นประสบการณ์ที่ไม่ลืมเลือน เมื่อการปฎิบัติงานในป่าเขาไม่ใช่คำตอบ จึงกลับคืนสู่เมือง จิระนันท์ยังคงเขียนงานอย่างต่อเนื่องนอกจากบทกวีแล้ว ยังมีงานสารคดี และแปลบทภาพยนตร์

      เมื่อการต่อสู้ภายในขบวนปฏิวัติแหลมคมรุนแรงยิ่งกว่าการต่อสู้ใดๆ ที่ผ่านมา และถึงเวลาคืนเมืองในสภาพ “กรวดเม็ดร้าว” ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ บทกวีชุด "เกิดในกองทัพ" ของจิระนันท์ พิตรปรีชา เอกสารโรเนียวทำมือได้รับการจัดพิมพ์ออกมาในนาม "ใบไม้ที่หายไป" ซึ่งต่อมา จิระนันท์ พิตรปรีชา นั่งลง "บันทึกแรมทางของชีวิต" ในความหมายที่เป็น "อีกหนึ่งฟางฝัน" ลงพิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสารแพรว จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ "อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต" คือผลงานเขียนเล่มสำคัญที่เพาะบ่มมากว่า ๑๐ ปี ของจิระนันท์ พิตรปรีชา เจ้าของบทกวีรางวัลซีไรต์อันโด่งดัง เข้มข้นด้วยแง่มุมชีวิตของจิระนันท์ ทั้งในบทบาทนักต่อสู้ทางอุดมการณ์ในยุค ๑๔ ตุลา นักคิด นักเขียน ภรรยา และแม่ ในลีลาการเล่าเรื่องอันชวนติดตาม นอกจากจะเขียนบทกวีอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังเขียนบทความ สารคดี แปลบทภาพยนตร์ อย่างต่อเนื่องด้วย ปัจจุบันเป็นนักเขียน และผู้จัดทำบทบรรยายภาพยนตร์ ชีวิตครอบครัว สมรสกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุลหรือสหายไท อดีตผู้นำนักศึกษาที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน มีบุตรชาย 2 คน ชื่อ แทนไท และ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล