ประวัติย่อ
เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ที่บ้านตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ถนนปากน้ำ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี บิดาขุนวิเศษสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายศุลกากร และมารดาสะอาด รัตนกุล (บิดามารดาแยกทางกัน) เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ชีวิตวัยเด็กได้รับการเลี้ยงดูจากตายายและพี่เลี้ยง
เรียนหนังสือเมื่ออายุได้เพียง 5 ขวบ ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ กรุงเทพฯ ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนประสานอักษร และโรงเรียนวันรับสิน จบชั้นประถมศึกษาเมื่อพ.ศ. 2484 ไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม จบมัธยมปีที่ 6 เข้าเรียนต่อในชั้นเตรียมอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจนจบมัธยมปีที่ 8 เมื่อพ.ศ. 2492 จากนั้นไปเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจประมาณ 1 ปี แต่เลิกเรียนกลางคันจน พ.ศ.2494 เดินทางไปเรียนในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อพ.ศ. 2498 แตกฉานทางภาษาสันสกฤตและประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ
เริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โดยเขียนลงในสมุดอ่านกันเล่นระหว่างเพื่อนฝูง เรื่องแรกคือ “เห่าคง” เมื่อไปเรียนเตรียมอักษรศาสตร์ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้เขียนเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” เพราะได้เรียนของชอบประวัติศาสตร์อินเดียอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งได้รับแรกบันดานใจมาจากเรื่องกามนิต – วาสิฏฐี แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ใดสนใจพิมพ์ให้ จนได้มีโอกาสพบ แก้ว อิจฉริยะกุล ชักนำให้ไปช่วยทำละครวิทยุและเห็นเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” จึงนำไปดัดแปลงเป็นละครวิทยุและได้นำไปแสดงละครเวทีขึ้นป้ายโฆษณาว่า แก้วฟ้า – พนมเทียน เป็นผู้ประพันธ์ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งเพลงประกอบละครไว้ 5 เพลงคือ จุฬาตรีคูณ ใต้ร่มมะลุลี เจ้าไม่มีศาล ปองใจรัก และอ้อมกอดพี่ ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งละครและเพลง
ตอนไปอินเดียได้เริ่มเขียนนวนิยายรักเรื่อง “มัสยา” และได้ไปทำงานเป็นเลขานุการที่บริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชันแนลแอสชัวรันซ์ ในขณะที่ทำงานได้ถูกส่งตัวไปตามจังหวัดต่างเพื่อสืบการมรณกรรมของผู้ประกัน เมื่อกลับมาจากอินเดียก็เริ่มต้นการเป็นนักประพันธ์อาชีพ นวนิยายเรื่องแรกที่ได้พิมพ์ในหนังสือเพลินจิตต์รายวันคือ “เห่าดง” ใช้นามปากกา “พนมเทียน” มีผลงานเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เพลินจิตต์ เดลิเมล์ สยามสมัย นพเก้า สายฝน ศรีสยาม จักรวาล บางกอก สกุลไทย สตรีสาร และได้ประสบผลสำเร็จจากการเขียนนวนิยายหลายแนว โดยเฉพาะเรื่อง “เพชรพระอุมา” ใช้เวลาแต่งตั้งแต่ พ.ศ. 2507 – 2533 รวมเป็นระยะเวลา 26 ปี ได้นำมาพิมพ์รวมกันมีความยาวถึง 48 เล่ม ตอนที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร มีผู้สนใจอ่านกันมาก หลายคนเอาใจใส่เสนอแนะข้อบกพร่องที่มีในผลงาน รวมผลงานทั้งหมดเพียง 38 เรื่อง ผลงานที่โด่งดัง คือ “เล็บครุฑ” มีสองตอน ตอนละ 4 เล่ม รวม 8 เล่ม และ “มัจจุราชสีรุ้ง” มีสี่ตอน ตอนละ 4 เล่ม รวมทั้งเคยได้รับตุ๊กตาทองในการประกวดภาพยนตร์เมื่อพ.ศ. 2504 ในฐานะผู้เขียนบทประพันธ์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง “เด็กเสเพล”
ฉัตรชัยยังเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความเกี่ยวกับอาวุธปืน ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารบางฉบับด้วย โดยใช้ชื่อจริง และนามปากกา "ก้อง สุรกานต์" รวมทั้งเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “จักรวาล” ต่อมาได้สมรสกับนางสุมิตรา วิเศษสุวรรณภูมิ มีบุตร-ธิดา 5 คน นายจักรินทร์ วิเศษสุวรรณภูมิ, นายชินวร วิเศษสุวรรณภูมิ, นางละอองดาว ปิ่นแก้ว, สกาวเดือน (แฝดกับละอองดาว แต่เสียชีวิตแล้ว), นายวิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ
ที่มาของนามปากกา พนมเทียน
เป็นชื่อที่มีความหมายถึงเปลวเทียนยามแสงโชนสว่างได้ที่ จะเห็นเปลวเทียนเรียวขึ้นจากปลายแท่งแล้วค่อยแผ่กว้างออกก่อนจะสอบปลายแหลมให้เรียวสะบัดความสว่างขึ้นอีกครั้ง นำมาใช้ครั้งแรกในการเขียนเรื่อง จุฬาตรีคูณ
งานเขียนครั้งแรก
นวนิยายเรื่องแรกเรื่อง “เห่าดง” ลงในสมุดอ่านกันเล่น เมื่อ พ.ศ. 2484
ผลงานรวมเล่ม
นวนิยาย
สารคดี
เกียรติยศที่ได้รับ