นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

ประวัติส่วนตัว :

     ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2546) เป็นนักเขียนเรื่องสั้น และนวนิยายแนวการผจญภัยในป่าดงดิบ และบทความสารคดีชุด "ราชสำนัก" และ "เมืองไทยในอดีต" ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2544 ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เกิดที่ตำบลเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นบุตรคนโตของ นายบุญชู และนางแฉล้ม เอี่ยมกระสินธุ์ มีน้องชายชื่อชวลิต และน้องสาวชื่อชุลี เมื่ออายุ 7 ปี ได้ย้ายมาอยู่กรุงเทพมหานคร ที่บ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดบพิตรพิมุข (วัดเชิงเลน) สะพานยาว

      บิดาของชาลี เป็นครู และเป็นนักเขียน มีนามปากกาว่า "ช. เอี่ยมกระสินธุ์" ต่อมาได้ตั้งสำนักพิมพ์ อ.ก.ส. (ย่อมาจาก เอี่ยมกระสินธุ์) จัดพิมพ์นวนิยาย และเรื่องอ่านเล่น ทำให้ชาลีได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่าน และการประพันธ์มาตั้งแต่เด็ก หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมวัดปรินายก ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เริ่มรับราชการที่ สำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 เริ่มเขียนนวนิยายส่งหนังสือพิมพ์ ครั้งแรกชื่อเรื่อง "ธาตุของผู้หญิง" ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์รายวัน และเขียนการ์ตูนล้อเลียนในหนังสือพิมพ์สยามรีวิว ของ ชอ้อน อำพล ใช้นามปากกา "กระเบื้องแก้ว" "หอกหัก" "ด้ามสาก" "น้ำใสใจจริง" เริ่มเขียนนวนิยายส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "เอกชน" "ประมวญวัน" และ "นิกร" และเริ่มมีชื่อเสียงจากเรื่อง "สุดหล้าฟ้าเขียว" ส่งเข้าประกวดรางวัลโบแดง ของหนังสือ "นิกรวันอาทิจ" เมื่อ พ.ศ. 2486 และได้รับรางวัลชนะเลิศ