นามปากกา :

รางวัลที่ได้รับ :

ประวัติส่วนตัว :

      ชูวงศ์ ฉายะจินดา เป็นทั้งชื่อ-นามสกุลจริงและนามปากกาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี นอกจากนี้ยังมีนามปากกาอื่น ๆ อีก คือ กล้วยไม้ ณ วังไพร , แก้วเจียระไน , กรทอง ทั้ง ๓ นามปากกาใช้เมื่อการเขียนนวนิยายในระยะแรก เทิดพงศ์ ใช้เมื่อเขียนเรื่องสั้น และ ชูวงศ์ ฉายะจินดา ใช้ในการเขียนนวนิยายจนถึงปัจจุบัน ชูวงศ์ ฉายะจินดา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นบุตรคนสุดท้องในพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมดห้าคนของ คุณพระชาญบรรณกิจ (ถวิล ฉายะจินดา) อดีตรองอธิบดีกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง และ นางชาญบรรณกิจ (ช่วง ฉายะจินดา)  ชูวงศ์ ฉายะจินดา อาศัยอยู่ที่เมืองเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย มากว่า ๒๕ ปี จนถึงปัจจุบัน มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ โชติรส ชูวงศ์ ฉายะจินดา

      เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ เข้ารับราชการครูวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนศิริศาสตร์ สี่พระยา (โรงเรียนศิริทรัพย์ในปัจจุบัน) ๑ ปี แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงลาออ ต่อมาเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนราชินี สอนอยู่ได้ไม่นานก็ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ จึงลาออกจากอาชีพครูเข้ารับราชการที่กรมชลประทาน ในแผนกสารบรรณ นาน ๓ ปี

      พ.ศ. ๒๕๐๐ ชูวงศ์ ฉายะจินดา ได้กลับเข้ารับราชการครูอีกครั้งที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้เข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในตำแหน่งอาจารย์แผนกวิชาภาษาไทย ที่นี่งานเขียนของ ชูวงศ์ ฉายะจินดา ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านซึ่งเป็นนักเรียนและเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน โดยตีพิมพ์ลงในหนังสือที่ระลึกของโรงเรียนพร้อมๆ กับเขียนนวนิยายลงตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับ ต่อมาได้ลาออกมาประกอบอาชีพนักเขียนเพียงอย่างเดียว และได้ทำงานอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนสอนตัดผมและตัดเสื้อดาวรุ่งและเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ดาวสยามร่วมด้วย

      ตั้งแต่สมัยชั้นมัธยมต้น ชูวงศ์ ฉายะจินดา สนใจวิชาเกี่ยวกับภาษาไทย โดยเฉพาะวิชาการเขียนเป็นพิเศษ ในช่วงแรกเริ่มจากหัดเขียนเรียงความ ต่อมาฝึกเขียนเรื่องสั้นไว้อ่านกันเองเฉพาะกลุ่ม เรื่องสั้นที่ได้เขียนมามีกว่า ๔๐ เรื่อง นอกจากเขียนเรื่องของเธอแล้ว ชูวงศ์ ฉายะจินดา ยังชอบอ่านวรรณกรรมต่างประเทศ เธอจึงได้รับแรงบันดานใจจากการอ่านวรรณกรรมของ O.HENRY เรื่อง "THE DIAMOND OF KALI" เธอจึงได้แปลและเรียบเรียงขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "เพชรของเจ้าแม่กาลี" นอกจากนี้เธอยังมีผลงานแปลออกมาอีกมากมาย

     ชูวงศ์ ฉายะจินดา ได้รับเชิญให้ไปดูงานต่างประเทศหลายครั้ง จึงเกิดแรงบันดาลใจเขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยวขึ้น ฉันรักสแกนดิเนเวีย เป็นสารคดีเชิงท่องเที่ยวเรื่องแรกเมื่อได้รับเชิญเป็นตัวแทนสตรีไทยไปดูงานที่ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ นอกจากนี้ยังได้เขียนสารคดีเชิงท่องเที่ยวเรื่อง ดินแดนแห่งความสงบยามเช้า เมื่อครั้งเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน ร่วมกับเพื่อนนักเขียน ได้แก่ สุภัทร สวัสดิรักษ์ , อมราวดี , สุภาว์ เทวกุลฯ และสุวรรณี สุคนธา

      ชูวงศ์ ฉายะจินดา เริ่มเขียนนวนิยายเมื่ออายุ ๓๐ ปี เมื่อนิตยสาร ศรีสัปดาห์ ได้เปิดสนามให้นักเขียนใหม่ได้ประลองฝีมือ โดยได้รับการสนับสนุนจาก มล.จิตติ นพวงศ์ บรรณาธิการนิตยสารศรีสัปดาห์ นวนิยายเรื่องแรกซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจจากการอ่านนวนิยายของ ดอกไม้สด คือ ตำรับรัก ขนาดยาว ๕๐ ตอน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ทำให้ชื่อ ชูวงศ์ ฉายะจินดา เป็นที่รู้จักของนักอ่านโดยทั่วไป เรื่องต่อมาคือ ม่านบังใจ นวนิยายทั้งสองเรื่องได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างสูง ชูวงศ์ ฉายะจินดา เขียนนวนิยายลงในนิตยสารอีกหลายฉบับ ชูวงศ์ ฉายะจินดา มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะราชินีนวนิยายพาฝันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 


     ชูวงศ์ ฉายะจินดา หยุดเขียนนวนิยายนานเกือบ ๒๐ ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เมื่อเดินทางไปพำนักอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียพร้อมบุตรชาย จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กลับเข้าสู่วงวรรณกรรมอีกครั้ง ตามคำชักชวนของ สุภัทร สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการอาวุโส นิตยสารสกุลไทยเริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง เกสรหน่ายแมลง ลงพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผลงานนวนิยายต่อมาคือ ฆาตกรกามเทพ มายา-เสน่หาอลเวง พี.อาร์.หมายเลขหนึ่ง ฟ้ามีตะวัน หัวใจฉันมีเธอ ชีวิตนี้มีไว้เพื่อเธอ (อุบัติเหตุ เภทภัย หัวใจรัก) และ เหมือนเราจะรักกันไม่ได้ ที่กำลังพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย

      ชูวงศ์ ฉายะจินดา กล่าวว่าที่กลับมาเขียนนวนิยายอีกครั้ง ด้วยเหตุผลเดียวคือ เกิดมาเป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธ และมีอายุสูงปูนนี้ จึงขอฝากข้อคิดบางประการเพื่อคนรุ่นใหม่ในสังคมจะได้ไม่ลืมหลักธรรมเก่า ๆโดยใช้นวนิยายที่ให้ทั้งความบันเทิงและข้อคิดเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดประสบการณ์และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านมุมมองของผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากคนหนึ่ง