นิยายประโลมโลก ขายดีเพราะ...? : คุณคงยังไม่รู้จักหนังสือประเภทนี้มากพอ จึงอยากให้ลองลบความเชื่อเดิมๆ ทิ้งไป แล้วมาเปิดใจไปกับ 2 สาวผู้โด่งดังจากสำนักพิมพ์แจ่มใส

นิยายประโลมโลก ขายดีเพราะ...?

“เขา ค่อยๆ พรมจูบลงบนใบหน้าของเธออย่างเชื่องช้า ผู้ถูกสัมผัสตัวสั่นเทา ซ่อนแววตาเอียงอายเอาไว้ภายในอ้อมกอดอันแสนอบอุ่นของเจ้าชายผู้เคยเย็นชา ถึงตอนนี้ ดูราวกับว่าเขาช่างอบอุ่นเสียเหลือเกิน...”

หากที่บรรยายมา ดูคล้ายกับภาพจินตนาการที่ผุดขึ้นมาในหัวของคุณหลังพูดถึงคำว่า “นิยายรัก” แล้วล่ะก็ แสดงว่าคุณคงยังไม่รู้จักหนังสือประเภทนี้มากพอ จึงอยากให้ลองลบความเชื่อเดิมๆ ทิ้งไป แล้วมาเปิดใจไปกับ 2 สาวผู้โด่งดังจากสำนักพิมพ์แจ่มใส เผื่อว่างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุดนี้ คุณจะสนใจไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อคิวซื้อ “หนังสือนิยาย” หนังสือประเภทที่ขึ้นชื่อว่าขายดีที่สุดทุกครั้งที่จัดมหกรรม

เมื่อนิยาย ไม่ใช่สีชมพู
หลายครั้งเมื่ออ่านตัวอักษรกับเรื่องราวที่แสนสวยงาม มักชวนให้อยากรู้ว่าเบื้องหลังปลายปากกาเหล่านั้น พวกเขามีหน้าตาเป็นเช่นไร ยิ่งเรื่องราวบรรยายเกี่ยวกับอารมณ์รักๆ ใคร่ๆ เอาไว้อย่างลุ่มลึก ยิ่งชวนให้จินตนาการไปไกลว่า คงต้องเป็นหญิงสาวกร้านโลกผู้เชี่ยวชาญเรื่องหัวใจเป็นแน่

แต่ความจริงที่เจอกลับเป็นภาพของ หญิงสาววัย 19 ผู้เขียนนิยายรักตั้งแต่อายุ 12 ปีจากจินตนาการล้วนๆ ส่วนอีกคน เป็นหญิงร่างบางวัย 27 ผู้ยังคงสถานะโสดและยอมรับว่าไม่ได้มีประสบการณ์ด้านความรักอะไรมากมายนัก และบรรทัดต่อจากนี้ไปคือบทสนทนาที่จะทำให้รู้ว่า งานเขียนจากหัวคิดของพวกเธอไม่ได้เป็นแค่ “นิยายประโลมโลก” ไปวันๆ อย่างที่ใครๆ มอง

“โอ๋เอ๋-แสงอรุณ วรรณจู” เจ้าของนามปากกา “Hideko_Sunshine” และ “ฉัตรฉาย” เธอคือคนหนึ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “นักเขียนอาชีพ” ได้ อย่างเต็มปาก เพราะที่ผ่านมา เธอทุ่มเทให้กับเส้นทางนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มจรดปากกาเขียนให้เพื่อนอ่านในวัยเด็ก อัพลงบนอินเทอร์เน็ตจนนิยายฮอตฮิตติดลมบนถูกใจคนอ่าน สำนักพิมพ์ชวนไปรวมเล่ม ขอให้อยู่ในสังกัดแจ่มใส ถึงตอนนี้ โอ๋เอ๋กลายเป็นนักเขียนชื่อดังอันดับต้นๆ ในสายนิยายไปแล้ว และขอยืนยันว่านิยายไม่ได้มีแค่ “สีชมพู” อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่น่าจะเป็น “สีเทาๆ” เสียมากกว่า

เรื่อง “กิ๊ก” หรือ “การคบซ้อน” คือตัวอย่างเล็กๆ ที่เธอพยายามสอดแทรกเอาไว้ตลอด เพราะรับไม่ได้กับนิยายหรือบทละครหลายๆ เรื่องที่เขียนให้พระเอกคบนางรอง แล้วสลัดคนรักเก่าทิ้ง สุดท้ายเรื่องราวจบแบบ Happy Ending พระเอกคู่กับนางเอก เธอยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้ตัวละครของเธอได้ดีจากการทำผิดๆ

“นิยายรักหลายๆ เรื่อง เขียนไว้ว่าถึงพระเอกจะเคยเลวมาแค่ไหน พอรักนางเอกปุ๊บก็จะรักนางเอกแค่คนเดียว ซึ่งความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นไงคะ เราชอบเอาความจริงมาเขียนมากกว่า เอามาจากชีวิตจริงของเพื่อนเรานี่แหละค่ะ นิยายส่วนใหญ่พระเอก-นางเอกรักกันแล้วก็ตัดจบ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของชีวิต เราก็เลยจะชอบนำเสนอในอีกมุมนึง

เราจะค่อยๆ ทำให้เขาได้เรียนรู้ ไม่ให้อยู่แค่โลกสีชมพูอย่างเดียว นิยายของเราจะเป็นนิยายสีเทาๆ ค่ะ พยายามแทรกอะไรแบบนี้เข้าไปตลอด อย่างมีอยู่เรื่องนึงเราตั้งใจเขียนให้พระเอกกับนางเอกไม่ได้คู่กันตอนจบนะ เพราะเราอยากสื่อสารว่า ทุกคนควรมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและให้ความสำคัญกับเรื่องศีลธรรม บางทีคนเขียนก็ไม่จำเป็นต้องเข้าข้าง เอาเหตุผลของพระเอก-นางเอกมา แล้วทำให้ต้องคู่กันตลอด ไม่จำเป็น ว่าคุณเป็นนางเอกแล้วจะต้องแย่งพระเอกมาได้ เรามองว่าถึงคุณจะมีเหตุผลในการรักกัน แต่ศีลธรรมและความถูกต้องต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก มีนิยายอยู่เรื่องนึงเลยค่ะที่ให้ตอนจบพระเอกกับนางเอกไม่ได้คู่กัน”

ดูเหมือนว่าความคิดที่ว่านิยายเป็นสีเทา จะไม่ใช่แค่มุมมองของโอ๋เอ๋คนเดียวเท่านั้น เพราะคนที่นั่งอยู่ข้างๆ อย่าง “อาย-กานตริน ลีละหุต” รุ่นน้องร่วมสำนักพิมพ์ เจ้าของปากกา “เจ้าหญิงผู้เลอโฉม” ก็พยักหน้าอือออแสดงอาการเห็นด้วยเป็นระยะๆ จากนั้นจึงช่วยเล่าประสบการณ์หม่นๆ จากชีวิตจริงที่เอามาอิงนิยายขึ้นมาเสริมบ้าง

“พอๆ กันเลยค่ะ อยากจะให้คนอ่านรู้ว่าชีวิตมันไม่ได้สวยงามเสมอไป ไม่ได้ Happy Ending ตลอดเวลา เคยเขียนเรื่องที่นางเอกชอบแฟนคนอื่น เอาเรื่องจริงมาเขียน มาจากประสบการณ์ตรงเบาๆ (ยิ้ม) คนอ่านที่เป็นเด็กๆ น้องๆ ก็จะมาถามว่า ทำไม ถึงไม่ได้คู่กัน น้องๆ จะพยายามหาเหตุผลให้เขาคู่กันให้ได้ ไม่ว่าจะทำผิดมาขนาดไหนก็ตาม ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราไปแย่งเขามาแล้วเราจะต้องได้และมีความสุขในชีวิต มันไม่ถูกต้อง เด็กไทยที่อ่านนิยายแจ่มใส ส่วนใหญ่จะอยากให้พระเอก-นางเอกคู่กันเสมอ ซึ่งมันอาจจะไม่ต้องเป็นอย่างนั้นก็ได้ คนรักกันอาจจะไม่จำเป็นต้องได้อยู่ด้วยกันเสมอไป

มีหลายๆ ครั้งที่เรื่องที่เขียนเอามาจากชีวิตจริงค่ะ อย่างเรื่องรุ่นน้องที่ไปชอบรุ่นพี่ แล้วรุ่นพี่เขาก็มีแฟนอยู่แล้ว รุ่นพี่เขาก็แทงกั๊ก ไม่บอกว่ามีแฟนแล้วหรือพูดว่าเลิกไปแล้ว เพราะอยากเก็บไว้ทั้ง 2 คน พอเริ่มโดนแฟนจับได้ก็มาพูดกับเราว่า แฟนพี่รู้แล้วทำไงดี เราก็มารู้ตอนนั้นแหละว่าเขามีแฟนแล้ว เลยคิดว่าต้องเอาเรื่องนี้ไปเขียนให้ได้ สะท้อนให้เห็นว่ามันมีคนแบบนี้อยู่จริงๆ ให้ระวัง ถึงจะโกรธ แต่ในอีกมุมนึงเราก็อาจจะต้องขอบใจเขานะ ที่ทำให้เรามีพลอตนิยายเขียน” หญิงสาววัย 19 ปิดท้ายด้วยรอยยิ้มปลงๆ

ก็แค่ประโลมโลก?
ทุกครั้งที่มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สังเกต ได้เลยว่าบูทที่มีคนแห่เข้าไปต่อคิวซื้อจนแน่นขนัดเป็นอันดับหนึ่งคือ บูทหนังสือประเภท “นิยาย” ส่งให้หลายฝ่ายตั้งคำถามจิกกัดระคนล้อเลียนความพยายามเป็น “เมืองหนังสือโลก” ของประเทศไทยว่าคงไปได้ไม่ถึงไหน เพราะดูเหมือนว่าความพยายามส่งเสริมรักการอ่านจะไม่ได้ผลอย่างแท้จริง สุดท้าย เด็กและเยาวชนก็เลือกอ่านแต่ประเภทนิยายเป็นหลักอยู่ดี หาก มองผ่านสายตาของกลุ่มที่มองว่าหนังสือประเภทนี้คือ “หนังสือประโลมโลก” หรือ “ไร้สาระ” ก็จะคิดแบบนั้น แต่ถ้าลองเปิดใจมองดูก็จะเห็นอีกมุมที่กว้างขึ้น อย่างน้อยๆ เริ่มจากการมองผ่านสายตานักเขียนอย่างโอ๋เอ๋ก็ได้

“โดยพื้นฐานแล้ว นิยายก็ให้ความบันเทิงอยู่แล้วนะ ส่วนความเป็นหนังสือ ทุกเล่มมันมีประโยชน์ในตัวของมันอยู่แล้วค่ะ เพราะการอ่านมันให้เรามีสมาธิ ฝึกจินตนาการ คนส่วนนึงอาจจะมองว่านิยายคือวรรณกรรมน้ำเน่า หนังสือประโลมโลก แต่ในความน้ำเน่าที่คนมองมันก็สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างนะ อย่างเรา ในส่วนคนเขียนเองก็พยายามแฝงประเด็นหลายๆ อย่างเอาไว้ ไม่ใช่แค่ไปเที่ยว ไปกินข้าวกัน รักกัน ทะเลาะกัน เราไม่ได้เขียนแค่นั้นค่ะ”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตัวเองคิดมากกับคำว่า “นิยายประโลมโลก” อยู่ไม่น้อยเหมือนกันในช่วงแรกๆ ที่เลือกเดินบนเส้นทางนี้ ด้วยตัวโอ๋ เอ๋เองเรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เอก “วาทวิทยาและสื่อสารการแสดง” และโท “วารสารสนเทศ” มา ยิ่งถูกจับจ้องด้วยคำถามที่ว่า “มาเขียนนิยายแบบนี้ ไม่เสียดายความรู้ที่ร่ำเรียนมางั้นหรือ?”

“พูดตรงๆ เลยค่ะว่าตอนจบมาแรกๆ เราก็รู้สึกเหมือนกันว่าเสียดาย เราเรียนมาหนักมากนะ แล้วเหมือนไม่ได้ใช้ แต่พออยู่ไปนานๆ เราก็รู้สึกว่าคนเราต้องมีทางของตัวเอง ในเมื่อเราจะเลือกมาทางนี้ เราจะต้องไปทางนี้ให้สุด จะต้องไม่เสียดายอีกทางนึง ในเมื่อเราเลือกแล้ว เราเลยพยายามใส่ทุกอย่างเข้าไป เราเลยพยายามให้นิยายของเราไม่ได้มี แค่ความหวานแหวว มุ้งมิ้ง หลอกคนไปวันๆ รู้สึกว่านิยายมันก็ไม่ได้ทำให้โลกโสมม มันไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ มันเป็นเหมือนผู้ชายเล่นเกม-ดูบอล ส่วนผู้หญิงก็ดูละคร-อ่านนิยาย มันเป็นงานอดิเรกที่ผ่อนคลาย

พอช่วงหลังๆ ได้ยินบ่อยขึ้นว่า “นิยายประโลมโลก” ภูมิต้านทานแก่กล้ามากขึ้น (ยิ้มบางๆ) ถามว่าเสียใจมั้ย เราเฉยๆ แล้ว ไม่รู้สึกอะไรแล้วค่ะ คิดว่าคนเขามีสิทธิจะมองว่ามันไร้สาระได้ ถ้าเขาตัดสินจากมุมมองของเขา คนเราร้อยพ่อพันแม่มีความคิดที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่ ละคนจะโฟกัสแต่ละเรื่องไม่เหมือนกันว่าเรื่องไหนไร้สาระ-ไม่ไร้สาระ มันเป็นรสนิยม ถ้าเขาไม่ชอบ เขาก็มองว่ามันไร้สาระเท่านั้นเอง มันก็แค่รสนิยมที่ไม่เหมือนกัน เท่านั้นเอง เราก็เข้าใจว่าการเขียนนิยายมันคืองานตลาด เป็นงานบันเทิงอย่างนึง บันเทิงคือถ้ามันให้ความสุขกับคน มันไม่ได้ทำลายสังคม นิยายก็เป็นศิลปะแขนงนึง”

เลิฟซีน “ทำลายเยาวชน”?
บทเลิฟซีนคือจุดที่ผู้ปกครองมักจะเป็นห่วงเป็นใยอยู่เสมอเมื่อเห็นว่าในมือของลูกหลานกำลังถือหนังสือนิยายอยู่ เพราะหลายๆ ครั้ง มีข่าวออกมาว่าตัวอักษรในหน้ากระดาษเหล่านั้นบรรยายและพรรณนาถึงฉากเสพสมบ่ มิสมกันอย่างละเอียดทุกเม็ดจนแทบจินตนาการเป็นภาพเคลื่อนไหวตามได้ง่ายๆ ส่งให้ต้องมีการตรวจสอบเนื้อหาหนังสือประเภทนี้อยู่บ่อยๆ กลัวว่าจะแฝงความอนาจารเอาไว้เป็นยาพิษให้เด็กๆ อ่าน โดยที่ผู้ปกครองไม่ทันได้ระวัง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเขียนอย่างโอ๋เอ๋ได้แต่พยักหน้าอย่างเข้าใจและขอให้อย่ามองอย่างเหมารวม เพราะ นิยายที่มีฉากหวือหวาอย่างโจ๋งครึ่มเช่นนั้นมักเป็นนิยายใต้ดิน ส่วนที่เห็นตามร้านหนังสือทั่วๆ ไปผ่านการตรวจสอบ จัดเรตติ้งมาเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะในส่วนที่เธอเขียนอยู่ ยืนยันได้ว่าเป็น “วรรณกรรมสีขาว” ปลอดสารพิษต่อสมองของเยาวชนอย่างแน่นอน

“คิดว่าคนอ่านไม่น่าจะเหมารวมนิยายของเราไปกับนิยายแบบนั้นนะคะ เพราะถ้าคนที่อ่านจริงๆ จะรู้ จะแยกออกค่ะ ถ้าจะเลือกอ่านนิยายของทางเรา จะรู้ว่าถ้าจะมาหาฉากเลิฟซีนที่ดุเดือดคงไม่ได้จากที่นี่แน่ๆ ค่ะ ส่วนนิยายที่เขียนอยู่ก็มีหลายแนวค่ะ แต่ ละแนวก็จะมีลิมิตของฉากเลิฟซีนต่างกัน ถ้าเป็นแนว “Sweet Asian” จะมีเลิฟซีนแค่กอด-จูบ อาจจะบรรยายว่าจูบแบบไหน รู้สึกอะไรอยู่ จูบแบบนี้คือจูบแบบบีบบังคับหรือจูบที่สมยอม (ยิ้ม) ส่วนใหญ่ก็จะมีแค่นี้ค่ะ

เพราะแจ่มใสจะเป็นนิยายสีขาว เขาจะให้เลิฟซีนที่มีลิมิต ถ้าเป็นแนว “แจ่มใส Love Series” บางทีไม่อนุญาตด้วยนะถ้าพระเอก-นางเอกจะไปมีอะไรกัน ไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ ถ้ามีก็ต้องดูด้วยว่าวุฒิภาวะตัวละครเป็นยังไง ถ้ายังอยู่ในวัยเรียน เขาจะไม่อนุญาต ต้องบอกว่าทุกอย่างเข้มมาก เพราะงั้น ถ้าจะบอกว่า “นิยายทำลายเด็ก” เราว่าคำนี้มันเกินไปค่ะ เพราะเราสกรีนกันทุกขั้นตอน นักเขียนก็ระวังแล้วด้วยค่ะตั้งแต่ตอนเขียน

ถ้าเป็นงานเขียนที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็มีเหมือนกันค่ะ แต่จะใช้นามปากกาว่า “ฉัตรฉาย” ประเภท นี้ก็อาจจะมีฉากเลิฟซีน กอดจูบ มีฉากมีอะไรกันได้ แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นภาพนะคะ อันนั้นเขาห้ามไว้เลยเพราะต้องการให้เป็นพื้นที่วรรณกรรมสีขาว ถ้าเปรียบเป็นละครก็เหมือนฉากขึ้นเตียงแล้วกล้องก็แพนหนีไปเลย (หัวเราะ)

ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มเป้าหมายเราคือวัยรุ่น ก็จะถูกถามว่าทำไมต้องมีบทเลิฟซีนทำให้ผู้หญิงเพ้อ อันนี้เรามองว่าคนอ่านที่มีภูมิต้านทาน ต้องแยกแยะได้ในระดับนึงอยู่แล้วค่ะ อย่างตัวเราเอง เราอ่านนิยายที่ แรงๆ มาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่ได้เสียคนนะ เราไม่ได้ไปเที่ยวคบกับผู้ชายไปทั่วนะ เรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องครอบครัว รับผิดชอบพ่อแม่ ทุกอย่างเราทำได้หมด ถือว่านิยายเป็นความบันเทิงอย่างนึงค่ะ ก็ต้องดูว่าเราใส่บทเหล่านี้ลงไปแค่ไหน และอยู่ที่เจตนา อยู่ที่สารที่เราใส่ลงไปด้วย

แล้วก็ต้องดูด้วยว่าคนอ่านกำลังโฟกัสอะไร ถ้าโฟกัสแค่นี้ว่านิยายเรื่องนี้มีบทเลิฟซีน โดยที่ไม่ดูภาพรวมเลยว่าเนื้อหาทั้งหมดมันต้องการจะสื่อสารอะไร ก็ ต้องมาคิดดูกันว่านี่คือความล้มเหลวในการตัดสินของคน...หรือเปล่า อันนี้ไม่ได้จะบอกว่าคนคิดแบบนี้ผิดอย่างเดียวนะคะ แต่กำลังจะบอกว่าถ้าจะตัดสินอะไรทั้งหมด เราต้องมองภาพรวมของมัน ถ้า จะวิจารณ์หนังสือเล่มนึง คุณจะหยิบชอตนี้ขึ้นมาพูดวิจารณ์แค่นั้นไม่ได้ แต่ต้องวิจารณ์ทั้งเล่ม ถ้าจะตัดสินว่าอะไรดี-ไม่ดี เราต้องดูภาพรวม แล้วแยกวิเคราะห์ออกมาว่า เฮ้ย! ในตัวนิยายเล่มนี้มันบอกอะไรบ้าง

ส่วนนิสัยรักการอ่าน เริ่มจากอ่านนิยายได้ค่ะ เราว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ดีนะคะ อย่าง น้อยๆ จากเยาวชนที่ไม่เคยอ่านหนังสือ อาจจะไม่ชอบ ก็จะทำให้เขารักการอ่าน ทำให้เขาเปิดมุมมองว่าการอ่านไม่ได้น่าเบื่อ อ่านแล้วไม่ได้ง่วงนอนอย่างเดียว พออ่านแล้วจะช่วยให้ขยายไปอ่านได้หลายแนวมากขึ้น อย่างแต่ก่อน เราก็เริ่มต้นด้วยการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น มาเป็นนิยาย แล้วก็ไปอ่านนิยายผี-สืบสวน แล้วก็กลายเป็นหนังสือความรู้มากขึ้น การจะอ่านนิยายก็ไม่ได้ผิดอะไร ถ้าเริ่มอ่านจากจุดนี้ เด็กก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ ได้ สักวันเราคงเป็นเมืองหนังสือได้จริงๆ”

และนี่คือเสียงสะท้อนจากนักอ่านรุ่นเยาว์คอนิยาย ที่ให้เหตุผลในการอ่านของตัวเองเอาไว้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 42 ที่กำลังมีขึ้นไปจนถึงวันที่ 7 เม.ย.นี้ “มาซื้อนิยายแล้วก็การ์ตูนค่ะ ชอบบูทแจ่มใส อ่านแล้วมันเพลินดี มันสนุก แล้วก็จะมีของแถมน่ารักๆ ที่เราอยากได้ด้วยค่ะ ก็เลยซื้อ วันนี้ซื้อไปประมาณ 2,000 ค่ะ (ยิ้มเขินๆ) กะซื้อรอบเดียวทั้งปีแล้วก็อ่านไปยาวๆ เลย บางทีก็เล่มละวัน” ผจงเจิม ภูมิเกษมศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2

“มาทุกปีเลยค่ะ ทุกครั้งที่จัด ส่วนใหญ่จะซื้อนิยาย ที่มาก็อยากได้หนังสือที่หายากๆ หาจากในเว็บไม่ได้แล้วเพราะหมดแล้ว ก็ต้องมาหาในงานเอา ส่วน ที่บอกว่าเด็กอ่านหนังสือน้อย อันนี้คงคิดอยู่กับคนค่ะว่าจะมองแบบไหน บางคนชอบอ่านการ์ตูน แต่ผู้ใหญ่ก็อาจจะไม่นับว่าเป็นหนังสือหรือนิยายด้วยบางที แต่สำหรับเรา เพื่อนเรา ก็อ่านเยอะนะคะ อ่านนิยาย บางคนก็อ่านจากนิยายญี่ปุ่นแล้วก็แปลเองด้วยค่ะเพราะชอบมาก ถือว่าทำให้มีแรงบันดาลใจในการฝึกภาษาด้วย” ธัญชนก ทวีสุขสิริ นักอ่านวัย 19 ยิ้มแฉ่งปิดท้าย

เขียนได้เพราะอ่านคน
อายุวัย 19 ปี เขียนมาแล้วกว่า 40 เล่ม และเริ่มเขียนจากวัยเพียง 12-13 ปี จึงถือว่ามีผลงานค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน และที่ทำให้ อาย-กานตริน เขียนได้ไหลลื่นขนาดนี้ เธอบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยชอบ “อ่านคน” “คงเป็นแบบมีประสบการณ์ความรักมาเยอะมั้งคะ (หัวเราะ) เคยคบมาประมาณ 4-5 คนแล้ว ส่วนนึงเป็นเพราะเราก็คิดว่าถ้าเราเปิดรับคนเข้ามาในชีวิต เราก็จะได้ศึกษาผู้ชายด้วยว่าเป็นยังไงบ้าง คนแต่ละคนแสดงออกต่างกันยังไง จะได้เข้าใจนิสัยของตัวละครแต่ละตัวได้มากขึ้น เขียนตัวละครได้กว้างขึ้น

แล้วก็คงเป็นเพราะชอบสังเกตด้วยค่ะ ถ้าเราไม่ทำความรู้จักใครเลย เราจะทำความรู้จัก Stereotype ของคนอยู่แบบเดียว ก็จะทำให้เขียนตัวละครได้ในลักษณะเดิมๆ ตลอด พอเราได้เจอคนเยอะขึ้น เราก็จะได้รับทัศนคติในหลายๆ แบบ แล้วก็ชอบนั่งฟังปัญหาของคนอื่นด้วย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฉันทะเลาะกับแฟนด้วยเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ แฟนฉันให้ของขวัญแบบพิเศษไม่เหมือนใคร เราก็สามารถเอามาปรับใช้กับนิยายของเราได้ บางทีขับรถชน โดนใบสั่ง ยังเอามาเขียนได้เลย” เธอหันไปหัวเราะกับ โอ๋เอ๋ นักเขียนรุ่นพี่ร่วมสำนักพิมพ์ แล้วปล่อยให้อีกคนต่อประเด็น

“เราสามารถเขียนได้จาก 2 แบบค่ะ มีทั้งแบบที่เขียนจากประสบการณ์และเขียนจากที่มโน (จินตนาการ) เอาเอง (ยิ้ม) มีทั้งเรื่องที่เจอกับคนใกล้ตัวเราที่เรารู้สึกร่วมกับเขามากๆ จุด เด่นของเราอย่างนึงคือ เพื่อนชอบมาเล่าเรื่องแฟนให้ฟัง เพราะเราเป็นคนฟังที่ดีและให้คำแนะนำที่ดีได้ เป็นคนที่จะไม่เอาไปพูดต่อ เพราะคนที่มีปัญหา ส่วนใหญ่จะอยากระบายออก มันเก็บไว้คนเดียวไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราจะเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่เพื่อนเอามาเล่าให้ฟัง คือถ้าเป็นเรื่องที่เล่ามาจากเพื่อน เราจะซึมซับได้ละเอียด มีอินเนอร์กับตรงนั้น พอมีเพื่อนเยอะก็ได้ฟังมาเยอะ ก็เอามาเป็นพลอตได้ แล้วก็เจอกับตัวเองบ้าง ทุกอย่างก็เอามาปรับเป็นนิยายได้หมดเลย เพราะนิยายก็คือแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงค่ะ”

 

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ที่มา : http://www.manager.co.th/daily

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ