หอสมุดเมือง ห้องหนังสือ 24 ชั่วโมง : ภารกิจผลักดันแลนด์มาร์กใหม่..ให้กรุงเทพฯ

หอสมุดเมือง ห้องหนังสือ 24 ชั่วโมง

หอสมุดเมือง ห้องหนังสือ 24 ชั่วโมง

 

หลังจากกรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นเมืองหนังสือโลก เมื่อปี 2556 ส่ง ผลให้ต้องดำเนินภารกิจมากมาย เพื่อให้สำเร็จตามพันธสัญญาของการคัดเลือกครั้งนี้ หนึ่งในพันธกิจที่ต้องทำให้ลุล่วงคือ การก่อสร้างหอสมุดเมือง เพื่อให้บริการการอ่านแก่ประชาชนในเมืองหลวง และยังสามารถพัฒนาไปสู่แหล่งท่องเที่ยวประจำกรุงได้อีกด้วย

โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 กรุงเทพมหานคร ได้ทำการเช่าอาคารของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน จำนวน 30 ปี ปีละ 24 ล้านบาท และยังมีค่าปรับปรุงอาคารอีกประมาณ 300 ล้าน เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับกรุงเทพมหานครได้ลงทุนกับอาคารหลังนี้อย่างต่ำ 1,020 ล้านบาท โดยวางแผนที่จะเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง

ระยะเวลา ผ่านไปครึ่งปี ดูเหมือนข่าวคราวนี้จะเงียบหายไปไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่ากรุงเทพมหานครจะชะลอการสร้างแต่อย่างใด เพราะจากการเปิดเผยของ ปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ระบุว่า เวลานี้งานคืบหน้าไปมากแล้ว โดยคาดว่าตัวอาคารจะเสร็จเรียบร้อยในช่วงต้นปี 2560

“เรา จ้างออกแบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดีไซน์ของเราก็จะเน้นความทันสมัย โดยใช้คอนเซ็ปต์ของการก่อสร้างคือ แสงสว่าง แสงแห่งปัญญา เพราะฉะนั้นห้องสมุดที่นี่ก็จะใช้แสงธรรมชาติเข้ามานำเสนอให้เห็นถึงห้อง สมุดมิติใหม่ โดยการก่อสร้างนั้นก็ยังเป็นการรีโนเวทอาคารเดิมอยู่ดี ซึ่งชั้น 1 เราออกแบบให้เป็นโถง เหมือนล็อบบี้ เพื่อจะเป็นการต้อนรับคนเข้าห้องสมุด และยังเป็นตัวให้ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ของห้องสมุดนี้

“ส่วนชั้นที่ 2 ก็ จะเป็นวรรณกรรมต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้ทำลำพัง แต่เราทำการพบปะนักเขียน ซึ่งเราจัดประชุมไปแล้ว โดยท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน แล้วเชิญนักเขียนชั้นนำของประเทศไทย ให้มาช่วยกันระดมความคิดเห็นสำหรับการทำให้หอสมุดตรงนี้มีความทันสมัย รวมวรรณกรรมจากทั่วโลก และของประเทศไทย

“ส่วนชั้น 3 ก็ จะเป็นชั้นที่รวบรวมความหลากหลายของหนังสือ หนังสือหายาก หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หนังสือที่มาจากสถานทูตทุกแห่งในประเทศไทย โดยเราทำหนังสือไปถึงสถานทูตในการให้ส่งหนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ กรุงเทพมหานครทั้งหมดมาไว้ที่ชั้นนี้ และชั้น 3 ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุหนังสือเท่านั้น แต่ยังทำเป็น Hall of Fame ซึ่งจะรวบรวมประวัติของนักเขียนทั้งหมดในประเทศไทย โดยเราแจ้งไปในที่ประชุมแล้วว่าให้มีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ เขียนหนังสือตั้งแต่อายุเท่าใด หนังสือที่เขียนแต่ละห้วงนั้นมีแรงบันดาลใจอย่างไร มีแนวคิดที่จะเขียนหนังสือแต่ละเล่มอย่างไร รวมทั้งให้ส่งผลงานของแต่ละท่านมาให้เรารวบรวม เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นเรื่องราวทั้งหมดของนักเขียนทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ยังขอกับท่านผู้ว่าฯ ให้ที่ตรงนี้เป็นที่รวมของสถาบันนักเขียน ซึ่งท่านก็จะแบ่งพื้นที่ตรงนี้ให้ด้วย”

เพราะ ฉะนั้น หอสมุดแห่งนี้จึงไม่ใช่ในเรื่องปริมาณหนังสือเมื่อเทียบกับคุณภาพที่จะใส่ หนังสือเข้าไป เพราะตามความคิดของกรุงเทพมหานคร ประสงค์ให้หอสมุดแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ดังนั้นจึงมีการรับฟังความคิดเห็นของนักเขียนก่อน และโดยส่วนตัวแล้วก็อยากให้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่ง ประเทศไทยเปิดเวทีเพื่อพิจารณาว่าการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดนั้นเป็น อย่างไร? เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของหอสมุด เพราะฉะนั้นช่วงระยะเวลาการปรับปรุงสถานที่ประมาณ 1 ปี ก็จะเป็นช่วงของการรับฟังเพื่อให้เนื้อหาของหอสมุดแห่งนี้มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ

ทว่าจาก คำอธิบายส่วนใหญ่จะพบว่า หอสมุดแห่งนี้จะเน้นเรื่องงานวรรณกรรมมากเป็นพิเศษ ซึ่งตัวแทนจากกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งมองว่าที่ผ่านมาวรรณกรรมยังขาดการรวบรวมให้เป็นระบบ เพราะฉะนั้นโอกาสที่คนจะเข้ามาค้นคว้าในหอสมุดย่อมทำได้ ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของสถานที่ เพราะปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีห้องสมุดอยู่ 37 แห่ง และแต่ละแห่งก็มีจุดเด่นต่างกันไป เช่น ห้องสมุดการ์ตูนอยู่ที่ห้วยขวาง ห้องสมุดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและส่งเสริมอาชีพอยู่ที่คลองสามวา และห้องสมุดที่เกี่ยวกับนิทานชาดกอยู่ที่ภาษีเจริญ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นทางเลือกของการทำสถานที่ให้เป็นเฉพาะทาง กอปรกับวรรณกรรมเองก็มีบทบาทในสังคมอยู่มาก

“พื้นที่ 6,000 ตารางเมตรไม่ถือว่ามากสำหรับ 3 ชั้น อาจจะบรรจุหนังสือไว้ไม่ได้หมด เราจึงพยายามนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามา เพื่อจะได้เชื่อมโยง หรืออาจจะมีอีบุ๊กบ้าง คือท่านผู้ว่าฯ มีความคิดว่าอาจจะต้องมีความเชื่อมโยงกับหอสมุดในเมืองที่มีความสัมพันธ์ ร่วมกัน เพราะเรามีการลงนามกับหอสมุดต่างๆ ทั่วโลกประมาณ 15-16 แห่ง เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามเชื่อมให้เป็น E- Library ระหว่างเมืองต่างๆ ของโลก ซึ่งผู้ว่าฯ กำลังให้กองการต่างประเทศศึกษาอยู่”

สำหรับประเด็นเรื่องการเปิดหอสมุดตลอด 24 ชั่วโมง ผอ.ปราณี อธิบายว่าคงต้องวางแผนบริหารจัดการต่อไป เพราะถึงเวลาจริงอาจจะเปิดได้ไม่ครบทุกชั้น เวลานี้กำลังอยู่ในกระบวนการศึกษากันอยู่ พร้อมกับมีการไปดูงานในหอสมุดที่เปิดทั้ง 24 ชั่วโมง มีวิธีบริหารอย่างไร ที่สำคัญการเลือกพื้นที่ตรงนี้ก็มีความเหมาะสมที่จะเปิดบริการลักษณะนี้ เพราะเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับย่านสำคัญมากมาย เช่น บางลำพู ข้าวสาร ซึ่งมีคนต่างประเทศเข้ามาอาศัยหรือท่องเที่ยวอยู่ และในอนาคตก็จะมีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้มเปิดให้บริการ ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้บริการพอสมควร

“ปัญหา ที่ท้าทายเราที่สุดเวลานี้ คือที่นี่เป็นอาคารเก่า และการปรับปรุงก็ต้องทำให้เป็นอารยสถาปัตย์ เพื่อรองรับคนทุกประเภท เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างเวลานี้ก็กำลังดูว่าจะทำลิฟต์ขึ้นอย่างไรจึงจะเหมาะสม อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนกังวล คือจะไม่มีที่จอดรถ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับตรงนี้ แต่ถ้ามองถนนราชดำเนินผ่านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ องค์กรเหล่านี้ก็มีคนมาใช้บริการกันเยอะมาก และก็ยังมากันได้ ดังนั้นหอสมุดตรงนี้ก็น่าจะเข้าถึงได้ โดยเฉพาะเมื่อมีบริการขนส่งมวลชนที่ครบถ้วน”

อีกหนึ่ง ที่แผนที่ถูกวางไว้ก็คือ การเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็จะมีการทำระบบสมาชิกควบคู่ไปด้วย โดยผู้ที่สมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น สามารถยืม-คืนหนังสือ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยอัตราค่าสมัครสมาชิกที่วางไว้อยู่ที่ปีละ 25 บาทสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอยู่ที่ 5 และ 15 บาท ซึ่งเหตุผลที่กำหนดราคาเช่นนี้ เพราะกรุงเทพมหานครต้องการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงได้มากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครที่กำหนดระบุไว้ว่าต้องเก็บค่า บริการ

“ดิฉัน เชื่อว่าไม่มีองค์กรไหนที่ไม่มีปัญหา สำคัญแต่ว่าเรามีเป้าหมายอย่างไร และอีกอย่างหนึ่งคือสังคมไทยต้องเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน เป็นสังคมที่สนับสนุนให้กำลังใจ เพราะหลายครั้งที่เรามักจะหยิบจุดอ่อนของเรื่องราวขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์แทน ที่จะหาทางช่วยกัน ดังนั้น สังคมไทยต้องพัฒนาสิ่งนี้ให้เป็นจุดแข็ง เพื่อจะสร้างพลังต่างๆ และสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง แน่นอนการทำงานต้องมีปัญหาแต่ถ้าทุกคนช่วยกันเสนอความคิดเห็น เช่น เปิด 24 ชั่วโมง แล้วจะมีปัญหาอะไร แล้วจะแก้ไขอย่างไร ต้องช่วยกันระดมความเห็น หรือเปิดฟรีแล้วไม่มูลค่า แล้วกรุงเทพมหานครต้องดูแลทั้งหมดหรือไม่ หรือสมาคมต่างๆ อาจจะเข้ามามีส่วนร่วม หรือมีหนังสือของสำนักพิมพ์ดีๆ ก็พร้อมจะใส่ในห้องสมุดนี้ เราเชื่อว่าการมีพลังบวกร่วมกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะนำไปสู่มิติของการเป็นห้องสมุดของประชาชนอย่างแท้ จริง” ผอ.ปราณี สรุปก้าวย่างสำคัญของกรุงเทพมหานครสู่เมืองหนังสือโลกสืบไป

 

ขอบคุณที่มา : http://goo.gl/Nx2Nv1

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ