น้ำตา จะพา คำมา : โดย ธรรมรัฐ ผดุงสิทธิธรรม

น้ำตา จะพา คำมา

          น้ำตาคือภาพแสดงของอารมณ์มนุษย์ที่เอ่อล้นออกมา เป็นสิ่งที่แทนได้ทั้งความปิติสุข หรือ ความโศกเศร้า และยิ่งจมดิ่งลงไปอีกเมื่อตกอยู่ในห้วงแห่งความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ทำให้ในบางขณะ ‘น้ำตา’ ก็จะไหลหลั่งรินแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว ณ จุดสูงสุดแห่งอารมณ์ ซึ่งอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2557 ได้แสดงให้เราคนอ่านเห็นผ่านบทกวีชื่อ “น้ำตาสร้างบทกวี” ผ่านแง่มุมของกวีและน้ำตาที่เกี่ยวพันกับอารมณ์และความรู้สึกลุ่มลึกของผลงานที่กวีเป็นผู้เขียน เพราะน้ำตานั้นได้กลายเป็นเครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่ทรงประสิทธิภาพ และมีคุณค่าอย่างมาก

          น้ำตาสร้างบทกวีเป็นการเล่าเรื่องแบบของเรื่องสั้น ผ่านลักษณะของการใช้ร้อยกรอง โดยมีตัวละครเป็นกวีที่ต้องการเขียนผลงานของตนเองขึ้นมา 3 บท แต่ไม่สามารถเขียนออกมาได้ ซึ่งกลายเป็นปมปัญหาของเรื่อง

 

    “ตั้งใจจะเขียนบทกวีสักสามบท    หยิบปากกาจ้อง ๆ จด ๆ จนหมดฝัน

จิ้มแล้วค้างค้างแล้วจิ้มยิ้มทั้งวัน        บทกวีไม่ผ่ายผันไม่หันมา...”

 

และวิธีการแก้ปัญหาของตัวละครก็มีอย่างหลากหลาย มีทั้งการเอาตัวเองไปสัมผัสกับความสุข หรือการเปลี่ยนอิริยาบถและสถานที่เพื่อหาแรงบันดาลใจ แต่ก็ยังไม่สามารถเขียนผลงานออกมาได้

 

    “...เที่ยวเดินดูดอกไม้ในทุ่งกว้าง    ทุกก้าวย่างยิ้มระวังหัวร่อร่า

เก็บความสุขเขียนบทกวีร่ายลีลา       ได้สามคำก็อ่อนล้า คิด คิด คิด...”

 

กระทั่งถึงจุดสำคัญที่ตัวละครนั้นเอาใจไปรับเอาความเศร้า หลังจากเข้าบ้านแล้วพบกับแม่ที่กำลังร้องไห้ และส่งผลให้กวีนั้นเขียนผลงานผ่านความเศร้าที่กลั่นออกมาจากความคิดนับล้านคำ

 

    “...เสียงร่ำไห้ใครหนอผะแผ่วนิด   ชะโงกหน้าหาทิศที่เสียงมี

เห็นน้ำใสหยดหล่นลงบนตัก            แม่สะอื้นกระอึกกระอักน้ำตาปรี่

ความทุกข์ล้นท้นทับเทวษทวี           พลันวลีก็แล่นพล่านสารพันคำ...”

 

          เพียงเพราะเห็นน้ำตาของแม่ จึงก่อเกิดเป็นความเจ็บปวด และความเจ็บปวดนั้นกลายเป็นแรงขับเคลื่อนชั้นเลิศ และกวีเองก็เป็นผู้ใช้แรงดังกล่าว ผลักเอาความรู้สึกของตนเองให้ไหลไปกับสายน้ำตา ที่กลั่นกรองผ่านความคิดและเขียนออกมาเป็นท่วงทำนอง มิใช่เพียงว่านึกจะเขียนก็เขียน แต่ต้องใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือในการนำพาความคิดและบทกลอนให้ไหลไป

 

“...แม่ร่ำไห้ฉันร่ำไห้ในอกร่ำ        ตั้งแต่เช้าจรดค่ำโลกดับสูญ

แผ่นดินแม่โศกช้ำระกำพูน              บทกวีปานปูนทะเลริน...”

 

          ด้วยความเศร้าที่นำพา กลั่นความคิดสติปัญญาออกมาเป็นกลอน ทำให้เห็นว่ากวีเข้าถึงความเป็นจริงที่ว่ามนุษย์นั้นมีอารมณ์เศร้าอยู่กับตัวและสามารถส่งผ่านกันได้ และอารมณ์ที่ว่าก็เกิดไปในทำนองเดียวกัน คือ ความชอกช้ำจากการโดนเหยียดหยามและความทุกข์ทรมาน และเมื่อเข้าถึงความเศร้าที่ว่าสิ่งที่ตามมาย่อมเป็นน้ำตา ที่เป็นกลไกสำคัญในการระบายและบรรเทาความเจ็บช้ำนั้น พร้อมกับความคิดที่พรั่งพรูออกมา เพื่อใช้ขบคิดหาวิธีขับไล่ความเศร้าให้พ้นไป

 

    “...น้ำตาแม่เรียกคำเป็นล้านล้าน            ความทุกข์ท้อทรมานความตกต่ำ

การหยามเย้ยความเป็นมนุษย์ความอยุติธรรม   ล้วนตอกย้ำคำกวีทวีคูณ...”

 

และการขับไล่ความเศร้าออกมาในรูปแบบของบทกวี ดังความว่า

    “...ไหลมาเทมาเถิดคำเอ๋ย          มาล้างทุกข์ปลอบชดเชยด้วยงานศิลป์

ปลอบคนเศร้าเร้าคนหวังทั้งแผ่นดิน    ปลุกดวงจินต์ให้ตื่นรู้สู่ความจริง...”

 

          ความคิดและน้ำตาที่มาพร้อมกันนี้ จึงกลายเป็นจุดแข็งของกวีที่ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งสังเกตได้จากเนื้อเรื่องว่ามีการกล่าวถึงความจริงที่เจ็บปวดที่คนในทุก ๆ วันนี้ต้องประสบพบเจอ เช่น ความทุกข์ ความท้อ ความทรมาน ความตกต่ำ การถูกเหยียดหยามหรือความไม่เป็นธรรม ที่นำพาความเศร้ามาสู่จิตใจ และได้นักกวีนี้เองที่เป็นผู้หยิบเรื่องเศร้าดังกล่าวมารังสรรค์ และถ่ายทอดจนเป็นผลงานที่เต็มไปด้วยสัมผัสแห่งความเศร้านี้ และเขียนมันออกมาด้วยความเวทนา – ทั้งน้ำตา

 


"น้ำตา จะพา คำมา"
บทวิจารณ์โดย ธรรมรัฐ ผดุงสิทธิธรรม
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 5

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ