บ้านเก่า : “บ้านเก่า” เป็นผลงานรวมเล่มกวีนิพนธ์ของ โชคชัย บัณฑิต

บ้านเก่า

 

             เมื่อ 16 ปีที่แล้ว หนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มเล็กๆที่สร้างสรรค์โดยกวีหนุ่มผู้หนึ่ง ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการวรรณกรรมด้วยการทะยานคว้ารางวัลซีไรต์มาครองได้อย่างพลิกความคาดหมาย จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ใครหลายคนต้องหันมองกวีหนุ่มจากเมืองนครสวรรค์ชื่อ โชคชัย บัณฑิต’ และหนังสือเล่มเล็กของเขาด้วยความอัศจรรย์ใจ

             

                “บ้านเก่า” เป็นผลงานรวมเล่มกวีนิพนธ์ลำดับที่ 4 ของโชคชัย บัณฑิต ในเล่มประกอบด้วยบทกวี 41 เรื่อง สร้างสรรค์โดยใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนเป็นส่วนใหญ่

 

                แก่นสารและความคิดของโชคชัย บัณฑิต’ ที่ต้องการสื่อมายังผู้อ่าน คือ ภาพของสังคมเกษตรกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสบริโภคนิยมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อันส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม แม้กระทั่งธรรมชาติ โดยกวีได้ใช้วิธีการสังเกตและเก็บ“ภาพเล็ก” ที่พบเห็นได้ง่ายทั่วไปในสังคม นำมากรองด้วยญาณทัศน์กวีอันพิเศษ ก่อนสื่อสารออกมาอย่างคมคายและน่าสนใจ

 

                กวีเปิดเรื่องด้วยบทกวีที่ชื่อว่า “ดิน น้ำ ลม ไฟ : ความเป็นไปในชีวิต” โดยผูกโยงเหตุการณ์ที่กล่าวไว้ในวรรณคดีโบราณเรื่อง “ลิลิตโองการแช่งน้ำ” เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ โดยกวีได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงวิปริตของธาตุทั้งสี่ ไล่ลำดับตั้งแต่ “ดิน”  “น้ำ”  “ลม” “ไฟ” และขมวดปิดด้วยเรื่อง “ไปเป็นความเป็นไป” ที่สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงของธาตุอันมีเหตุปัจจัยมาจากเความเจริญทางวัตถุดังที่ว่ามานั้น คล้ายเร่งให้วันสิ้นโลกมาถึงไวขึ้น

 

                อันธาตุหลักทั้งสี่นั้น เชื่อกันว่าประกอบอยู่ในทุกสิ่ง เมื่อธาตุทั้งสี่อันเป็นพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมกระทบถึงทุกสรรพสิ่งในโลกอย่างแน่นอน เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่กวีเลือกบทกวีเรื่องนี้ที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของธาตุทั้งสี่มาเป็นบทเปิดเรื่องนั้น คล้ายกับชี้เป็นนัยๆว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นต่อไปในบทกวีอีก 40 เรื่องที่เหลือนั่นเอง

 

                เรื่องของความเปลี่ยนแปลงที่กวีพยายามสื่อสารนั้น คือการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลัก เปลี่ยนสู่สังคมสมัยใหม่ที่สมาทานลัทธิบริโภคนิยมเต็มรูปแบบ ผู้คนต้องการความสะดวกสบาย เงินคือสิ่งที่ต้องมาก่อน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างตัวตนในสังคมใหม่ เห็นได้ชัดจากเรื่อง “นครเมฆา” ที่เปรียบเทียบไว้ว่า ทรัพย์สินคือสิ่งยึดเหนี่ยวหลักในยุคสมัยนี้

                                               

วาณิชธนกรคือสักกะ                         ทรัพย์คือสรณะแห่งยุคสมัย

ทวยเทพเที่ยวเหาะด้วยเหมาะใจ     บันไดช่วยเลื่อนบ้างเคลื่อนลิฟท์

                                                                                                                                                      (จาก นครเมฆา หน้า 45)

 

                ในเรื่อง “เหลื่อม” กวีได้สะท้อนบรรยากาศในสังคมบริโภคนิยมได้อย่างยอดเยี่ยม โดยบรรยายถึงพรานเฒ่า “ตาเพิ่ม” กำลังซุ่มอยู่บนห้างเพื่อจะล่าสัตว์ป่านำเขาหนังไปขาย หวังกำไรมาเจือจุนชีวิต ชั่วขณะหนึ่งพรานเฒ่านึกถึงเรื่องราวของ “ไอ้ทิด” ที่ขโมยกระดึงทองเหลืองของวัดมาขาย ก่อนถูก “เฒ่าชิด”เจ้าของร้านขายของเก่าปฏิเสธไม่รับซื้อ หากพิจารณาจากปีที่บทกวีเรื่องนี้ตีพิมพ์เผยแพร่คือปี 2538 นับเป็นเวลา 3 ปีหลังจากภาครัฐออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองป่า พ.ศ.2535  ฉะนั้น การกระทำของ “ตาเพิ่ม” ในเรื่องนี้ น่าจะเดาได้ว่าเป็นการ “ลักลอบ” หรือนัยหนึ่งคือการ “ขโมยของป่า” ออกไปขาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมเช่นเดียวกับไอ้ทิดนั่นเอง ตาเพิ่มคงมีบางขณะที่นึกหวั่นใจเกรงว่า “สินค้า” ของตนจะถูกปฏิเสธเช่นเดียวกับไอ้ทิด จึงแวบคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดระยะเวลาที่ซุ่มอยู่บนห้าง แต่สุดท้ายตาเพิ่มได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ในสังคมบริโภคนิยมทุกสิ่งทุกอย่างขายได้ ยิ่งเป็นของป่าหายาก ย่อมมีคนบางพวกที่พร้อมจะซื้อโดยมองข้ามเรื่องกฎหมายและศีลธรรมอย่างที่เราทราบกัน หลังจากชั่งใจอยู่นานตาเพิ่มจึงตัดสินใจ   

 

เขาตัดสินใจแสนง่ายนัก                                    มือควักใบแดงไม่แย้งจิต

 พรานเพิ่มเหนี่ยวไกหลังใจคิด                          เปรี้ยง! ปลิดชีพป่าถลาล้ม 

                                                                                                                                                                                   (จาก เหลื่อม หน้า 42 )

 

          นอกจากสะท้อนบรรยากาศสังคมดังกล่าวแล้ว เรื่อง “เหลื่อม” ยังแสดงให้เห็นว่า การฉกฉวยประโยชน์จากธรรมชาติคือหนทางหนึ่งในการได้มาซึ่งเงินตรามหาศาล เป็นเหตุให้ธรรมชาติถูกรุกรานทำลายอย่างมาก สนองทางเหล่าข้าทาสบริโภคนิยมทั้งหลาย  มีบทกวีหลายเรื่องที่ยืนยันความคิดตรงส่วนนี้ ดังในเรื่อง   “ในมหานคร”   ในยุคที่เงินเป็นใหญ่ สัตว์ใหญ่อย่างช้างต้องออกเดินคำนับผู้คนในเมืองหลวง ฝืนสัญชาตญาณเพื่อเจ้านายผู้ต้องการกอปรเก็บเงินตรา ในเรื่อง “นกปล่อย” นกถูกมนุษย์นำมาเป็นเครื่องมือในการหากำไรจากผู้ที่ต้องการ เสาะสวรรค์ว่างว่าง ณ หว่างฟ้า ซึ่งทั้งคนขายและคนปล่อยล้วนมีเป้าหมายความสุขเฉพาะตนตั้งไว้ ที่ในเรื่องกวีเปรียบว่าคือ สวรรค์ ของใครของมันนั่นเอง เพราะนกคือเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้คนขายได้มาซึ่งเงินตรา นกน้อยทั้งหลายจึงต้องประสบชะตากรรม ราวถูกฆ่าขังนรก อยู่ทุกวี่ทุกวัน  ในเรื่อง “ปีกไม้-ลายแทง” ลายวงปีของต้นไม้ที่เคยเป็นตัวบ่งบอกความแปรผันของฤดูกาล ในยุคปัจจุบันถูกทำให้อยู่ในรูปสินค้ามีค่าเพียงเพิ่มความงามเท่านั้น  ไม่สามารถบอกนัยยะของธรรมชาติได้อีก นับเป็นการลดทอนคุณค่าของธรรมชาติเพื่อสร้างความงดงามจอมปลอม สนองความต้องการทางด้านวัตถุอย่างเห็นได้ชัด

 

                นอกจากนี้กวียังพยายามเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่มนุษย์พยายามเข้าควบคุมธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนว่ามนุษย์มิได้มีท่าทีเคารพธรรมชาติเช่นแต่ก่อน ดังที่ปรากฏในเรื่อง “เคยมีลานดินหน้าบ้านเขา” เขา ในเรื่องโบกปูนปิดทับลานดิน ลิดโค่นกิ่งไหม้เรื้อรก แล้วนำไม้กระถางมาปลูกแทน นัยว่าใช้ความเจริญทางด้านวัตถุเข้ากีดกันวิถีธรรมชาติ นอกจากนี้ในเรื่อง “ห้องน้ำแห่งหนึ่ง”  กวียังได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับประตูบาธติค ว่า ดูดูแล้วขัดกฎไตรลักษณ์ เนื่องด้วยวัสดุสังเคราะห์นั้นมีความคงทนกว่าวัสดุจากธรรมชาติ ยืดระยะเวลาการผุกร่อนไปได้ยาวไกล หากดูเนื้อหาของบทนี้อย่างละเอียดจะพบว่า การฝืนธรรมชาติของมนุษย์ เป็นเหตุให้วิถีชีวิตเก่าๆบางประการถูกละเลย

 

               อย่างไรก็ตาม ในความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนั้น กวีได้ย้ำเตือนแก่ผู้อ่านว่าในสังคมยุคใหม่ที่เชี่ยวกรากด้วยกระแสบริโภคนิยมและเทคโนโลยี สิ่งดีๆที่ช่วยให้จิตใจมนุษย์งอกงามยังมีอยู่ เพียงแต่ได้กระจายตัวซุกซ่อนอยู่ตามซอกหลืบเมืองสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ความรัก (“สีสันแห่งร้านเธอ” , “เจ้าดอกนุ่นแตกฝักลมยักย้าย”) น้ำใจไมตรี (“มิตรภาพในตรอกซอย” , “ชุ่มใจ” , “วังแม่ลูกอ่อน”)  ความหวัง (“รออรุณ” , “ทาง” , “ชานเรือน”) สิ่งเหล่านี้มิได้สูญหายไป แม้อาจพบได้ยากขึ้นบ้าง แต่อย่างไรก็ยังมีอยู่แน่นอน เปรียบดัง “น้ำ” ที่กวีได้กล่าวไว้ในเรื่อง “ครุ่นคำนึง” ว่า  น้ำอาจเหือดแห้งแหล่งใด  อาจเปลี่ยนรูปไป ก็ใช่น้ำแล้งแห้งฟ้า    (จาก ครุ่นคำนึง หน้า 20)

 

                นอกเหนือจากแก่นสารความคิดแล้ว ชั้นเชิงวรรณศิลป์ของโชคชัย บัณฑิต’ ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน มีการเล่นสัมผัสแพรวพราวอยู่หลายบท สร้างจังหวะจะโคนและช่วยให้การอ่านเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน เช่น

 

      คนปล่อยค่อยป่ายสวรรค์เปิด             คนขายนก นั้นเพริดเสียงเงินพร่ำ

 คนปล่อยคอยเหนียวสวรรค์นำ            คนขายเคร่งคล่ำน้ำเงินคราง

                                                                                                                                                                              (จาก นกปล่อย หน้า 104 )

แสงเช้าเกลาถนนทุกหนแห่ง           เรือนแล่งแสงเช้าเขียนเงาคั่น

                                                                                                                                                                              (จาก กังวานเวลา หน้า 113)

 

               ตลอดทั้งเล่มมีการใช้กวีโวหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน สัญลักษณ์ ฯลฯ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในงานกวีนิพนธ์นับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ก่อให้เกิดจินตภาพและให้รสกระทบใจผู้อ่าน เช่น 

 

 ใหญ่เทียบภูผาท่าดุดัน                        เรี่ยวแรงแข็งขยันเชื่อควาญตน

                                                                                                                                                                               (จาก คชสาร หน้า 37)

วาณิชธนกรคือสักกะ                         ทรัพย์คือสรณะแห่งยุคสมัย

                                                                                                                          (จาก นครเมฆา หน้า 45)

หลากโค้งโยงแขนโอบแผ่นหล้า      แตกแควแซ่ซ่าน้ำบ่าไหล

                                                                                                                                                            (จาก ดิน น้ำ ลม ไฟ : ความเป็นไปในชีวิต หน้า 16)

สู่ปิดกิจการกี่นานฟื้น                         เช้าชื่นหมื่นเช้ายังเฝ้ารอ

                                                                                                                       (จาก รออรุณ หน้า 83)

 

        ลักษณะเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งในด้านการใช้ภาษาของโชคชัย บัณฑิต’ คือการเลือกใช้คำกริยากับคำนามที่ไม่เข้าคู่กัน แต่กลับกลายเป็นว่าให้ภาพพจน์ที่ชัดเจนขึ้น เช่น

 

มองมุมแมงมุมขยุ้มคา                       ก่อนไล่สายตาทิ่มมามอง  

                                                                                                                                  (จาก มองมุมแมงมุม หน้า 65 )

ลูกงัดบัตรจิ้มเครื่องจิ้มพลาง            ปริ่มสตางค์เต็มตู้แม่รู้เรอะ

                                                                                                                                                                                (จาก ต่าง หน้า 93 )

 

                จากตัวอย่างแรกจะเห็นคำว่า “ทิ่ม” ซึ่งโดยปกติเราไม่ใช้คู่กับคำว่า “สายตา” คำที่เราคุ้นเคยควรจะเป็น “เพ่ง” มากกว่า แต่กวีเลือกใช้คำว่า “ทิ่ม” ทั้งนี้เพื่อขับเน้นภาพ “เหนือจริง” ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อเรื่องในเรื่องนั้น นับว่าเลือกใช้ได้เหมาะแล้ว  เช่นเดียวกับคำว่า “งัด”  ที่ให้ภาพว่องไวและรุนแรงกว่าคำว่า “หยิบ” ซึ่งควรจะเข้าคู่กับ “บัตร” เป็นไหนๆ เห็นได้ว่าคำกริยาที่โชคชัยเลือกใช้ไม่ได้ทำให้เสียความ ซ้ำยังช่วยสร้างเสน่ห์ให้ตัวงานผ่านตัวละครที่ออกอาการ “เกินจริง” เหล่านี้อีกด้วย

 

                โดยสรุป ในแง่ของเนื้อหา บทกวีทุกเรื่องในหนังสือกวีนิพนธ์ “บ้านเก่า” เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆที่ปะติดปะต่อภาพ “ความเปลี่ยนแปลง” ของสังคม  อาจจะกล่าวได้ว่าบทกวี 41 เรื่องในเล่มแม้จะแสดงภาพความเปลี่ยนแปลงในระดับ “ภาพเล็ก” ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่ในรายละเอียดปลีกย่อย แต่เมื่อพิจารณาบทกวีทั้งหมดด้วยดวงตาพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็น “ภาพใหญ่” ปรากฏขึ้นอย่างแจ่มชัดทีเดียว ในแง่ของวรรณศิลป์ในรวมกวีนิพนธ์บ้านเก่านั้น ถือได้ว่ามีความถึงพร้อมในระดับหนึ่ง แม้ในภาพรวม รวมกวีนิพนธ์บ้านเก่าเล่มนี้จะยังด้อยในเรื่องการใช้ภาษากวีที่มีอำนาจสร้างความรู้สึกสะเทือนใจอยู่บ้าง  แต่ก็มีหลายบทที่พบว่ามีการเล่นสัมผัสอย่างแพรวพราว ใช้กวีโวหารได้อย่างเห็นภาพ ซึ่งลักษณะเหล่านี้คือการสืบทอดความงดงามตามขนบวรรณคดีไทยในอดีตเช่นกัน นอกจากนี้ขอชื่นชมความกล้าหาญในการเลือกใช้ถ้อยคำของโชคชัย บัณฑิต’ ที่เลือกเฟ้นถ้อยคำได้แปลกหู แปลกตา แปลกความหมาย แต่ทว่างดงามและมีเสน่ห์ นับเป็นการสร้างลีลาเฉพาะตัวที่ชวนอ่าน ชวนติดตามอยู่ไม่น้อย

 

                16 ปีผ่านไป กวีหนุ่มในวันนั้นกลายเป็นกวีรุ่นใหญ่ในวันนี้ ที่สำคัญเขายังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ถึงอย่างไรหนังสือกวีนิพนธ์เล่มเล็กที่คุณค่าเกินขนาดเล่มของเขา ก็ยังเป็นที่พูดถึงอยู่มิขาด มากกว่าผลงานเล่มไหนๆ แม้เวลาจะผ่านมายาวนานแล้วก็ตาม สิ่งเหล่านี้ล้วนพิสูจน์ว่า รวมกวีนิพนธ์บ้านเก่าคือผลงานที่ทรงคุณค่าแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริง

 

บทวิจารณ์โดย นายนนทพัทธ์ หิรัญเรือง

Writer

The Reader by Praphansarn