ชมัยภร แสงกระจ่าง ร่ายคำประกาศเกียรติ ชมนาดเกียรติยศ แด่ อัญชลี วิวัธนชัย : หรือ "อัญชัน"

ชมัยภร แสงกระจ่าง ร่ายคำประกาศเกียรติ ชมนาดเกียรติยศ แด่ อัญชลี วิวัธนชัย
     ชมัยภร แสงกระจ่าง ร่ายคำประกาศเกียรติ “ชมนาดเกียรติยศ” แด่ อัญชลี วิวัธนชัย หรือ “อัญชัน”

 
     “รางวัลชมนาด” โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มุ่งสนับสนุนให้ “สตรี” ผลิตวรรณกรรมที่มีคุณค่า มีใจรักด้านงานเขียน พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษร สะท้อนสังคม และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไป เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และมองเห็นอีกหลายแง่มุมที่ไม่ธรรมดา

     ในวาระปีที่ ๑๑  ของรางวัล  สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ตระหนักถึงความแข็งแกร่ง และความยั่งยืนของรางวัลวรรณกรรมที่มุ่งหมายให้ความสำคัญแก่สตรี และในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะได้สำรวจไปในเส้นทางวรรณกรรมที่สตรีเป็นผู้สร้างสรรค์  ในท่ามกลางความเรืองรองนี้เอง สำนักพิมพ์ได้เห็นประกายระยิบระยับของสตรีผู้หนึ่งซึ่งสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อผู้หญิงมาโดยตลอดเส้นทางของเธอ นับแต่ผลงานชุดแรก ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของมวลมนุษย์อันน่าตื่นตะลึง ในเล่มที่ชื่อ อัญมณีแห่งชีวิต(พ.ศ.๒๕๓๓) รวมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๓๓  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมิติอันหลากหลายแห่งความไม่พอดีของชีวิตมนุษย์ รวมทั้งผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเราเรียกเธอจนทุกวันนี้ว่า ยายหม้อที่ขูดไม่ออก หลังจากนั้นเธอก็แสดงพลังของสตรีนักประพันธ์ออกมาอีกอย่างไม่หยุดยั้ง ในรวมเรื่องสั้นชุด ผู้แลเห็นลม (พ.ศ.๒๕๓๙) อันแสดงถึงฝีมือวรรณศิลป์อันไม่มีวันสิ้นสุด ผ่านจินตนาการต่อความเป็นมนุษย์อันสุดลึกของเธอ  ซึ่งแม้เธอเองก็ยังบอกไว้ว่า “หวังว่าผู้อ่านจะแลเห็นตัวตนอันสุดลึกของมัน” และแน่นอน  แค่ดวงตาที่มองไม่เห็นของผู้มองไม่เห็นแต่กลับเห็นลมเรื่องเดียว ก็ทำหัวใจสะท้านจากเบื้องลึกแล้ว ตามมาด้วย ไม้เป็นดินหินเป็นทราย ซึ่งเรียกน้ำตาพรูพรายท่วมฟ้า

         แต่เธอก็ไม่หยุดมือไว้เพียงนั้น  จากนั้นเธอถ่ายทอดเป็นชุดบทกวีชื่อ ลายสือ(พ.ศ.๒๕๓๘) ที่มีสามภาค คือในโลก ในหล้า และในเรา บทกวีที่หลากหลายแต่รวมความออกมาในบทสรุปว่า

                                    เราสร้างรสเพื่อรอใครเข้าใจรส

                                    เราแลกหมดเพียงให้มีใครเห็น

                                    ให้เขาถึงทุกสัมผัสสิ่งลับเร้น

                                    ที่ริกเต้นลึกถึงใต้หัวใจเรา
 

         เหมือนว่าจะหมดคำทุกหยดไปจากหัวใจแล้ว เพราะเธอหยุดเงียบไปเกือบสิบปี  พอถึง พ.ศ. ๒๕๔๕ และ พ.ศ. ๒๕๔๖ เธอก็ลงสู่รายละเอียดแห่งนวนิยายเรื่องใหม่อีก ๒ เรื่อง  เรื่องแรกชื่อ นางเอก ซึ่งว่าด้วยเรื่องของหญิงรักหญิง  นางเอกนาม กัญญาได้ทำให้นางเอกมิใช่นางเอกตามขนบเดิมอีกต่อไป  ตามมาด้วยนวนิยายเรื่องที่สองในชื่อ มุมปากโลก เรื่องที่นักเขียนในเมืองไทยไม่กล้าเขียน แต่เธอเขียน เพราะนี่คือเรื่องของ “เซ็กส์” และความกลัว ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สุดลึกและยากเย็นแสนเข็ญในการประกอบสร้าง  ทั้งสองเรื่องหลังนี้อาจกล่าวได้ว่า ผู้เขียนประสงค์จะถ่ายทอดปัญหาของผู้หญิงแทนใจผู้หญิง(ทั้งโลก)


         แต่กระนั้น ระหว่างรอให้เรื่องสุดลึกของเธอถูกขุดคุ้ยออกมา เธอมักฝึกปรือ ด้วยการเขียนสารคดีสั้น ๆ เช่น “นิวยอร์ค นิวยอร์ค” (พ.ศ.๒๕๓๔) รวมทั้ง“อเมริกัน อเมริกรรม” เล่าเรื่องวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และชวนพิศวงของคนอเมริกัน  คนที่อยู่รอบตัวเธอเกือบห้าสิบปี และบัดนี้เธอก็สร้างสรรค์งานเป็นภาษาอังกฤษออกมาอีกเล่มหนึ่ง

         ด้วยความคิด ด้วยฝีมือ ด้วยหัวใจ และด้วยการผสมผสานระหว่างความเป็นสังคมไทยกับสังคมอเมริกัน  นักเขียนผู้นี้จึงสร้างสรรค์งานออกมาได้ชนิดที่คนไทย และคนอเมริกันต้องแปลกใจ  เธอช่างเป็นส่วนผสมของนักคิดและนักรู้สึกที่แปลกแตกต่าง  และเป็นส่วนผสมของขนบวัฒนธรรมที่ยากที่จะกวนให้เป็นเนื้อเดียวกันได้  แต่เธอก็ช่างงดงาม และมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร  และไม่เคยหยุดทำงาน    

         เธอผู้นี้มีชื่อว่า “อัญชัน” หรือ อัญชลี  วิวัธนชัย นักเขียนหญิงที่โครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “ชมนาด” พร้อมที่จะยกย่องให้เธอเป็น นักเขียนหญิงรางวัลชมนาดเกียรติยศ  ประจำปี ๒๕๖๕  และเป็นคนแรกของโครงการ

         ขอแสดงความยินดี


                                                               ชมัยภร แสงกระจ่าง
                                    ศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์  ประจำปี ๒๕๕๗


 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ