คุยนอกรอบ นทธี ศศิวิมล ผู้ชนะเลิศรางวัลชมนาด 11 

นักจิตวิทยาสาว เจ้าของผลงาน วิหารความจริงวิปลาส

07 ตุลาคม 2565

คุยนอกรอบ นทธี ศศิวิมล ผู้ชนะเลิศรางวัลชมนาด 11 

      ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อย สำหรับรางวัลชมนาด ครั้งที่ 11 รางวัลเพื่อนักเขียนสตรี เวทีเดียวในประเทศไทย ที่มุ่งส่งเสริมผลงานไปสู่ระดับสากล หนังสือที่ได้รับรางวัลในปีนี้คือเรื่อง “วิหารความจริงวิปลาส” โดย คุณศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล เจ้าของนามปากกา นทธี ศศิวิมล 

       “วิหารความจริงวิปลาส” เป็นเรื่องราวของคนแปลกหน้า 8 คน ถือบัตรเชิญร่วมงานศพมาพบกันในโบสถ์กลางพายุฝนฟ้าทะมึน ท่ามกลาง ดงสายฟ้แปลบปลาบ สะท้อนแสงสีภาพนักบุญทาบทับฉากหลังอันมืดมิด จะมีสถานที่แห่งใดเหมาะไป กว่าวิหารศักดิ์สิทธิ์ ตรงเบื้องหน้ารูปพระบุตรอันเงียบงัน ที่คนทั้ง 8 เล่าเรื่องหลอนลวงหลอกแข่งกัน แต่ใครจะรู้ เรื่องหลอนทั้งหมดคือเรื่องจริง

 


 

อยากให้เล่าถึงประวัติส่วนตัวคร่าว ๆ เส้นทางชีวิตก่อนเริ่มต้นงานเขียนค่ะ

      นัทเป็นลูกสาวร้านชำที่ จ.ตากค่ะมีน้องสาวหนึ่งคน เรียนจบ ม.ปลาย สายวิทย์ ช่วงปี 40-41 ที่บ้านมีปัญหาเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่ ทำให้ติดขัดหลายอย่าง เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯเพื่อเรียนและทำงานไปด้วยตอนอายุ 17 ย่าง 18 ทำงานพาร์ทไทม์ทุกอย่างที่เป็นอาชีพสุจริต จบคณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาไทย และคณะศึกษาศาสตร์ เอกจิตวิทยาคลินิกและชุมชน พอเรียนจบก็ได้ทำงานประจำคือเป็นครูโรงเรียนเอกชน ก่อนทำงานกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ และเป็นนักจิตวิทยาของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ช่วงนั้นเริ่มตั้งท้องลูกคนแรกและมีปัญหาสุขภาพครรภ์กับสุขภาพจิต จึงออกจากงานมาเริ่มเขียนหนังสือเต็มตัว  ช่วงเวลาตั้งแต่สมัยเรียนก็อ่านและเขียนมาตลอด แต่ไม่เคยส่งงานไปที่ไหนเลย มาเริ่มส่งครั้งแรกตอนปี 2550 คือส่งประกวดโครงการนายอินทร์อะวอร์ด แล้วได้เข้ารอบตีพิมพ์ ก็เลยเริ่มหันมาสนใจเขียนหนังสือเพื่อเผยแพร่ตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ


อยากให้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้

     นัทมีไอเดียของนิยายเรื่องนี้อยู่นานมากแล้วค่ะ คืออยากรวมแนวนิยายที่เราชอบมาไว้ด้วยกันคือเรื่องลึกลับ หลอน เศร้า ตราตรึงใจ เหตุการณ์เหนือธรรมชาติ จิตวิทยา สถานที่และบรรยากาศที่เกี่ยวกับศาสนา ความซับซ้อนของความรู้สึกและจิตใจมนุษย์

      เขียนไว้เป็นพล็อตคร่าวๆเก็บไว้หลายปีแล้ว ตั้งใจว่าจะให้ทั้งเรื่องดำเนินอยู่ในฉากแค่ฉากเดียวโดยตัวละครทั้งหมดปรากฏตัวและดำเนินเรื่องในฉากนี้  ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นในฉาก มีความหมายต่อทุกตัวละคร โดยให้ฉากและบรรยากาศออกมาดูลึกลับ น่าสงสัย เต็มไปด้วยคำถามและมีกลิ่นอายที่หลอนๆ หรือเหนือธรรมชาติผสมอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งเรื่องที่มีโทนอารมณ์และบรรยากาศแบบนี้เป็นแนวที่นัทชอบและถนัดอยู่แล้ว

      เรื่องนี้ตรงส่วนบรรยายจะพยายามรักษาระยะห่างให้คนอ่านได้มองในมุมเดียวกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ คือให้คนอ่านมองเห็นเพียงสีหน้าท่าทาง ได้ยินน้ำเสียงและภาษากาย โดยไม่ชี้นำหรือบอกทั้งหมดว่าตัวละครกำลังรู้สึกอย่างไร ยกเว้นในส่วนของบทสนทนาที่ตัวละครเป็นคนเล่าเองเท่านั้น ที่จะมีการพรรณนาความรู้สึกของตัวเองตามเรื่องที่เขาเล่า

 

ทำไมถึงเลือกนำโรคต่าง ๆ ทางจิตเวชเข้ามาเกี่ยวข้อง

      น่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่นัทสนใจศึกษาด้านจิตวิทยาค่ะ คืออยากเรียนรู้ เข้าใจ ที่มาของอารมณ์ พฤติกรรม การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆของมนุษย์ อยากเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสภาวะภายในจิตใจของแต่ละคนที่ต่างก็มีบาดแผล และทั้ง ๆที่รักและหวังดีต่อกันต่างคนต่างก็อาจจะผลัดกันเป็นทั้งผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำมาตลอดโดยไม่รู้ตัว

       ระหว่างที่นัทเขียนทรีตเมนต์ ค้นข้อมูลเพิ่ม และเขียนนิยายเรื่องนี้ เราเองก็ได้ทำความเข้าใจกับตัวละครและตัวตนของผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งทางจิตใจและทางกายภาพไปด้วย ทำให้รู้สึกเห็นใจและยอมรับคนที่มีบุคลิกหรือพฤติกรรมแบบที่เราไม่ชอบได้มากขึ้น  

      นัทอยากแสดงให้เห็นว่า เรื่องของโรคหรืออาการทางจิตเวชไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเหตุการณ์ร้ายแรงเพียงเหตุการณ์เดียวอาจสร้างบาดแผลและผลกระทบให้กับคนรอบข้างได้มากมายและลึกล้ำแค่ไหน ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวนัทเองก็มีโรคทางจิตเวชและรักษาตัวอยู่จนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว การที่ตัวนัทเองยอมรับและเข้าใจตัวเองได้ก็จะถือเป็นการปลดพันธการการทางใจของตัวเองได้ด้วย

      ในเรื่องนี้การวางเรียงเก้าอี้หันเข้าหากันเป็นวงกลมและเปิดใจพูดเรื่องของตัวเองทีละคน เป็นรูปแบบเดียวกับการจัดกลุ่มบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวช แต่ได้ปรับให้เป็นการเล่นเกมเล่าเรื่องหลอนแล้วทายว่าเป็นเรื่องจริงหรือโกหกแทน ซึ่งเป็นวิธีที่ดูสมเหตุสมผลกว่ากับบริบทของนิยายค่ะ


เรื่องราวไม่ได้เกี่ยวกับแค่อาการต่าง ๆ ทางจิตเวชอย่างเดียว แต่มันมีการสอดแทรกหลักการทางศาสนาเข้าไปด้วย อยากให้เล่าว่ามีความเป็นมาหรือความเกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง

      ศาสนาในฐานะที่พึ่งทางใจ ในนิยามของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปอีกนะคะ ในนิยายเรื่องนี้จะพูดถึงประเด็นของคนที่เลือกจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนา ก็ไม่ใช่ความผิดอะไร เพราะแต่ละคนก็มีเหตุผลเฉพาะตัว เช่นเดียวกับการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาก็ไม่ใช่เครื่องแสดงว่าคนคนนั้นเลือกศาสนานั้นๆ หรือเป็นคนที่ศรัทธายึดมั่นในศาสนา

      ในยุคนี้นัทว่าคนรุ่นใหม่เปิดกว้างให้ตัวเองได้มีโอกาสศึกษาหลักคิด คำสอน หรือวิถีปฏิบัติของศาสนาต่างๆได้หลากหลายมากขึ้น และแม้เรื่องนี้จะพูดถึงความเป็นไปของครอบครัวคาทอลิก แต่กระนั้นเหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวละคร หรือแม้แต่ในส่วนบรรยายก็ยังมีร่องรอยของความเชื่อและหลักคิดแบบพุทธผสมอยู่ด้วย

      ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาโดยเฉพาะในสังคมไทยค่ะ ที่แม้จะมีการประกาศว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยังนับถือเทพเจ้าหลายองค์ไปพร้อมๆกับการเข้าวัดทำบุญ หรือยึดมั่นเชื่อถือในความเชื่อหรือตำนานหลายๆอย่างที่พระพุทธเจ้าไม่เคยสอน บนบานศาลกล่าว ขอพร ทำพิธีสารพัดเพื่อที่จะเยียวยาจิตใจ นัทก็ไม่ได้มองว่าผิดแปลกอะไร เพราะมันก็เป็นปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดได้ตามปกติในสังคมมนุษย์

        จิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์ก็เป็นศาสนาของบางคนบางกลุ่ม ในแง่ที่มันเป็นรูปธรรม สามารถพิสูจน์ได้ จับต้องได้ และตรวจสอบวัดผล ประเมินผลได้ คนรุ่นใหม่จึงให้ความเชื่อถือ และพร้อมจะนำมาใช้แก้ปัญหาชีวิตมากกว่า และมันอาจจะเชื่อมโยงกับหน้าที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามทุกข์ของศาสนาได้ตรงนี้ค่ะ

 

การที่เลือกฉาก หรือโลเคชั่นให้เป็นโบสถ์ เพราะอยากบอกอะไร ตั้งใจให้เป็นอย่างไร

       ที่ฉากของเรื่องเจาะจงว่าต้องเป็นโบสถ์(หรือวัดหากเรียกแบบคาทอลิกไทย) มีเหตุผลผูกมัดอยู่ในเนื้อเรื่อง แต่เนื่องจากเป็นจุดสำคัญของเรื่องที่อยากให้ผู้อ่านได้อ่านและค้นพบคำตอบนี้ด้วยตัวเองเพื่อคงความสนุกในการได้อ่าน ได้เดา ได้ลุ้น นัทอาจจะขออนุญาตไม่ตอบในนี้นะคะ
       แต่เหตุผลที่บอกเล่าได้คือ โบสถ์เป็นสถานที่ปลอดภัยเดียวที่ตัวละครสามารถเข้าไปหลบพายุได้ และสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ ขับเคลื่อนเนื้อหาเพื่อแก้ปมปัญหาของเรื่องในสถานที่ปิดตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกค่ะ


ระยะเวลา อุปสรรค และวิธีแก้ปัญหาในการสร้างสรรค์ผลงานเล่มนี้

      แรกทีเดียวนัทเขียนนิยายรักเรื่องหนึ่งไว้และตั้งใจจะส่งประกวดรางวัลชมนาดปีนี้ค่ะ แต่เมื่อใกล้วันส่ง มาพิจารณาดูดีๆอีกที เรื่องนั้นยังมีข้อบกพร่องและไม่สมบูรณ์เท่าที่เราตั้งใจ  ตอนนั้นเหลือเวลาอีก 10 วันจะหมดเขตส่งแล้ว นัทพิจารณาจนแน่ใจแล้วว่า งานแก้น่าจะใช้เวลานานมากเพราะรายละเอียดหลายอย่างเลยตัดสินใจ เก็บนิยายรักเล่มนั้นไว้ แล้วมาเลือกไอเดียและพล็อตของนิยาย “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” แทน

       พอตัดสินใจไปแล้วก็ยังมาพูดกับตัวเองอยู่ว่า จะบ้าเหรอเขียนนิยายคุณภาพดีสำหรับประกวดหนึ่งเรื่องในเวลา 9 วันมันเป็นไปไม่ได้เลย แต่พอคิดแบบนี้ก็ เอ้า ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรจะเสียนี่นา วันรุ่งขึ้นก็เลยใช้เวลา 1 วันเต็มสำหรับการเขียนทรีตเมนต์และพัฒนารายละเอียดแต่ละตอน และใช้อีก เจ็ดวัน สำหรับการเขียน การค้นข้อมูล ทวนเรื่องโดยมีน้าติณ สามีของนัทที่เป็นคาทอลิกมาตั้งแต่เกิด คอยเป็นที่ปรึกษาเรื่องข้อมูลที่เกี่ยวกับพระ วัด และพิธีต่างๆรวมถึงความเชื่อ ศรัทธา และครอบครัวคาทอลิก ในที่สุดก็เขียนจบ และรีบอ่านทวนเพื่อปรับให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้

      วันสุดท้ายของกำหนดส่งงาน น้าติณก็ช่วยดูคำผิดให้คร่าวๆและปรินท์ออกมาเพื่อบรรจุซองส่งประกวดทันก่อนเที่ยงพอดีค่ะ เป็นประสบการณ์ทำงานที่ตื่นเต้นมาก ไฟลนก้นมาก แต่สนุกและรู้สึกมีพลัง เหนืออื่นใดทำให้นัทเองที่ตอนนี้รู้สึกไม่ค่อยรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องงาน ทำให้สุขภาพจิตไม่ค่อยดี กลับมามีพลัง มีกำลังใจ และภูมิใจในตัวเองได้อีกครั้งค่ะ มีพลัง มีไฟ มีความรู้สึกอยากเขียนนิยายตามพล็อตที่เคยสะสมไว้อีกหลายๆเรื่องให้สำเร็จ ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ค่ะ

               
ปกติอ่านหรือเขียนงานแนวไหนบ้างคะ

      อ่านทุกแนวค่ะ เป็นคนที่คลั่งการอ่านมากๆมาตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือได้ เริ่มจากนิทานภาพ ค่อยๆพัฒนาตามวัยมาเรื่อย ๆ อ่านนิยายในสกุลไทย สตรีสารตามคุณแม่ แนววิชาการ ปรัชญา ศาสนา วรรณคดีโบราณก็ชอบค่ะ ทุกวันนี้ที่อ่านมากที่สุดสองแนวคือวรรณกรรมเยาวชน กับแนวลึกลับ สืบสวนสอบสวน เหนือธรรมชาติ แนวรักจะอ่านน้อยที่สุด

ส่วนเขียน นัทเขียนแนวลึกลับสยองขวัญเป็นหลักมาหลายปี และมีเขียนแนวสังคม เขียนนิทานเด็ก แนวดราม่า แนววิทยาศาสตร์ และบทความอีกหลายหัวข้อตามวาระโอกาสค่ะ

 

แนวอื่น ๆ ที่เคยเขียนก่อนหน้านี้ มีอะไรบ้างคะ

      นัทเริ่มต้นการเขียนจากการส่งเรื่องสั้นประกวดโครงการนายอินทร์อะวอร์ด และได้เข้ารอบตีพิมพ์  ปีต่อมาเขียนเรื่องสั้นที่ฉายภาพปัญหาการค้ามนุษย์ที่ตะเข็บชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก เรื่อง “ดอยรวก” และได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งรางวัลนี้เป็นกำลังใจและเติมความรู้สึกมั่นใจในการเขียนให้เรามากๆ

       หลังจากนั้นก็ได้เริ่มเขียนคอลัมน์แนวสยองขวัญผสมจิตวิทยาที่นิตยสารเล่มโปรด ชื่อคอลัมน์ประจำ จิต-หลอน พร้อมๆกับเริ่มเขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย ในแนวสังคม จิตวิทยา แนวดราม่า มาควบคู่กันและได้เผยแพร่ในช่องทางต่างๆทั้งเวทีประกวด หน้านิตยสาร หรือคอลัมน์ต่างๆ มาเรื่อย ๆ หลายสิบเรื่องค่ะ

        ปลายปี 2557 คุณณรงค์ (ใบหนาด) เสียชีวิตลง นัทจึงได้รับโอกาสจากทางข่าวสดให้เขียนเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ ในคอลัมน์ หลอน ของหนังสือพิมพ์ ข่าวสด รายวันต่อจากท่านเรื่อยมา เป็นระยะเวลาราวห้าปี ทำให้มีเรื่องสั้นสยองขวัญรวมทั้งหมดจากคอลัมน์นี้หลายร้อยเรื่อง

        หนังสือที่นัทเคยรวมเล่มในชื่อ นทธี ศศิวิมล มีดังนี้ค่ะ  

  • สงครามพันธุ์อัจฉริยะ (นิยายไซไฟ) พ.ศ.2553
  • เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม (รวมเรื่องสั้น) พ.ศ.2555 - อรุณสวัสดิ์สนธยา (รวมเรื่องสั้น) พ.ศ.2555
  • มหรสพยังไม่ลาโรง (รวมเรื่องสั้น) พ.ศ.2557- สมานจิตบันเทิง (นวนิยาย) พ.ศ.2557
  • เรื่องหลอนในโรงเรียนเล่ม 1-2 (รวมเรื่องสั้น) ปี พ.ศ.2555 และ 2557
  • ไอย์ประจำวัน (รวมเรื่องเล่าน่ารักๆ) สนพ.เทียน - เรื่องผีๆรอบโลกฉบับผีไทย 2558 -เรื่องผีๆ รอบโลกฉบับผีสี่ภาค 2558
  • เรื่องผีๆ รอบโลกฉบับผีหลังห้อง 2559
  • เรื่องผีๆ รอบโลกฉบับผีโรงแรม 2559
  • คืนหลอกหลอน (รวมเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ) พ.ศ.2558
  • รวมเรื่องสั้นอันเป็นที่รักปี พ.ศ.2560
  • นิทานแรงบันดาลใจจากโรงเรียนหมู่บ้านเด็กป็อกเปลี่ยนสีสนพ.มูลนิธิเด็กพ.ศ.2562
  • โรงเรียนผีหลอก (รวมเรื่องสั้นสยองขวัญ) พ.ศ.2562
  • นวนิยายเกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง พ.ศ.2562
  • รวมนิทานเพื่อการอนุรักษ์สัตว์แปดเรื่องนิทานสัตว์ป่าสนพ.มูลนิธิเด็ก พ.ศ.2562
  • โรงเรียนผีดุ (รวมเรื่องสั้นสยองขวัญ) พ.ศ.2563 - ความใฝ่ฝันของผีไร้หน้า (ในส่วนที่แดดส่องไม่ถึง)พ.ศ.2563

 

คาดหวังมากแค่ไหนคะกับการประกวดครั้งนี้

      นัทคาดหวังสูงสุดคืออยากให้เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับสากลค่ะ เพราะเนื้อหาของเรื่องน่าจะสามารถเชื่อมโยงให้คนอ่านทุกวัฒนธรรมมีความรู้สึกลึกซึ้งทางอารมณ์ร่วมกันได้ ได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องของหลักวิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติต่อศาสนา ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว สภาวะทางจิตในรูปแบบต่างๆทั้งที่เป็นอาการทางจิตเวชและปัญหาบุคลิกภาพ คนอ่านน่าจะได้สนุกกับการตีความสัญลักษณ์ต่างๆ ได้สังเกตเบาะแสที่ทยอยปรากฏในเรื่อง ได้คาดเดาตัวเนื้อเรื่องหลักผ่านเรื่องเล่าของตัวละครแต่ละตัว เหมือนจิ๊กซอว์ที่จะค่อยๆปะติดปะต่อกันทีละนิดจนเห็นภาพใหญ่

      ในขณะเดียวกันนิยายเรื่องนี้ยังบอกเล่าถึงชีวิตของครอบครัวคาทอลิกไทยอย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรม ซึ่งยังไม่ค่อยเห็นในนิยายเรื่องอื่นๆมากนัก นอกจากนี้ยังบอกเล่าถึงแนวความคิดเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ สิ่งเหนือธรรมชาติ หรือโลกหลังความตายในบริบทแบบไทยที่ค่อนข้างยืดหยุ่นผสมผสานและแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในแบบที่ชาวต่างชาติที่สนใจศึกษาเรื่องราวของผู้คนและวัฒนธรรมทางศาสนาคริสต์ของไทยน่าจะสนใจด้วย

 


มีอะไรที่คาดหวังว่าจะได้กลับไปจากการประกวด หรือข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการชมนาดในครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไปบ้างคะ

      ตอนนี้นัทได้รับรางวัลชีวิตตัวเองจากการเข้าร่วมประกวดนิยายรางวัลชมนาดเรียบร้อยแล้วอย่างหนึ่งคือนิยายเรื่อง “วิหารความจริงวิปลาส” ค่ะ เป็นนิยายที่นัทชอบมาก ภูมิใจมาก เขียนอย่างสนุก และตื่นเต้น รางวัลอื่นใดหลังจากนี้คงเป็นของขวัญกับชีวิตชิ้นใหม่ ๆ เพิ่มไปอีกและคงทำให้มีความสุขมากขึ้นอีกทวีคูณ การเขียนนิยายและร่วมส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาดครั้งนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ดีและมีค่ามาก ๆ แล้วค่ะ

 

 

Share: | View : 603